แถลงการณ์
เครือข่ายปกป้องอัตลักษณ์และสนับสนุนการพูดคุย (The Peace)
เรื่อง ความเห็นของ The Peace ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับ พรบ.กัญชง กัญชา พรบ.สุราก้าวหน้า และพรบ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต
ตามที่ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนมุสลิมบางกลุ่มบางองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย พรบ.ว่าด้วยกัญชง กัญชา โดยเสียงข้างมากของ ส.ส. จากจำนวนเสียงทั้งหมด 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจต่อการทำความเข้าใจถึงปัจจัยซึ่งเป็นแรงขับสำคัญของท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของกลุ่มคนและองค์กรดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญมาก ว่าอะไรคือหลักการที่เป็นเหตุผลหลักสำคัญที่ใช้ในการสนับสนุนท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของพวกตน
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ทางสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและท่าทีว่า สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่อาจปฏิบัติตาม พรบ.3 ฉบับ ซึ่งได้รวมเอา พรบ.สุราก้าวหน้า กับ พรบ.สมรสเท่าเทียม – คู่ชีวิต มาอยู่ในสถานะเดียวกันกับ พรบ.กัญชง กัญชา
ทั้งนี้ตามหลักของสถานะทางกฎหมายอิสลามโดยการฟัตวาของสำนักจุฬาราชมนตรีตามที่แถลงการณ์ของสมาพันธ์ฯได้อ้างถึง และโดยการฟัตวาของผู้รู้ศาสนา (อูลามา) ท่านบาบอแอ สปันญัง ได้ออกฟัตวาเกี่ยวกับเรื่องกัญชง กัญชา นั้น มีนัยยะไปในทางไม่ได้มีสถานะเดียวกันกับเรื่องสุราและเรื่องของสมรสเพศเดียวกันในทางกฎหมายอิสลามอย่างชัดเจน
กล่าวคือกัญชง กัญชา จะมีสถานะเป็นที่ต้องห้ามหรือฮารามได้ก็ต่อเมื่อขึ้นอยู่กับวัตุถุประสงค์และการนำไปใช้ ไม่ได้มีสถานะต้องห้ามหรือฮารามโดยตรงที่ตัวของกัญชาเองแต่อย่างใด
หากมีวัตถุประสงค์และการนำไปใช้เพื่อการสันทนาการด้วยความมึนเมานั้น กัญชง กัญชาก็จะมีสถานะฮารามหรือไม่เป็นที่อนุญาตได้ตามหลักกฎหมายอิสลาม ในขณะเดียวกันหากนำไปใช้ในทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บนั้น กัญชง กัญชาก็จะมีสถานะฮาลาลหรือเป็นที่อนุญาตได้ตามกฎหมายอิสลาม ซึ่งหากเทียบกับสถานะของเรื่องสุราและเรื่องของการสมรสเท่าเทียมในเพศเดียวกันนั้น จะเห็นได้ว่ามีสถานะที่ต่างกันตรงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และการนำไปใช้ กล่าวคือสุรานั้นเป็นที่ต้องห้ามที่ตัวสุราเองโดยตรง และการสมรสระหว่างเพศเดียวกันก็เป็นที่ต้องห้ามโดยตรงว่ากรณีที่เป็นเพศเดียวกันนั้นจะสมรสเป็นคู่ชีวิตไม่ได้ ทั้งคู่ก็มีสถานะฮารามหรือไม่เป็นที่อนุญาตให้ได้ตามหลักกฎหมายอิสลามด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และการนำไปใช้เหมือนกับกรณีของกัญชง กัญชา แต่อย่างใด
อนึ่งเจตนารมณ์ของ พรบ.ทั้ง 3 ฉบับนั้น ไม่ได้มีที่มาจากฐานคิดของ ส.ส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งเสียงข้างมากของ ส.ส.ในจำนวน 500 เสียงในสภาฯก็ไม่ได้เป็นเสียงของ ส.ส.ที่นับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด อีกทั้งสถานะทางกฎหมายของ พรบ.ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์จะบังคับให้ประชาชนทั่วไปหรือประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
หากแต่มีเจตนารมณ์ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนทุกศาสนาสามารถนำมาสนองความต้องการของตนได้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณหรือความเชื่อหรือศาสนาของแต่ละคนอย่างเสรีในความหมายที่ไม่ผิดต่อหลักกฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น การฟัตวาของสำนักจุฬาราชมนตรีและบาบอแอ สปันญัง นั้น มีความชัดเจนแน่แท้อยู่แล้ว
