พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

จุดร่วมสภาทนายความกับองค์กรศาสนาอิสลามสงขลา “กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

(5 มิถุนายน 2563) ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร นำเสนอ ประเด็น “กฎหมายกับวิถีชีวิตมุสลิมชายแดนภาคใต้” โครงการการเผยเเพร่ความรู้ทางกฏหมายเเก่ประชาชน เพื่อนำความสันติสุขคืนสู้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ณ ดี อามาน ใฮเต็ล เเอนด์ รีสอร์ท อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายธีพงศ์ ดนสวี(ทนายซิ)
ซึ่งในเวทีมีผู้ร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน ประมาณ 200 คน จากตัวแทนสภาทนายความจังหวัดสงขลา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สตรี เยาวชน นักเรียน ซึ่งผู้เขียนเริ่มอธิบาย ถึงเจตนารมณ์กฎหมายอิสลาม
กล่าวคือ
สำหรับเจตนารมณ์ของกฏหมายอิสลามนั้นปราชญ์โลกมุสลิมจะรู้จักในนาม مقاصد الشريعة (Maqasid al-Shariah)ซึ่งนักวิชาการได้แบ่งมันออกเป็นสองประเภท กล่าวคือ เจตนารมณ์ทั่วไปกับเจาะจง

เจตนารมณ์ทั่วไปนั้นเพื่องผดุงไว้ห้าประการหลัก

ศาสนา 2. ชีวิต 3. สติปัญญา 4. ทรัพย์สิน 5. เชื้อสาย (ตระกูล)
ในขณะที่เจตนารมณ์เฉพาะเจาะจงก็แล้วแต่เหตุการณ์ เช่น การแต่งงานตามศาสนบัญญัติก็เพื่อ ให้มนุษย์ได้ดำรงอยู่บนโลกนี้ตลอดไป

ประโยชน์ของเจตนารมณ์ของกฏหมายอิสลามมีดังนี้

เข้าใจศาสนบัญญัติ
มีความลึกซึ้งในการเข้าใจคัมภีร์กุรอานและวัจนศาสดา
เข้าถึงข้อตัดสินทางศาสนบัญญัติ
ให้ความสะดวกต่อประชาชนในการดำเนินชีวิตตามศาสนบัญญัติ
จากเจตนารมณ์กฎหมายอิสลามดังกล่าวทำให้กฎหมายอิสลามสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1.ศาสนพิธี (ความสัมพันธ์มนุษย์กับพระเจ้า)
2.เพ่งและพาณิชย์
3.อาญา
4.ครอบครัวและมรดก
ดังนั้นตามทัศนะอิสลามจึงถือว่าศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านและทุกมิติของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ในขณะที่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกของประเทศไทยมีกฎหมายรองรับเพียงสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น (ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล) ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายรองรับสำหรับในจังหวัดอื่นๆด้วยเช่นกัน

อันเนื่องมาจากกฎหมายอิสลามเสมือน ระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติ ซึ่งกำหนดมาเพื่อใช้บังคับความประพฤติของมุสลิมในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายและมีผลต่อโลกหน้า

ในขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปพิจาณาการใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลพบว่าไม่ได้ใช้ “หลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก” อย่างโดดๆ แต่ทว่ายังเกี่ยวข้องกฎหมายหลายอื่นหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความ (แพ่ง) กฎหมายลักษณะพยาน และโดยเฉพาะพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 ซึ่งองค์กรอิสลามที่อยู่ในกระบวนการนำกฎหมายอิสลามมาปฏิบัติ (Implementation) คือ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดและคณะกรรมอิสลามการประจำจังหวัด

ที่กล่าวมาข้างต้น องค์กรอิสลามในจังหวัดอื่นๆ นอกจากปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลก็ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐในการบริหารองค์กรอิสลามและอำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยมุสลิมในด้านต่างๆ รวมทั้งเรื่องครอบครัว และมรดกตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามเท่าที่กระบวนการยุติธรรมจะเปิดช่องทางให้แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาสำหรับมุสลิมนอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้(อย่างสงขลาบ้านเรา)

สำหรับจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เมื่อมีกรณีพิพาทเรื่องครอบครัวและมรดกของชาวไทยมุสลิม อาจยุติการพิพาทด้วยการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นโดยอนุญาโตตุลาการซึ่งมีองค์กรอิสลามที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายของรัฐ (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) เป็นผู้ไกล่เกลี่ย (
พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม 2540 มาตรา 26)
ในกรณีที่ไม่อาจไกล่เกลี่ย หรือไม่อาจยุติข้อพิพาทได้ก็จะถูกนำขึ้นสู่ศาลจังหวัด โดยใช้หลักกฎหมายอิสลามในการพิจารณาและตัดสินคดี แต่ทว่าชาวไทยมุสลิมที่อำนาจของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พุทธศักราช 2489 ไม่สามารถไปถึง (อย่างสงขลา)จึงไม่ได้รับเมตตาธรรมจากกฎหมายของรัฐฉบับนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ

ดังจะเห็นได้ว่า ชาวไทยมุสลิมที่อยู่นอกเขต 4 จังหวัดเช่นสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาดังกล่าว รัฐไม่ได้ยกเว้นให้ใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกจำต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวไทยกลุ่มอื่นๆ แต่ทว่าสำหรับชาวไทยมุสลิมนั้น มีกฎหมายอิสลามที่เป็นธรรมนูญชีวิต (Code of Life) ตามครรลองของศาสนาอิสลาม ดังนั้น กฎหมายแพ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยส่วนใหญ่ (ทั้งในและนอกศาล) จึงไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชาวไทยมุสลิม ในเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชาวไทยมุสลิมที่สี่อำเภอของจังหวัดสงขลามีการใช้กฎหมายครอบครัว และมรดกอิสลามมาโดยตลอดในทางปฏิบัติตามศักยภาพของแต่ท้องที่ หรือแต่ละชุมชน ผ่านผู้นำศาสนา อิหม่าม โต๊ะครู สมาคมอิหม่าม สำนักคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นต้นแต่การใช้โดยดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ
ผู้นำศาสนา องค์กรศาสนาจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้ชุมชนมุสลิมได้ปฏิบัติตามวิถีชีวิตสอดคล้องกับกฎหมายอิสลามไม่เพียงเท่านั้นยังทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยญาติพี่น้องไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอันสามารถลดคดีที่ศาลต้องเสียเวลาขึ้นบัลลังก์ ไม่เพียงเท่านั้นอยากเห็นการทำงานร่วมระหว่างสภาทนายความ กับสำนักกรรมงานคณะกรรมการอิสลามรวมทั้งสมาคม ชมรม อิหม่ามเป็นสิ่งสำคัญ ในกระบวนการไกล่เกลี่ย “กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกทั้งไทยและอิสลาม”
อีกส่วนอยากให้สมาคมอิหม่ามหรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาแต่งตั้งพนักงานหญิงรับเรื่องร้องทุกข์คดีว่าครอบครัวและมรดกด้วยเพราะหลายเรื่องเกี่ยวกับพวกเขาสะดวกใจจะเปิดเผยมากกว่า
หมายเหตุฟังคลิปฉบับเต็ม
https://www.facebook.com/zinstudio3233/videos/598375210843525/?vh=e&extid=p8JS0KNqCH1mQO5X&d=n

 2,232 total views,  4 views today

You may have missed