ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพในสามภารกิจ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน..
ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ ฮัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งศรัทธา การยำเกรง การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงเห็นว่า ทุกๆ ปี ชาวไทยมุสลิมจำนวนมากจะไปร่วมประกอบพิธี “ฮัจญ์” ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ตามศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจสูงสุดเช่นเดียวกับอิสลามิกชนจากทั่วโลก โดยในปีนี้ผู้ที่เดินทางไปทำฮัจญ์หรือ “ฮุจญาจ” ในส่วนของประเทศไทยประมาณ จำนวน เกือบ 8,000 คนจากโควต้าที่ได้รับถึง 13,000 คน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะการประกอบพิธีทำฮัจญ์ เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมที่มีความสามารถต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งชั่วชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า “และเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือมวลมนุษย์ คือ การทำฮัจญฺ ณ อัลบัยต์ (บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถหาทางไปสู่มัน (บ้านหลังนั้น) ได้…” (ซูเราะฮฺอาลอิมรอน อายะฮฺที่ 97)
นายชาดา ไทยเศรษฐ รมช.มหาดไทยกล่าวว่า ปัจจุบันมีพี่น้องมุสลิมทั่วโลกกว่า 3,000,000 คน เดินทางสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยในนั้นเป็นคนไทยกว่า 7,000 คน การไปประกอบพิธีทางศาสนาเป็นการส่งเสริมให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของหลากหลายประเทศ และรู้จักพี่น้องมุสลิมที่ไปประกอบพิธี ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตลอดมา เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้รับความสะดวกสบาย…การไปประกอบพิธีฮัจญ์ เหมือนกับเราเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติตนหรือว่าการไปอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก ต้องคํานึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทย เพื่อจะได้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม มีความดีงาม โดดเด่น ซึ่งท่านก็เปรียบเสมือนกับเป็นทูตสันติภาพของไทย ที่จะออกไปทําให้พี่น้องมุสลิมทั่วโลกได้รู้ถึงความงดงามของความเป็นไทย และได้รู้ว่าพี่น้องมุสลิมไทยนั้นมีวัฒนธรรม มีประเพณีที่ดีงาม และมีเอกลักษณ์ที่สําคัญ ขอให้พี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปทําพิธีฮัจญ์ทุกท่านจงภูมิใจว่าท่านก็คือตัวแทนของประเทศไทย”
ดร.อิสมาอีลลุฏฟีย์ จะปะกียา อดีตอามีรุลฮัจญ์ปี 2553 กล่าวว่า “ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำฮัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮ์คือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้นผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาฮัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วฮัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาเลย“
ตัวอย่างฑูตสันติภาพ ในสามภารกิจดังนี้
1.
จุฬาราชมนตรี เข้าพบเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือ
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายอรุณ บุณชม จุฬาราชมนตรี และคณะ ได้รับเชิญเข้าเยี่ยมพบปะ กับ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา (Dr. Muhammad bin Abdul Karim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ณ สำนักงานใหญ่องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกประจำนครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กรศาสนาประเทศไทยกับองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก
ทั้งนี้ ทางองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกยินดีที่จะส่งเสริมด้านกิจการศาสนาในสังคมพหุวัฒธรรม บทบาทหลักด้านการเผยแพร่ศาสนา การศึกษาและปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม และสาธารณกุศล
2. ร่วมงานมหกรรมแสดงวัฒนธรรมจีน ตามคำเชิญจากประเทศจีน หวังเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
7 มิย.67 นางสาวณิชาวีร์ สะมะอูน ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอิสมาอีล สิงหาด ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการฮัจญ์ นายอิมรอน หะมะซอ หัวหน้าสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย และนายวสันต์ จิสวัสดิ์ ได้เดินทางร่วมงานมหกรรมแสดงวัฒนธรรมจีนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน ณ สำนักงานกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรจีน โรงแรมอันวาร อัล-อะซีล เขตอาซีซียะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ภายหลังจากที่สำนักงานกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรจีนได้เชิญสำนักงานกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยประจำเมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังได้มีสำนักงานกิจการฮัจญ์มาเลเซียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ภายในงานมีการจัดแสดงอาหารพื้นเมืองจีน หนังสือประพันธ์ด้านวิชาการหลากหลายแขนงวิชาการศาสนา สำเนาอัลกุรอ่านที่เขียนด้วยมือ อายุประมาณ 1,000 ปี ผลงานฝีมือด้านการปักถักร้อยเป็นรองเท้าและของที่ระลึก และการสาธิตนวดแผนจีน
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของการจัดงานดังกล่าว นอกจากการประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว ยังต้องการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสำนักงานกิจการฮัจญ์ เพื่อสร้างความรู้วัฒนกรรมซึ่งกันและกัน และสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันในอนาคต
สำหรับประเทศไทยนั้น ทางสำนักงานกิจการฮัจย์แห่งราชอาณาจักรจีน ประสงค์จะนัดวันเพื่อพบปะพูดคุยกับสำนักงานกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนการบริหารกิจการฮัจญ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งประเทศจีนได้รับโควตาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ จำนวน 10,000 คน มีจำนวนอาคารที่พักเพียง 4 อาคาร โดยบริบทการบริหารกิจการฮัจญ์ของประเทศจีนมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย จึงเป็นอีกประเทศที่ควรศึกษาและแลกเปลี่ยน เนื่องจากประเทศจีนได้บริหารกิจการฮัจญ์ได้อย่างเป็นระบบที่สุด
3. คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจญ์ เตรียมจัดโครงการซิกอยะห์และอัรริฟาดะห์ หรือ การแจกน้ำดื่มและอาหารในเทศกาลฮัจญ์ให้ผู้แสวงบุญทั่วโลก
นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ คณะทำงาน อะมีรุลย์ฮัจญ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจญ์ ร่วมกับ คณะกิจการฮัจญ์ไทย สมาคมผู้ประกอบการฮัจญ์ไทย ได้มีการประชุมเพื่อระดมขอรับบริจาคจากพี่น้องชาวไทยมุสลิมในประเทศ และมารับบริจาคเพิ่มเติมจากบรรดาผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมที่เดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อจัดทำโครงการซิกอยะห์และอัรริฟาดะห์ หรือ กิจกรรมแจกน้ำดื่มและอาหาร ในเทศกาลฮัจญ์ให้ผู้แสวงบุญจากทั่วโลกเป็นประจำทุกปี
ซึ่งปีนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้แสวงบุญชาวไทย ผู้ประกอบการฮัจญ์ทุกบริษัท นักวิชาการบรรยายทั้งจาก คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ และจาก สนง.กิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย จนได้รับเงินบริจาคมาทั้งสิ้น 400,000 บาท เตรียมที่จัดซื้อน้ำและอาหารว่างเตรียมแจกจ่ายให้ผู้แสวงบุญคนคนไทยและต่างชาติในลำดับต่อไป
นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ ระบุว่า จุฬาราชมนตรี ในฐานะอะมีรุ้ลฮัจญ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้แสวงบุญทุกคนได้รับฮัจญ์ที่สมบูรณ์ตามแบฉบับของท่านนบีมูฮำหมัดนั่นเอง
106,237 total views, 275 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ชายแดนใต้:รูปแบบการปกครองพิเศษ การรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจนที่เดียวในไทย “ปัญหาและทางออก” บทเรียน 3 วัน 12 เวทีที่นราธิวาสกมธ.สันติภาพ