เมษายน 27, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ศอ.บต. จับมือ ชมรมอนาซีดสาม จชต. นำเยาวชนในพื้นที่ จชต. ฝึกฝนและมอบความรู้เรื่องดนตรีพื้นบ้าน “กุงปัง” หวังเยาวชนสืบสานประเพณีอันมีค่าให้คงอยู่กับพื้นที่ตลอดไป

แชร์เลย

 ที่ห้องประชุมเพ็ชรมี รีสอร์ท อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ  เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบหมายให้นายกิตติ สุระคำแหง  รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมจัดอบรมเยาวชนสืบสานวัฒนธรรม (ดนตรีพื้นบ้าน กุมปัง) จัดโดยสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศอ.บต. ร่วมกับ ชมรมอนาซีดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน “กุมปัง” ให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยครั้งนี้มีนายคอเล็ด เจ๊ะแว  ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสนับสนุนกิจการศาสนาและวัฒนธรรม สำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศอ.บต. นางสาปีน๊ะ ประชัยเทพ  นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ศอ.บต. และคณะวิทยากรผู้ให้ความรู้ร่วมในพิธีเปิด ทั้งนี้มีเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้าร่วมจำนวน 60 คน

นายกิตติ สุระคำแหง กล่าวว่า ขอชื่นชมน้องๆเยาวชน ที่ให้ความสำคัญกับดนตรีพื้นบ้าน กุมปัง ถ้าเรามองเยาวชนในปัจจุบันหลายๆ คนเอาเวลาตรงนี้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ มากกว่า โดยเฉพาะวันนี้ ตรงกับวันหยุดยาวคือเทศกาลสงกรานต์ด้วย แต่กลุ่มเยาวชนในห้องประชุมแห่งนี้ได้ใช้เวลาอันมีค่า มาอบรมเรื่องดนตรีพื้นบ้าน นี่คือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและต้องสนับสนุนกิจกรรมดีๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง ดนตรีคือภาษาของโลก ไม่ว่าเราจะเล่นดนตรีชนิดใดก็ตาม เราสามารถนำดนตรีไปเล่นได้ทุกพื้นที่ของโลกใบนี้ การฟังดนตรีทำให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา และปัญญาทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ และสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่เรียนหนังสือเก่งๆ หรือมีความสามารถเฉพาะตัว ส่วนใหญ่มาจากการทำกิจกรรมไม่ว่ากิจกรรมด้านกีฬา ดนตรี หรือการท่องเที่ยว เวลาเรามีความสุขในการทำกิจกรรมเราจะมีความคิดสิ่งที่ดีเสมอ ดังนั้น การเข้าอบรมในครั้งนี้ให้เยาวชนตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ให้มากที่สุด เชื่อว่าสักวันหนึ่งเยาวชนทุกคนอาจนำความรู้ที่เข้าอบรมในครั้งนี้ นำไปใช้ประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคตต่อไปได้

สำหรับ “กุมปัง” นั้น เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อของสังคมมุสลิม เป็นเครื่องดนตรีจำพวกกลองที่มีหนังแพะเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีหวาย 1 เส้น ไว้สำหรับยึดให้หนังตึง กุงปัง มีประวัติความเป็นมาจากประเทศในแถบอาหรับ ที่มีมานานแล้ว เมื่อในสมัยท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ได้มีการใช้กุมปังต้อนรับท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ตอนอพยพจากนครเมกกะถึงนครมาดีนะห์ และเชื่อว่า กุมปังเข้ามาบริเวณแหลมมลายูในสมัยอาณาจักรมลากา โดยผ่านทางอินเดียและเข้าสู่เมืองชวาในทศวรรษที่ 13 โดยชาวอาหรับ และในต่อมา “กุมปัง” ได้แพร่หลายในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนและภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย

สาเลม ครู  SPMCNEWS รายงาน

 789 total views,  2 views today

You may have missed