พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชนเผ่าซาไก มานิ เงาะป่า หรือโอรังอัสลี พื้นที่ชายแดนภาคใต้

แชร์เลย

ชนเผ่ามานิ เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยของเผ่านิกริโต (nigrito) อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 20-30 คน กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขา  ในภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส คนไทยเรียกว่า เงาะป่า  ยังมีการเรียกชื่อชนกลุ่มนี้อีกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามกลุ่มย่อยหรือแต่ละท้องถิ่น ชื่อ เช่น เซมัง คะนัง โอรังอัสลี ซาไก ฯลฯ  มานิมีลักษณะทางมานุษยวิทยากายภาพ  นิสัยใจคอ สติปัญญา และวิถีชีวิต คล้ายคลึงกับชนเผ่านีกรอยด์ (negroid) แถบอัฟริกา  คือมีผมหยิกติดหนังศีรษะ ผิวดำคล้ำ จมูกแบนกว้าง ริมฝีปากหนา ฟันซี่โต ใบหูเล็ก ตะโพกแฟบ นิ้วมือนิ้วเท้าใหญ่ รูปร่างสันทัด สูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร ผู้หญิงมีขนาดร่างกายเล็กว่ากว่าผู้ชาย  แต่แข็งแรง ล่ำสัน ชอบเปลือยท่อนบน หรือ เปลือยอก ชาวมานิมีอุปนิสัยร่าเริง ชอบดนตรีและเสียงเพลง  มักกลัวคนแปลกหน้า  แต่เมื่อคุ้นเคยจะยิ้มง่ายและพูดคุยอย่างเปิดเผย มานิเกลียดการดูถูกเหยียบหยาม  เป็นคนชอบพูดและ ทำตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเมื่อคุ้นเคย มานิแต่ละกลุ่มย่อยมีการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือนและมีการนับเครือญาติที่อยู่ตามถิ่นต่างๆ ด้วย  ปัจจุบันยังมีชาวมานิหลายกลุ่มอยู่อาศัยในเขตป่าเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี ในภาคใต้ของประเทศไทย

มานิ หรือ โอรังอัสลี มีภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและภูมิปัญญาบางส่วนมีการผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาที่ได้จากบทเรียนชีวิตจริงตามธรรมชาติมีองค์ความรู้ปรากฏอยู่ในเครื่องใช้ ยาสมุนไพร ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ช่วยให้สังคมชาวมานิมีภูมิต้านทานอย่างเข้มแข็งและพัฒนามาอย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักแม้ว่าสังคมโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธุ์เงาะป่ามานิเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และ ตระหนักในคุณค่าของมนุษย์ควบคู่กับยอบรับในสิทธิการดำรงอยู่ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม

ศอ.บต. ให้ความช่วยเหลือ กลุ่มชาติพันธุ์มานิ โอรังอัสลี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างบ้านไอร์บือแต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง  ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรังอัสลี) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2561 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอจะแนะ หัวหน้าโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 4907 หัวหน้าพิทักษ์ป่าไอร์กาเวาะ  เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ประชาชนบ้านไอร์บือแต และพี่น้องโอรังอัสลีเข้าร่วม

ด้วยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิหรือโอรังอัสลี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2561 ตามพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ  ในอดีตที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์มานิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นระยะเวลานาน  ศอ.บต. จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับทีมสำรวจ เพื่อทำการเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา จากการดำเนินการ      ตามโครงการดังกล่าว สรุปได้ว่ามี จำนวนประมาณ 319คน แบ่งเป็น  10 กลุ่ม โดย จ.นราธิวาส มี 4 กลุ่ม 139 คน จ.ยะลา มี 6 กลุ่ม 180 คน  ซึ่งจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์มานิ มีการคาดเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ตามสภาพสิ่งแวดล้อมของอาหารในป่าเขา ซึ่งในปัจจุบันนี้ กลุ่มชาติพันธุ์มานิประสบปัญหาในด้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ป่าเริ่มหายากขึ้น จึงต้องออกมาพบปะกับชาวบ้านเพื่อที่จะหาอาหารนำไปให้กับกลุ่มของตนเอง ทำให้ชาวบ้าน และหน่วยงานในพื้นที่ ต้องเข้ามาช่วยเหลือในเบื้องต้น

ทั้งนี้ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานด้านพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานในระดับพื้นที่ฯ มีมติเห็นชอบร่วมกันว่า สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ต้องการมากที่สุดคือ ข้าวสาร ศอ.บต.  จึงได้ดำเนินการจัดหาข้าวสาร จำนวนทั้งสิ้น 80 กระสอบ มามอบให้แก่หน่วยงานในพื้นที่  ประกอบด้วย โครงการจุฬาภรณ์ 9 จำนวน16 กระสอบ  กองร้อยรบพิเศษเฉพาะกิจ บ้านสันติ 1 จำนวน 16 กระสอบ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 จำนวน 16กระสอบ องค์การบริหารส่วน ต.อัยเยอร์เวง จำนวน 16 กระสอบ ซึ่งในวันนี้ ศอ.บต. ได้กำหนดจุดมอบข้าวสารให้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา  จำนวน 16 กระสอบ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิให้ทั่วถึง  ซึ่งได้มุ่งเน้นคุณค่าและคุณภาพชีวิตความเป็นมนุษย์ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มเผ่า มานิ หรือ โอรังอัสลี ต่อไป

โดย…รพี มามะ บรรณาธิการข่าว

 3,952 total views,  2 views today

You may have missed