พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ภาคประชาสังคม โซ่ข้อกลาง ร่วมดับไฟใต้

แชร์เลย

คำว่า “ประชาสังคม” มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ในฐานะเป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับภาครัฐ ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายของคำว่า ประชาสังคม หรือ Civil Society ไว้ว่า เป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้าง จึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไปประชาสังคม หมายถึง พื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นดำเนินงานโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรในพื้นที่ประชาสังคม ประชาชนทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากภาครัฐ และอยู่นอกบริบทการแข่งขันทางการเมือง 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่แต่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเป็นสถานการณ์ทั่วไป ล้วนแล้วแต่มีการตั้งคำถามกับกรอบการปฏิบัติงานหรือ “จุดยืน” ของภาคประชาสังคม ว่าควรเป็นไปในลักษณะใด ทั้งนี้มีการอธิบายว่า ความหมายของแนวคิดประชาสังคมที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือนิยามของนักรัฐศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง แลร์รี่ ไดมอนด์ ซึ่งได้อธิบายแนวคิดประชาสังคมว่า คืออาณาบริเวณ (realm) ที่มีการจัดตั้งขึ้นของชีวิตทางสังคมที่มีลักษณะเป็นอาสาสมัคร มีการเติบโตอย่างเป็นอิสระจากรัฐ และอยู่ภายใต้กติการ่วมกันของสังคม คำว่าประชาสังคมจึงแตกต่างจากคำว่า “สังคม” (society) เพราะเป็นพื้นที่ของพลเมืองที่จะร่วมกันกระทำการบางอย่างในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) โดยมีประชาสังคมเป็นพื้นที่ตรงกลาง (intermediary entity) ระหว่างพื้นที่ของเอกชนและภาครัฐ รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ประชาสังคมจึงไม่ได้เป็นเพียงความพยายามในการจำกัดอำนาจรัฐ แต่อาจเป็นพื้นที่สำหรับให้ความชอบธรรมแก่รัฐก็ได้ หากภาครัฐนั้นได้กระทำการอยู่บนพื้นฐานของ “หลักนิติธรรม” และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม

หากเป็นไปตามนิยามข้างต้น นับจากมีการผลักดันการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล โดย พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ และมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานเพื่อมอบเงินอุดหนุนให้แก่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง ด้วยปรากฏว่า การขับเคลื่อนงานมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น ผ่านความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) คณะทำงานขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คกป.) และภาคประชาสังคมในพื้นที่

โดยแง่มุมหนึ่งปรากฏว่า มีคนทำงานด้านภาคประชาสังคม สนใจจัดส่งโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจาก ศอ.บต. จำนวน 488 องค์กร 492 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 148 ล้านบาท คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ โดยคณะทำงานขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คกป.) ใช้เวลาในการกลั่นกรอง 5 ครั้ง จึงพิจารณาเห็นชอบโครงการ 223 โครงการ รวมงบประมาณ 50 ล้านบาท หลังจากนั้น มีการจัดอบรมเพื่อขับเคลื่อนวาระงาน มอบเงินอุดหนุนให้แก่ภาคประชาสังคม และมีการดำเนินงานและติดตามประเมินผลโครงการเป็นระยะๆ ขณะเดียวกัน ในส่วนภาคประชาสังคมที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2560 ก็มีการจัดประชุมสร้างความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการร่วมขับเคลื่อนโครงการระยะต่อไป

เมื่อการดำเนินงานผ่านไประยะหนึ่ง มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ สรุปผล ถอดบทเรียนการดำเนินงานของภาคประชาสังคมที่ได้รับเงินอุดหนุน และนำไปสู่การจัดแถลงข่าวปิดโครงการโดย พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ยืนยันว่ารัฐบาลและผู้แทนพิเศษของรัฐบาล จะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ จับมือประชาชนทุกคนเดินไปด้วยกัน เพื่อนำความผาสุกกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

บรรยากาศในพื้นที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นไว้วางใจ ช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชนลดลงเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นผลมาจากการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในฐานะโซ่ข้อกลางเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน

ด้าน ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กิจกรรมในวันแถลงข่าว ถือเป็นการแถลงผลงานและเป็นวันประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการจนประสบความสำเร็จ นับเป็นวันเกียรติยศขององค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมฯ  มีจำนวน 223 องค์กร มีองค์กรที่มีผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์มาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 94.33 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 5.67 และสามารถเป็นองค์กรต้นแบบ จำนวน 22 องค์กร

นายสาเลม ครู 1 ในองค์กรภาคประชาสังคม ชมรมสื่อมวลชนเพื่อสันติ จังหวัดชายแดนภาคใต้  กล่าวว่า ภาคประชาสังคม เปรียบเสมือนรากฐาน ในชุมชนพื้นที่ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐในพื้นที่  อนึ่งที่ขาดคาดไม่ได้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นั้นคือ การมีส่วนของภาคประชาสังคม ที่เป็นคนในพื้นที่ รู้บริบทพื้นที่อย่างแท้จริง  “ผมว่า การดึงภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม ถือเป็นโซ่ข้อกลาง ที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างแน่นอน”

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากย้อนกลับไปพิจารณาการนิยามประชาสังคมในประเทศไทย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการชื่อดัง เคยให้ความหมายของประชาสังคมไว้ว่า คือเครือข่าย กลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบัน และชุมชนที่มีกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ไม่ชอบและไม่ยอมให้รัฐครอบงำหรือบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐและความร่วมมือกับรัฐได้ แต่ก็สามารถชี้นำกำกับและคัดค้านรัฐได้พอสมควร และไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว ซึ่งส่งเสริมให้คนเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งแข่งขันกันจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากแต่สนับสนุนให้ปัจเจกชนรวมกลุ่มรวมหมู่ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยไม่ปฏิเสธการแสวงหาหรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะส่วนเฉพาะกลุ่ม

เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นอาจนับเป็น มิติใหม่ของการร่วมคลี่คลายปัญหา แม้อีกด้านหนึ่งจะมีคนทำงานภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงาน แต่ในระยะยาว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เชื่อว่า เนื้องานของกลุ่มคนหรือองค์กรที่ทำงานด้านประชาสังคม จะเป็นสิ่งพิสูจน์เจตนารมณ์และตัวตนคนทำงานที่แท้จริง

บท… ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ 

 913 total views,  2 views today

You may have missed