ฉะนั้นแล้วขอเรียกร้องให้กลุ่มคนหรือองค์กรใดๆที่นับถือศาสนาอิสลามและมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับ พรบ.กัญชง กัญชา ควรพึงระวังในการยกหลักกฎหมายอิสลามมาอ้างอิงสนับสนุนท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของตนอย่างเหมารวมควบเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมดกับกรณีของสิ่งต้องห้ามอื่นๆ จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม เพราะจะส่งผลทำให้เกิดฟิตนะห์ (การใสร้าย) ในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ไม่โปรดปรานและไม่อนุญาตให้กระทำได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากว่ากลุ่มคนหรือองค์กรมุสลิมดังกล่าวมีความต้องการที่ไม่อยากให้กฎหมายที่ออกมาจากที่มาของระบบรัฐสภาไทยที่ยึดหลักเสียงข้างมาก ซึ่งในความเป็นจริงจำนวน ส.ส.ที่มาจากสัดส่วนของจำนวนประชาชนทั้งประเทศนั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ได้สวนทางกับเจตจำนงทางการเมืองที่คาบเกี่ยวเฉพาะโดยตรงกับหลักกฎหมายของศาสนาอิสลามแล้วนั้น แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ในทางปฏิบัติที่จะสอดคล้องถูกใจประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นสัดส่วนเสียงข้างน้อยของประชาชนทั้งหมดของประเทศไทย นี่คือสภาพความเป็นจริงของบริบทโครงสร้างการเมืองการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและในอนาคตยาวๆเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามหากว่ากลุ่มคนหรือองค์มุสลิมดังกล่าว มิสามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสนองซึ่งเจตจำนงทางการเมืองที่คาบเกี่ยวกับหลักกฎหมายอิสลามของพวกตนดังกล่าว จะด้วยเหตุผลประการใดก็สุดแล้วแต่นั้น
ทางเครือข่ายปกป้องอัตลักษณ์และสนับสนุนการพูดคุย (The peace) ขอแนะนำว่าให้ใช้พลังของเจตจำนงทางการเมืองดังกล่าวในวิธีการที่พอจะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้บ้าง นั่นก็คือด้วยการให้ความร่วมมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ปกครองตนเองแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญจะเป็นการดีกว่าหรือไม่
เพราะเมื่อมีการปกครองตนเองแบบพิเศษขึ้นมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เจตจำนงทางการเมืองซึ่งคาบเกี่ยวกับหลักกฎหมายของศาสนาอิสลามที่คาดหวังให้มีกฎหมายบ้านเมืองรองรับนั้น ก็จะสามารถกระทำได้จริงในทางปฏิบัติโดยทันทีนั่นเอง และการใส่ร้ายกันหรือฟิตนะห์ในสังคมมุสลิมโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นมุสลิมที่ดีในบ้านเมืองควรปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนมุสลิม โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นอนาคตของชาติบ้านเมือง นั่นก็คือบรรดาลูกหลานที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นั่นเอง
.
แถลงการณ์
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565
22,001 total views, 6 views today
More Stories
ด่วน ! INC ออกแถลงการณ์ ต่อรัฐบาล ยกเลิกใช้ พรก.ฉุกเฉิน จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนพูดคุยโต๊ะเจรจาสันติภาพ (มีคลิปแถลง)
แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะผู้บริหารทางการศึกษาเอกชน,ผู้บริหารมูลนิธิตาดีกา แดนใต้ ร่วมหารือแก้ปัญหาพื้นที่เพื่อสันติสุข เน้นย้ำ ใกล้ถึงถึงเดือนศิลอด ขอทุกฝ่ายจับมือ “รอมฎอนสันติ” ไม่เกิดเหตุรุนแรง เดือนอันประเสริฐ
กลุ่มพลังมวลชน ผู้นำศาสนา นักเรียน นักศึกษา รวมกว่า 500 คน ”รวมพลังต่อต้านความรุนแรง” ทุกรูปแบบ หน้าแฟลตตำรวจนราธิวาสจุดเกิดเหตุบอมบ์