เมษายน 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#18 ปี : จิตวิญญาณทนายสมชายยังถูกสานต่อที่ชายแดนภาคใต้และข้อเสนอแนะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

แชร์เลย

นายอับดุลสุโก ดินอะ
ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

( 12 มีนาคม 2565 ) ครบรอบ 18 ปีการหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 – เห็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547) ท่านถือว่าเป็น

#ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน /เพื่อประชาชาติอย่างแท้จริง
#ทนายสมชายผู้ผดุงทั้งหลักการอิสลามและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
#สำหรับเจตนารมณ์ของกฏหมายอิสลามนั้นปราชญ์โลกมุสลิมจะรู้จักในคำว่า مقاصد الشريعة (Maqasid al-Shariah)ก็เพื่อผดุงไว้ห้าประการหลักคือ 1.

ศาสนา 2. ชีวิต 3. สติปัญญา 4. ทรัพย์สิน 5. เชื้อสาย (ตระกูล)
ในขณะที่เจตนารมณ์ของกฎหมายทั่วไปก็ไม่ต่างกันในภาพรวม “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ผ่านกระบวนการยุติธรรม “เพื่อผดุงความยุติธรรมโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และชาติพันธุ์ “
ในขณะที่ปัญหาชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ การอุ้มหายต่อทนายสมชาย จนถึงคนทำงานกระบวนการยุติธรรม อย่าง นายคณากร เพียรชนะ” ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเองภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาคดี สะท้อนว่า สันติภาพสันติสุขชายแดนภาคใต้ยังเกิดยาก “เพราะต้องยอมรับว่า ความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมยังไม่สามารถสัมผัสได้เชิงประจักษ์ “ จนมีคำฮิตติดปากว่า No justice,No peace “ เมื่อไม่มีความยุติธรรมสันติภาพก็ไม่เกิด”
ดังนั้น #จิตวิญญาณทนายสมชายก็ยังถูกสานต่อที่ชายแดนภาคใต้ในเชิงประจักษ์เช่นการทำงานของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่นำโดยทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมนำโดยนางสาวพรเพ็ญ คงคจรเกียรติ กลุ่มด้วยใจ นำโดยนางสาวอัญชนา หรือมุมตัซ หีมมีนะ ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายธีพงศ์ ดนสวี(ทนายซิ จะนะ , ประธานสภาทนายความจังหวัดนาทวี)และอื่นๆ
นายธีพงศ์ ดนสวี, ประธานสภาทนายความจังหวัดนาทวีให้ทัศนะว่า
“ความจริงใจ ความเป็นธรรม แก้ปัญหาชายแดนใต้ได้”
ทุกๆปีทั้งชายแดนภาคใต้และส่วนกลางก็จะมีการเสวนาวิชาการรำลึกถึงท่าน

บทเรียนการต่อสู้ของทนายสมชายต่อความอยุติธรรมที่ชายแดนใต้ยังคงดำเนินอยู่เพียงแต่ว่าต่างกันที่ผู้เล่นตัวละครเวลาและสถานที่
ความอยุติธรรมนี้จะเป็นน้ำมันเครื่องล่อเลี้ยงอย่างดีในการสุ้มไฟใต้ให้เกิดกองใหม่ตลอด เมื่อดับไฟกองหนึ่ง ก็จะเกิดไฟอีกกอง ความอยุติธรรมดังกล่าวนั้นเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานสากล
#
11 มีนาคม 2565 ผู้เขียนได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(ภายใต้กอ.รมนภาค4 ) คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร สภาทนายความแห่งประเทศไทย ILaw ศูนย์ดำรงธรรม ผู้มีอำนาจและสื่อมวลชนกรณีควบคุมตัวชาวบ้านจะนะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย?(อ่านเพิ่มเติมใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000022863)
เป็นที่หน้ายินดีว่าปีนี้ สภาฯ ลงมติ 359 เสียง ผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ’ ส่งต่อวุฒิสภาพิจารณาบังคับใช้เป็นกฎหมาย (https://plus.thairath.co.th/topic/speak/101149)

หากจะดูข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้ที่ครบวงจรที่สุดคือข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีดังนี้

1. เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม

2. หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

3. ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม

4. ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.) ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด

5. ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต. ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นแต่หากเป็นไปได้ ต้องนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ
#ท้ายสุด คือ “ยกเลิกกฎหมายพิเศษเพื่อทำให้คนเสมอกัน เพราะสิ่งที่พูดปี 53 ก็ยังสะท้อนในปัจจุบันและอนาคต (โปรดอ่าน 3 เรื่องนี้แล้วลองพิจารณาดู)
1.
http://www.thealami.com/main/content.php?page=&category=5&id=389
2.
สำรวจกระแสหลังแม่ทัพภาค 4 ทหารผู้กล้า ออกปากขอโทษประชาชนชายแดนใต้///อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
http://spmcnews.com/?p=18257
3. https://prachatai.com/journal/2019/07/83489
4.ผลวิจัย “กฎหมายความมั่นคงและการบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา”

https://www.facebook.com/1245604111/posts/10224268685405214/?d=n

หมายเหตุข่าวลิ้งค์ส่วนหนึ่งการทำงานของพวกเขาภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
https://m.facebook.com/macmuslimfoundation/
https://www.facebook.com/Duayjai-Group-%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%88-1189367461144178/
https://crcfthailand.org
http://spmcnews.com/?p=32963
https://www.lawyerscouncil.or.th/2019/2020/07/25/1-310/

 26,265 total views,  2 views today

You may have missed