ตุลาคม 13, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ถอดรหัส ” MARA PATANI ” จัดสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 4

แชร์เลย

 

โดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง.

สำหรับคนที่ติดตามเกาะติดความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คงจะได้รับรู้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ได้มีกิจกรรมหนึ่งที่ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีผลนัยสำคัญโดยตรงกับทิศทางการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี นั่นก็คือ งานสมัชชาใหญ่ของมาราปาตานีครั้งที่ 4 จัดขึ้นในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

เมื่อช่วงปี 2557 ถึงปี 2561 คงไม่มีใครไม่รู้จัก “มาราปาตานี” หรือในภาษามาเลเซียเรียกว่า MARA PATANI ซึ่งมาจากชื่อเต็มว่า Majlis Syura Patani แปลเป็นไทยว่า สภาซูรอปาตานี หรือ สภาสูงสุดปาตานี นั่นเอง

หลังจากปี 2561 เป็นต้นมา ชื่อเสียงของมาราที่มารับช่วงต่อในบทบาทของการเป็น “คู่พูดคุย” กับรัฐไทยในนามของ BRN ซึ่งนำโดยอุสตาสฮาซัน ตอยิบ ก็ค่อยๆจางหายไปจากหน้าสื่อสาธารณะ โดยที่มีชื่อของ BRN มาแทนที่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เป็น “อุสตาสฮาซัน ตอยิบ” แต่กลับเป็น “อุสตาสฮีพนี” เพราะว่าทางรัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกจาก “ดาโต๊ะซัมซามิน” มาเป็น “ตันศรีอับดุลราฮิม บินมูฮัมหมัดนูร” และทางฝ่ายไทยก็ได้เปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยจาก “พล.อ.อักษรา เกิดผล” มาเป็น “พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” และต่อมาไม่นาน “พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ” ก็มาทำหน้าที่แทนจนถึงปัจจุบัน จึงส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนคู่พูดคุยจาก MARA PATANI มาเป็น BRN แทนอีกครั้ง

สมัชชาใหญ่ของ MARA PATANI ที่จัดขึ้นในครังนี้เป็นสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 4 และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ MARA PATANI ได้เชิญภาคประชาสังคมจากในพื้นที่ จชต.และในประเทศมาเลเซียเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้สมัชชาใหญ่ครั้งนี้น่าจะมาจาก “แรงขับสำคัญ” ร่วมระหว่าง MARA PATANI กับ “ดาโต๊ะซัมซามิน” เป็นหลักเลยก็ว่าได้ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ได้แสดงเจตจำนงและมีท่าทีที่ต้องการมีบทบาทในการสร้างสันติภาพ จชต./ปาตานี ด้วยวิธีการพูดคุยเจรจาอีกครั้ง

กล่าวคือแรงขับของ “มาราปาตานี” คือ เสมือนว่าต้องการมีบทบาทนำในการแก้ปัญหา จชต./ปาตานี ด้วยวิธีการพูดคุยเจรจา ซึ่งมาจากหลักคิดที่ MARA PATANI มองว่า การที่ทาง BRN มีบทบาทการเป็นคู่พูดคุยกับทางรัฐไทยในปัจจุบันนั้น เป็นบทบาทที่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธ์ในทางบวกที่มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดต่อการสร้างสันติภาพหากเทียบกับบทบาทของ MARA PATANI ในสถานะเดียวกันกับ BRN แล้ว MARA PATANI น่าจะทำได้ดีกว่า

ซึ่งดูได้จากรูปธรรมของผลลัพธ์จากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการเห็นพ้องต้องกันจะกำหนดเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” จนสามารถนำสมาชิก BRN ที่เป็นจำเลยคดีความมั่นคงออกจากเรือนจำได้ 3 คน ซึ่งตรงกันข้ามกับ คณะพูดคุยในนาม BRN ปัจจุบัน ที่ยังคง “วนเวียนเสมือนพายเรือในอ่างน้ำ” แห่งบรรยากาศการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันแบบเรื่อยๆไม่ยอมข้ามไปอีกฝั่งของ “การเจรจากันเพื่อตกลงหยุดยิงและสร้างสันติภาพร่วมกัน” ฉะนั้นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสังคมปาตานี MARA PATANI จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมามีบทบาทกับโต๊ะพูดคุยเจรจาสันติภาพอีกครั้ง

