เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

จุดประกาศวิถีชุมชน อาเนาะมลายู ลุ่มน้ำเจ้าพระยากว่า 200 ปี

แชร์เลย

 

ชนมลายูในจังหวัดปทุมธานีเป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้และมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับร้อยๆปี มีความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยผ่านการสั่งสมการเปลี่ยนแปลงแลกระบวนการพัฒนาที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีเริ่มปี พ.ศ. 2325(ค.ศ.1782) ต่อมาในปี พ.ศ. 2329 (ค.ศ.1786) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ได้ส่งพระอนุชาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) เป็นทัพหลวง มีพระยาราชบังสัน (แม้น) ขุนนางมุสลิมเชื้อสายสุลต่านสุไลมานชาห์ ซึ่งเป็นแม่ทัพเรือในสมัยรัชการที่ 1 เป็นทัพหน้า สมทบด้วยเจ้าพระยานครแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ไปตีเมืองปาตานีโดยเข้าโจมตีทางบกและทางเรือ ขณะนั้นมีผู้ปกครองคือสุลต่านอะหมัด (ได้รับสถาปนาเป็นสุลต่านปัตตานีเมื่อปี 1776 (พ.ศ.2319)) พระองค์สิ้นชีพในสงครามครั้งนี้ด้วย และผลของสงครามชาวมลายูถูกนำมาสู่บางกอกกว่า 4,000 คน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งประมาณ 20,000 คน ก็อพยพลี้ภัยไปยังดินแดนเมืองมาลายูที่เป็นเพื่อนบ้านและเมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย จนมีการกล่าวกันว่ายุคนั้น ผู้ชายแม้จะเชือดไก่ทำแกงก็ไม่มี (เพราะตายในสงครามและอพยพลี้ภัย) การสงครามครั้งนี้เป็นการทำสงครามครั้งที่ 6 เมืองปาตานีต้องสูญเสียอำนาจแก่สยาม ประชาชนส่วนหนึ่งเป็นเชลย กองทัพสยามยึดเอาทรัพย์สมบัติ และปืนใหญ่ที่หล่อในสมัยรายาบีรูไป 3 กระบอก แต่เหลือมาถึงบางกอก(กรุงเทพ)เพียง 1 กระบอก คือปืนใหญ่พญาตานี (ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม)


ผู้คนที่ถูกนำมาถิ่นจังหวัดปทุมธานี กลุ่มแรกมาอยู่ที่ชุมชนมลายูกาปง ปัจจุบันอยู่ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี (ปัจจุบันยังพบร่องรอยของคลองส่งน้ำ สุสาน (กูโบร) ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน) และได้ขยายแยกย้ายออกไปถิ่นใหม่เพื่อตั้งรกราก ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลไปสู่ชุมชนใหม่ ณ ทุ่งลาดหลุมแก้ว(จังหวัดปทุมธานี) และได้ร่วมด้วยช่วยกันขุดคลองขึ้นมา ในภายหลังเรียกว่าคลองบางโพธิ์เหนือ(อำเภอลาดหลุมแก้ว) และอีกบางส่วนได้ขยายถิ่นฐานไปทุ่งหลวงหรือทุ่งรังสิตกลายเป็นชุมชนมลายูคลองหนึ่ง(อำเภอคลองหลวง) จังหวัดปทุมธานี เพราะเป็นเมืองใหม่ที่ ร.5 ท่านทรงได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นทางทิศตะวันออก คือแถบอำเภอธัญบุรี โดยขุดคลองหนึ่ง สอง สาม… ไปเรื่อยๆ มีทางรถไฟ เป็นจุดเริ่มต้น ถือเป็นเมืองใหม่ ในยุคที่สองของจังหวัดปทุมธานี
สำหรับชาวมลายูปทุมธานี ถือว่า สังคมมลายูสามคลอง ในปัจจุบันยังคงหลงเหลือมรดกความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่งามเลิศ เช่นภาษามลายู การแต่งกาย ฯลฯ แม้จะมีกระแสอิทธิพลอันรุนแรงของวัฒนธรรมตะวันตก หรือกาลเวลา ก็ไม่สามารถกัดเซาะหรือทลายลงได้ หากทุกคนยังตระหนักและให้ความสำคัญ แต่ถ้าทุกคนละเลยหรือเฉยเมยวัฒนธรรมดั้งเดิมและวิถีชีวิตที่ดีงามของชุมชนเล็กๆ ก็จะถูกกลืนหายไปในสังคม เฉกเช่นอารยธรรมคนรุ่นก่อนในหมู่ชาวมอญ รามัน
โปรดช่วยกันรักษาเฉกเช่นบรรพชนได้รักษาเอาไว้ เขาเหล่านั้นล้วนเป็นเหล่ามูฮาญิรีนที่เสียสละเพื่อลูกหลานในภายภาคหน้า ดั่งคำพูดที่ว่า تأ كن ملايو هيلڠ دڤاتومتاني มลายูในปทุมธานีไม่มีสูญสิ้น

 

 88,263 total views,  90 views today

You may have missed