พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#ทีม Ponay จากนราธิวาส คว้าทุนหนังสั้นจาก Short Film Camp 2022

แชร์เลย

มูลนิธิ Purin Pictures ได้จัด “Short Film Camp 2022” กิจกรรมเวิร์กชอปด้านการผลิตภาพยนตร์ ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยปีนี้เป็นการสนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และไทย ในระหว่างวันที่ 2-12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (TCDC กรุงเทพฯ)

คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Purin Pictures ตำแหน่ง Director of Purin Pictures กล่าวว่า Short Film Camp เรามีเป้าหมายเพื่อให้โอกาสผู้กำกับและโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่จากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ฝึกฝนทักษะทางภาพยนตร์ในระดับมืออาชีพ และมีโอกาสได้รับทุนสร้างภาพยนตร์สั้นของตนเอง

“เราต้องการสนับสนุนผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ ด้วยการเข้าไปช่วยอัดฉีดเงินให้กับเหล่าคนทำหนังในทวีปเอเชีย เนื่องจากเป็นทวีปที่มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาพยนตร์ที่ค่อนข้างคล้ายกัน คือไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ และในบางประเทศการศึกษาภาพยนตร์ก็ยังไม่ค่อยดี”

คุณอาทิตย์ กล่าวต่อว่า เดิม Purin Pictures กิจกรรมหลักของเราคือ การให้ทุนสร้างหนังยาว โดยให้มา 5 ปี ประมาณ 60 เรื่อง แต่เรากลับพบว่า มีเพียง 3 ประเทศที่ไม่เคยได้ทุนไปทำหนัง คือ ลาว พม่า และกัมพูชา เนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังไม่ค่อยแข็งแรง และการเรียนภาพยนตร์ในประเทศยังมีน้อย จึงมีการปรับรูปแบบการให้ทุนเป็นประเภทหนังสั้น เพื่อขยายโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

โดยความพิเศษของ Short Film Camp 2022 ในปีนี้ จึงเปรียบเสมือนการเปิดโอกาสให้กับผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ ที่อายุไม่เกิน 30 ปี มาจาก ลาว พม่า กัมพูชา และไทย ได้มาร่วมเวิร์กชอป จำนวน 12 ทีม แต่ละทีมประกอบไปด้วยผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ รวมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 24 คน ซึ่ง Purin Pictures ช่วยสนับสนุนค่าเดินทางและที่พักตลอดของการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ถือเป็นกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

“12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะมีโปรเจกต์ภาพยนตร์สั้นโดดเด่นและน่าสนใจให้มาเข้าร่วมพัฒนาโปรเจกต์เป็นเวลา 11 วัน และเรียนรู้ทักษะการสร้างภาพยนตร์ระดับมืออาชีพจากผู้กำกับและโปรดิวเซอร์แนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

คุณอาทิตย์ กล่าวว่า เมื่อสิ้นสุดการเวิร์กชอป ทุกทีมจะนำเสนอโปรเจกต์ภาพยนตร์สั้นของตัวเองกับคณะกรรมการ ผู้ชมในห้อง รวมถึงผู้ชมทางบ้านผ่าน Live Facebook เพื่อชิงทุนสร้างภาพยนตร์สั้นจำนวน 4 รางวัล รางวัลทุนละ 250,000 บาท โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Net-flix, White Light Post, Kantana Sound Studio และการสนับสนุนสถานที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (TCDC กรุงเทพฯ)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน Purin Pictures คือกองทุนสนับสนุนภาพยนตร์อิสระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มก่อตั้ง ในปี พ.ศ. 2560 ภายใต้มูลนิธิฎรินทร์ทุนที่สนับสนุนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ทุนผลิตภาพยนตร์ในช่วง Production ทุนผลิตภาพยนตร์ในช่วง Post-Production และทุนจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ปัจจุบันภาพยนตร์ที่เราสนับสนุนต่างได้รับการยอมรับจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลก อาทิ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน อันเป็นการส่งเสริมให้ภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมต่างชาติในวงกว้างยิ่งขึ้น

ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ และกาจพล นิติพิสานนท์ จากประเทศไทย กล่าวว่า Ponay บทเป็นการเล่าถึง บุคคล LGBTG+ในประเทศไทย ที่ถึงเวลาต้องเกณฑ์ทหาร การเกี่ยวข้องกับศาสนา และบุคคลในเรื่องที่มีบ้านเกิดอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่เขารู้สึกถึงความไม่มีปกติ และอยากให้คนเข้าใจคนกลุ่มนี้

ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ ผู้กำกับ กล่าวว่า ผมเกิดและเติบโตที่ อ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พื้นที่ชายแดนที่อยู่ติดกับประเทศมาเลเซีย ทุกครั้งที่ผมได้ยินคำว่า “ปอแน” ที่ถูกใช้เรียกเพศที่สามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมกลับรู้สึกว่า เป็นคำสแลงที่ลดทอนคุณค่าของคนเหล่านี้ นั้นจึงเป็นที่มาทำให้ผมเขียนเรื่องนี้ และตั้งชื่อว่า “ปอแน”

“วันนั้นผมกลับไปเกณฑ์ทหาร แล้วได้กลับไปเจอเพื่อนสนิทในวัยเด็ก ที่เขาได้แปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว เรารู้สึกเซอรไพรส์มาก แต่เขากลับถูกเรียก ปอแน เหตุการณ์ในวันนั้น เป็นอะไรที่ผมไม่ลืมเลย เพราะเขาได้กลายเป็นเหยื่อของคำนี้”

