พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#“ สิทธิมนุษยชนท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 : บทเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) :รายงาน

Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

#ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับเอเชียเซนเตอร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ “ สิทธิมนุษยชนท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 : บทเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
​ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับเอเชียเซนเตอร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 : บทเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 – 16.30 น. ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน Zoom


​โอกาสนี้ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คุณพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมด้วย Dr. Robin Romcharan, Executive Director Asia Centre ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวแนะนำกิจกรรม โดยการจัดการเสวนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการบอกเล่าสถานการณ์ของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา รวมถึงการรับมือและการป้องกันการระบาดที่มีการบูรณากรมิติด้านสิทธิมนุษยชน โดยเชื่อว่าบทเรียนและแนวทางที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายการป้องกันวิกฤติทางสาธารณสุขที่เคารพสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ต่อไปในอนาคตได้
​โดยในเวทีเสวนาในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก เป็นการเสนอเรื่อง “การแพร่ระบาดของข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในสถานการณ์โควิด (Infodemic) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals (SDGs) : เสรีภาพการใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (“Infodemic” and SDGs: Internet Freedoms in Southeast Asia) โดย Dr. James Gomez, Regional Director, Asia Centre เป็นผู้นำเสนอ และ ดร.ศิรินท์ภทรา สถาพรวงศ์ เป็นผู้อภิปราย
ช่วงที่สอง เป็นเวทีการเสวนาในเรื่อง “การเคารพสิทธิมนุษยชน : มาตรการป้องกันและนโยบายทางด้านสาธารณสุขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Respect for Human Rights: Measurement and Implementation of Public Health Policy in Southeast Asia) โดยมีผู้นำเสนอ คือ
– เสียงจากประเทศไทย โดย ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
– เสียงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดย อาจารย์อับดุลสุโก คินอะ(ผู้เขียน) นักข่าว จากสำนักพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และประธาน Civil Society council of the Southernmost Thailand
– เสียงจากประเทศสิงคโปร์ โดย Dr. James Gomez, Regional Director, Asia Centre.
– เสียงจากประเทศอินโดนีเซีย โดย Dr. Suyani Indristuti , Assistant Professor.Faculty of Social and Political Sciences University of Jember.
– เสียงจากประเทศมาเลเซีย โดย Dr. Genjamin YH Loh, Senior Lecturer, School of Media and Communication, Taylor’s University Malaysia
– เสียงจากประเทศฟิลิปปินส์ โดย John Phillip Binondo, Assistant Professorial Lecturer, De La Salle University.
ดำเนินรายการโดย อาจารย์กชภพ กรเพชรรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการ ตลอดการดำเนินรายการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยมี ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร และ ผศ.บุญทิวา พ่วงกลัด คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กิจกรรมดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วม ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์กว่า 70 คน
#อนึ่งผู้เขียน ได้มีข้อเสนอแนะ”การละเมิดสิทธิมนุษยชนช่วงโควิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนี้
1. ระยะสั้นทำทันทีโดยขอให้ยุติการจับกุมควบคุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินช่วงโควิด
2. ระยะยาว
นักวิชาการมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า No Justice No Peace ซึ่งสะท้อนว่าความอยุติธรรมจะเป็นน้ำมันเครื่องล่อเลี้ยงอย่างดีในการซุ้มไฟใต้ให้เกิดกองใหม่ตลอด เมื่อดับไฟกองหนึ่ง ก็จะเกิดไฟอีกกอง ความอยุติธรรมดังกล่าวนั้นเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐานสากล หากจะดูข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้ที่ครบวงจรที่สุดคือข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีดังนี้
1. เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม
2. หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ (โดยเฉพาะช่วงโควิด)
3. ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม
4. ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.) ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด
5. ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต. ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย
นอกจากนี้เสนอให้ 1.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรมีบทบาทมากว่านี้ในคดีต่างๆโดยเฉพาะคดีที่ประชาชนสนใจมิใช่ปล่อยให้บทบาทนี้เป็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่อยู่ภายใต้องค์กร “หน่วยความมั่นคง”แม้จะมีคณะกรรมการดังกล่าวมาจากภาคประชาชนหลาย ภาคส่วน 2.บทบาทของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ควรทำงานเชิงรุกในประเด่นนี้ไม่ว่าการตรวจสอบอำนาจรัฐและหนุนเสริมความรู้และการขับเคลื่อนภาคประชาชน

6.พรบ.ป้องกันการซ้อมทรมาน
ไม่เพียงเท่านั้นแต่หากเป็นไปได้ ต้องนำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล
#สิ่งสำคัญการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในพื้นที่จะยังไม่เกิดขึ้นหากรัฐราชการรวมศูนย์ส่วนกลางยังถูกปฏิรูปและแก้ไขเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ

 11,300 total views,  4 views today

You may have missed