แรงขับของมาเลเซียโดยผ่านเจตจำนงของดาโต๊ะซัมซามิน คือเริ่มจากการที่บทบาทของผู้อำนวยความสะดวกถูกปรับเปลี่ยนจากดาโต๊ะซัมซามินมาเป็น “ตันศรีอับดุลราฮิม บินมูฮัมหมัดนูร” หลังจากการเปลี่ยนอำนาจบริหารประเทศมาเลเซียโดย “รัฐบาลนายิบ” มาเป็น “รัฐบาลที่นำโดยมหาฎิร” ทำให้ BRN ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์งานพูดคุยสันติภาพที่มี “เข็มมุ่ง” ใช้บริการองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพนั่นก็คือ HDC มากกว่าจะใช้บริการทางรัฐบาลมาเลเซีย

จึงทำให้ทางท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียมีความไม่สบายใจที่ได้มีองค์กรของพวกฝรั่งดังกล่าว มามีบทบาทในเรื่องการพูดคุยสันติภาพกับ BRN ซึ่งสำหรับมาเลเซียแล้วถือว่าเป็นเรื่องกิจการความมั่นคงภายในประเทศ การที่พวกฝรั่งในนามเอ็นจีโอเพื่อสันติภาพมาปฏิสัมพันธ์และร่วมกำหนดบทบาทการขับเคลื่อนสันติภาพ จชต./ปาตานี โดยที่รัฐบาลมาเลเซียไม่รู้ความเคลื่อนไหวใดๆเลย รู้ๆอีกทีก็ทุกอย่างได้เข้าสู่กระบวนการของการดำเนินการไปแล้ว ท่าทีหรือพฤติกรรมทางการเมืองแบบนี้ของ HDC และ BRN ถ้าทางมาเลเซียจะมีความรู้สึก “ไม่ค่อยปลื้มใจ” สักเท่าไหร่ก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก

จากความไม่ปลื้มดังกล่าวของรัฐมาเลเซียปัจจุบัน ส่งผลให้ทางความมั่นคงของมาเลเซียจึงน่าจะให้ทาง “ดาโต๊ะซัมซามิน” กลับมามีบทบาทอีกครั้งเพื่อดึง BRN และขบวนการต่างๆทุกกลุ่มให้เข้ามาอยู่ในการกำกับทิศทางที่ตนคิดว่า “มีโอกาสจะควบคุม” ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปมีปัญหากับทางองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศเหล่านั้นแบบตรงๆ

ส่วนท่าทีของ “BRN ใหญ่” ที่ไม่ใช่ประกอบด้วยแค่ “ฝ่ายการเมือง” ที่รับบทบาททำหน้าที่พูดคุยเจรจากับทางรัฐไทยเท่านั้น แต่ประกอบด้วยทุกสายงาน ไม่ว่าจะเป็น “งานการทหาร” “งานจัดตั้งมวลชน” “งานเศรษฐกิจ” “งานศาสนา” “งานการเมืองระหว่างประเทศ” เป็นต้น ถามว่าพวกเขามีท่าทีอย่างไรกับการเคลื่อนไหวของมาราปาตานีในครั้งนี้

ข้อสมมุติฐานที่มีความน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ มีแนวโน้มสูงว่าพวกเขาจะ “สงวนท่าที” ปล่อยให้มาราและประเทศมาเลเซียได้ขับเคลื่อนได้อย่างสบายใจและมีเสรี

เพราะหากคิดในแง่ของ ‘ความคุ้มค่า” และหากมองไปในเกมของ “ยุทธศาสตร์การปฏิวัติประชาชน” ที่เป็น “แบรนด์หลัก” ของความเป็น “องค์กรลับ” แบบ BRN แล้ว