ฮีซัมร์ กล่าวต่อว่า แม้คำว่า “ปอแน” ที่ถูกเรียกเพศทางเลือกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เขาเองรู้สึกเจ็บปวด แต่เมื่อมองลึกลงไปนั้น สิ่งที่กลับทำให้คนกลุ่มนี้เจ็บปวด คือกระบวนการยืนยันเพศตัวเอง ด้วยใบรับรองแพทย์ ที่ชื่อว่า “ใบเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เพื่อใช้ในการเกณฑ์ทหาร ซึ่งก็ต้องไปนั่งคุยกับหมอ เพื่อยืนยันว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย”

ขณะที่ กาจพล นิติพิสานนท์ โปรดิวเซอร์ มองว่า ระบบราชการที่ถูกออกแบบมาโดยไม่ตั้งใจ สุดท้ายมันกลับกดทับใครสักคนหนึ่งอยู่ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องเจ็บปวด เพียงเพราะระบบที่ถูกออกแบบขึ้นมา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทีมเราเลือกจะทำหนังเรื่องนี้

Moe Myat May Zarchi และ Vicky Nway จากประเทศพม่า กล่าวว่า บทหนังเรื่อง Sad Diva Lands on the Moon ที่เขียนขึ้นมานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวที่อยู่ใต้การกดขี่ทางการเมืองในประเทศของเธอ เมื่อถูกกักขังในบ้านของตัวเอง จินตนาการของเธอก็พุ่งพล่าน เธอเล่นบทบาทสมมติเป็นนักบินอวกาศหญิงและนางละครผู้เศร้าสร้อยที่ถูกล้างสมอง ผู้ซึ่งติดอยู่ในรายการทีวีโฆษณาชวนเชื่อย้อนยุค โดยเธออ้างอิงจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เกิดขึ้นจริงในประเทศพม่า ผ่านหนังเรื่องนี้ที่เธออยากทำ

“อยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะตรงกับที่ตอนนี้เธอกำลังเผชิญกับความรู้สึกกลัว และความโกรธที่ไม่สามารถทำอะไรได้”

Moe Myat May Zarchi ผู้กำกับ กล่าวต่อว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นที่ผ่านเข้ารอบได้เข้ามาเวิร์กชอป ในงาน Short Film Camp เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยได้เข้าร่วมการเวิร์กชอปทำหนังจากที่ไหน ที่นี่คือครั้งแรก ทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้น และถือเป็นโอกาสที่จะทำให้เธอได้เจอคนในวงการภาพยนตร์ สุดท้ายสิ่งที่เธอประทับใจคือ การได้ลองพิทชิ่งบนเวทีจริงๆ

“รู้สึกตื่นเต้น ทำหนังมา11ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยขึ้นเวทีในต่างประเทศเลย นี่คือครั้งแรก ทำให้ได้เจอกับ คนทำหนังและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก” Moe Myat May Zarchi กล่าว

ด้าน Seng Savunthara และ Te Meily จากประเทศกัมพูชา กล่าวว่า Parallax View เป็นภาพยนตร์สั้นแนวทดลองที่แยกโครงสร้างวิถีต่างๆ ของตัวตน เรื่องราวเกิดขึ้นในห้องสอบปากคำ ภาพยนตร์จะสำรวจ power dynamic ของผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ ผู้ที่ได้ถามคำถามและผู้ที่ต้องตอบคำถาม

โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “จดหมายที่หายไป” ที่ทำให้เขาอยากเขียนบทหนังในครั้งนี้ขึ้นมา โดยจดหมายดังกล่าว ถูกเขียนถึงโดยคนที่ล้มกษัตริย์ของกัมพูชา ในช่วงปี ค.ศ.1973 และหลังจากนั้นในปี ค.ศ.1975-1979 ได้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มเขมรแดงขึ้นในประเทศกัมพูชา

“จดหมายที่หายไป ทำให้ผมอยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งจริงๆแล้ว จดหมายดังกล่าวมีการเปิดเผยอยู่แล้ว และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ไม่มีใครสนใจ เพราะมันเป็นจดหมายที่ถูกเขียนถึงโดยคนที่ล้มกษัตริย์ของกัมพูชา”

Seng Savunthara ผู้กำกับ กล่าวต่อว่า การได้เข้าร่วม Short Film Camp 2022 ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก สิ่งที่เขาประทับใจ เป็นช่วงเวิร์กชอป และคลาสแอคติ้งการแสดง ที่ช่วยให้เขาได้เรียนรู้การกำกับนักแสดง ซึ่งมันช่วยได้มาก เพราะเขาต้องทำงานร่วมกับนักแสดง

สำหรับ Short Film Camp 2022 ในปีนี้ มี 4 ทีม ได้รับรางวัลชนะเลิศทุนสร้างภาพยนตร์สั้นจำนวน 4 รางวัล รางวัลทุนละ 250,000 บาท ได้แก่ Ponay จากไทย, SAD DIVA LANDS ON THE MOON จากพม่า, Termite Life จากไทย, The Witness จากลาว และอีก 2 ทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ Parallax View จากกัมพูชา และ Sunset จากพม่า โดยรางวัลนี้คือการได้โอกาสไปเข้าร่วมงานเสวนา Platform Busan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ที่ประเทศเกาหลีใต้ในปีหน้า

 

 

 38,564 total views,  2 views today

You may have missed