พฤษภาคม 5, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดประชุมรับฟังข้อเสนอแนะและสร้างความเข้าใจ ครั้งที่ 1 ปี 67 ร่วมคณะขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระดับพื้นที่ วางกรอบ เส้นทางสู่รอมฎอนสันติ-สงกรานต์ ลดความรุนแรง และเดินหน้าพูดคุยสันติสุข ไทย – BRN

แชร์เลย

รายงานโดยคุณ รพี มามะ บรรณาธิการบริหารฯ

 แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดประชุมรับฟังข้อเสนอแนะและสร้างความเข้าใจ ครั้งที่ 1 ปี 67 ร่วมคณะขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขระดับพื้นที่ วางกรอบ เส้นทางสู่รอมฎอนสันติ-สงกรานต์ ลดความรุนแรง และเดินหน้าพูดคุยสันติสุข ไทย – BRN

(2 กุมภาพันธ์ 2567)  เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ เป็นประธานการประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 พร้อมด้วย พลโท ปราโมทย์  พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า / คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเลขานุการร่วม, พลเอก มณี  จันทร์ทิพย์ ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย 8 กลุ่มอาชีพ และภาคประชาชน ส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมพบปะเพื่อขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข โดยการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกภาคส่วน ได้เข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

การประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นการพบปะ หารือ สร้างความคุ้นเคยระหว่างคณะประสานงานระดับพื้นที่ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2567 และฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากพี่น้องประชาชนที่มีต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในการประชุม พลโท ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ และ พลโท ปราโมทย์  พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า / คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเลขานุการร่วม ได้บรรยายถึงการขับเคลื่อนงาน และมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจต่อประเด็นสารัตถะ ทั้ง 3 เรื่อง ประกอบด้วย ประเด็นการลดความรุนแรง, ประเด็นการปรึกษาหารือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง เพื่อให้คณะประสานงานระดับพื้นที่นำไปขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังเป็นการนำข้อคิดเห็นมารวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำไปกำหนดเป็นประเด็นการพูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างต่อไป

พลโท ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของคณะพูดคุยสันติสุขในระดับพื้นที่ ครั้งนี้ได้มีการวางระบบให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐคอยเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำปรึกษากับคณะทำงานขับเคลื่อน เพื่อต้องการสื่อให้ถึงพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับรู้พร้อมกัน ประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารทั่วทุกพื้นที่ ทั้งนี้ในการพูดคุยสันติสุขฯ ได้มีหัวหน้าคณะพูดคุยท่านใหม่ คือ นายฉัตรชัย  บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้า

ทั้งนี้ ช่วงที่มีการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นห้วงเวลาคาบเกี่ยวใกล้กับเดือนรอมฎอน และเทศกาลสงกรานต์ โดยได้เตรียมการผลักดัน ประเด็นการยุติความรุนแรง “รอมฎอนสันติสุข” ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการจัดทำแผนรอมฎอนสันติสุข ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่  โดยคาดหวังว่าข้อเสนอการยุติความรุนแรงจะได้รับการตอบรับ เพื่อสร้างรอมฎอนนี้ ให้เป็นรอมฎอนสันติสุข และยุติเหตุรุนแรงครอบคลุมต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการปรึกษาหารือสาธารณะอย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตามในเรื่องของ มีบางคนบางกลุ่ม ใช้วาทกรรม อ้างถึง กอ.รมน.ภาค 4 ห้ามไม่ให้แต่งการชุดมลายู เรื่องดังกล่าว แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า ไม่เข้าใจคนที่กล่าว  เพราะที่ผ่านมา ในฐานะ ผู้อำนวยการความมั่นคงภายในภาค 4 ในห้วงที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการแต่งกายชุดมลายู ตลอดจนส่งเสริมเรื่อง ให้มีการประกวดอัตลักษณ์ชุดมลายู เสมอมา และทำงานกับพื้นที่ เป็นความจริง ยืนยันชุดมลายู ทุกคนใส่ได้ทุกวันทุกเวลา ตามที่ประชาชนต้องการ และทุกชาติพันธ์ เชื้อสายจีน มลายู ไทย อินเดีย หรืออื่นๆ หากมีชุดประเพณีวัฒนธรรม สามารถใส่หรือทำได้เสมอ ฉะนั้น ควรเอาความจริงมาพูดคุย  เพื่อสร้างสรรค์ ให้เกิดความมั่นคง อย่างยั่งยืน กลับคืนมาให้กับพื้นที่และประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบไป

.

 31,637 total views,  4 views today

You may have missed