ตราบใดที่รัฐไทยยังไม่มีท่าทีแสดงให้ BRN เห็นและเชื่อว่า รัฐไทย “ยอมรับ” ในสถานะของ BRN คือ “คู่เจรจา” โดยการ “แสดงเจตจำนงทางการเมือง” จากสถานะของ “ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ” ทำการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกันว่ารัฐไทยมีความประสงค์จะเจรจากับ BRN โดยที่เมื่อประกาศแล้ว ทหารก็ไม่สามารถจะออกมาทำการ “ยึดอำนาจทำการรัฐประหาร” ได้เหมือนในยุคสมัยของนายกฯยิ่งลักษณ์ในปี 2556

สถานะความเป็นองค์กรลับในแบบฉบับของ BRN ก็ยังมีความจำเป็นสำหรับพวกเขา

และสถานะการเป็น “คู่สงคราม” กับรัฐไทยโดยมีเงื่อนไขจากสถานการณ์บางอย่างที่ทางรัฐไทยอาจจะ “ตกกระไดพลอยโจร” แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สถานการณ์มันพาไป” จนรัฐไทยละเมิดกฎกติกาการใช้อาวุธในพื้นที่สงคราม หรือ International Humanitatian Law (IHL) คือ เป้าหมายที่พวกเขาอาจจะใช้ในการกดดันให้รัฐไทยยอมรับการเป็น “คู่เจรจา” ของ BRN ก็ได้

การสงวนท่าทีของพวกเขาต่อบทบาทที่ดูเสมือนว่ามีกลุ่มคนที่อยู่ “นอกเหนือระบบ” ของพวกเขา จะมา “ช่วงชิง” การนำใน “เกมการพูดคุยที่ไม่ใช่การเจรจา” บางทีอาจจะไม่เป็นที่ปลาบปลื้มใจนักของบรรดาสมาชิกและแฟนคลับ

แต่ในเมื่อคู่ต่อสู้ไม่ยอมรับสถานะที่ “เสมอภาคเท่าเทียมกัน” ในฐานะคู่ต่อสู้ที่ควรต้องเป็น “คู่เจรจา” ด้วยวิถีทางแบบปกติ งานอื่นๆในองคาพยพทั้งหมดที่พวกเขามี ท่ามกลางกระแสสูงที่รัฐไทยตั้งใจเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนมาอยู่ที่ “การพูดคุยเพื่อการพูดคุยไปเรื่อยๆ” จนกว่า BRN คนแก่ๆจะสิ้นลมหายใจลาจากโลกนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นงานการทหาร งานจัดตั้งมวลชน งานการเมืองระหว่างประเทศ และงานอื่นๆ ก็จะเข้าสู่โหมด “เดินเครื่องการปฏิวัติประชาชนเต็มสูบ” โดยอัตโนมัติในทันทีก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าคงจะหลีกเลี่ยงจากเงื่อนไขของ “ความสูญเสียชีวิต” ผู้คนค่อนข้างยากเลยทีเดียว

แต่ในมุมของชนชาติหนึ่งที่มีทัศนะต่ออีกชนชาติหนึ่งในฐานะเป็นผู้ยึดครองดินแดนของบรรพบุรุษ หากการต่อสู้ด้วย “สันติวิธี” ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายการได้มาซึ่งความสำเร็จในการทวงคืน “สิทธิความเป็นเจ้าของ” อย่างมีเกียรติและสมศักดิ์ศรี

การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่ต้องเดิมพันด้วยความสูญเสียของคนในชนชาติก็เป็นสิ่งที่ “สมเหตุสมผล” อยู่แล้วไม่ใช่หรือ
.

#LEMPAR_Analysis
#ถอดรหัสมาราจัดสมัชชาใหญ่ครั้งที่4
#ตูแวดานียา_ตูแวแมแง

 75,963 total views,  2 views today

You may have missed