อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
13 สิงหาคม 2564นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาฯ สมัชชาประชาชนภาคใต้ แจ้งต่อผู้เขียนว่า “เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพื่อร่วมกันแก้โควิด ผ่านไปรษณีย์”
โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
#ที่มาและความสำคัญ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและกระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนผู้ป่วย และอัตราการเสียชีวิตของประชาชน ถือเป็นสถานการณ์ที่อาจจะเกินกำลังที่รัฐบาลจะบริหารจัดการได้เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการใช้อำนาจรวมศูนย์ การยึดติดอยู่กับระเบียบกฎหมายมากเกินไป รวมถึงการออกแบบการใช้งบประมาณที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติดังกล่าว(ทั้งงบแบบปกติและงบเงินกู้) ยิ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งทบทวน เพื่อนำไปสู่การสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีศักยภาพมากขึ้น
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ มีความเห็นเบื้องต้นว่า ทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ คือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริงกับทุกภาคส่วน รวมถึงการคลี่คลายกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์ ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการและการปรับแก้ระเบียบบางอย่างเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น(ตำบล อำเภอ จังหวัด)ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการเข้าไปจัดการหรือออกแบบแก้ไขกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในทุกระดับและทุกมิติได้เอง ดังนั้นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแบ่งการเป็น 4 ระดับ คือ
1. ระดับครัวเรือน ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมเบื้องต้น เพื่อรับมือการสถานการณ์โรคโควิดได้เอง ในมิติเรื่องการดำรงชีวิต อาหารการกิน การตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาล ทั้งยาหลักและสมุนไพร รวมถึงการศึกษาของบุตรหลาน
2. ระดับชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำแผนการรับมือโควิด จัดให้มีอาสาสมัครชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่นการเฝ้าระวัง และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ จัดให้มีศูนย์พักคอยและคลังอาหารชุมชน ทั้งนี้อาสาสมัครควรจัดให้มีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม
3. ระดับตำบล จัดให้มีแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดฯในพื้นที่ตำบล โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลัก และร่วมมือกับโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) ท้องที่ อาสาสมัครสาธารณสุช(อสม.) และองค์กรชุมชน ทั้งนี้ต้องจัดให้มีโรงพยาบาลสนามระดับตำบล และแผนการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้ รวมถึงการศึกษาของเด็กในพื้นที่
4. ระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้ช่องทางของ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เข้ามาสนับสนุนให้องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่นได้มีช่องทางในการเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆได้อีกทางหนึ่ง ทั้งเรื่องการจัดทำแผนการเฝ้าระวัง แผนการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อโรงพยาบาลหลักจะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนในการเข้าถึงสิทธิในการรับบริการจากรัฐ และการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างเยียวยา จึงมีข้อเสนอแนวทางการปฏิบัติติดังนี้
ข้อเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมาย
1. เพิ่มช่องทางและกลไกการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ในทุกระดับ
▪ รัฐบาลควรประกาศให้โรคระบาดโควิด – 19 เป็นโรคระบาดในมนุษย์ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และให้ทุกจังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯ พ.ศ.2550 ด้วย และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันโรคระดับท้องถิ่น โดยให้บริหารจัดการทุกมิติ โดยการอุดหนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยบริหารจัดการเต็มระบบ ทั้งการดูแลอาสาสมัคร การดูแลผู้ป่วย ผู้ถูกกักตัว ผู้อยู่ในศูนย์พักคอย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และจัดตั้งโรงบาลสนามระดับตำบล
▪ รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนกลไกการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโรคโควิด – 19 แบบมีส่วนร่วมของจากทุกภาคส่วน ทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นกลไกกลางในพื้นที่นั้นๆอย่างเป็นระบบ เพื่อดำเนินการภารกิจอย่างน้อยใน 4 เรื่อง คือ
– ระบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
– ระบบศูนย์กักตัวในชุมชน (Community Isolation)
– ระบบโรงพยาบาลสนาม
– ระบบโรงพยาบาลชุมชน
2. การฟื้นฟู เยียวยา เศรษฐกิจฐานรากและสังคมอย่างมีส่วนร่วม
▪ รัฐบาลควรทบทวนบทเรียนการใช้งบประมาณเงินกู้ที่ได้อนุมัติไปแล้ว ว่ามีโอกาสหรือข้อจำกัดอย่างไร โดยเฉพาะงบที่ใช้กลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของแต่ละจังหวัด ว่าได้มีการใช้งบประมาณตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร
▪ รัฐบาลต้องปรับวิธีการใช้งบประมาณเงินกู้( 5 แสนล้าน)เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง โดยควรการกำหนดรูปแบบ/วิธีการใช้งบประมาณในลักษณะ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก” ที่ต้องออกแบบให้เป็นการบริหารแบบมีส่วนจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้จะต้องกำหนดระเบียบวิธีการใช้งบประมาณแบบพิเศษให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเพื่อให้ชุมชนสามารถข้าถึงงบประมาณได้ง่ายขึ้น ทั้งการออกแบบแผนงานและการใช้งบประมาณได้ตรงตามความต้องการและบริบทของพื้นที่
▪ รัฐบาลต้องมีกลไกการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อย่างเช่นปัญหาราคาผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำ หรือปัญหาระบบขนส่ง(โลจิสติกส์)ในสถานการณ์โควิด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ในเวลาที่รวดเร็วและราคาถูก
▪ การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดยุคใหม่ให้กับภาคเกษตรกรและภาคชุมชนต่างๆที่มีผลิตภัณฑ์สามารถจัดจำหน่ายสินค้าจากชุมชนและท้องถิ่นไปสู่ภายนอก
3. ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพ การป้องกัน การเฝ้าระวังตัวเองจากโรคโควิด
▪ รัฐบาลควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ เพื่อกระจายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม และหากจำเป็นต้องมีวัคซีนทางเลือกสำหรับผู้ที่พร้อมจ่าย รัฐจะต้องกำหนดราคากลางสำหรับการช่วยเหลือบางส่วน โดยต้องไม่ปล่อยให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนกับประชาชนทุกกลุ่มทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนหรือสัญชาติใดก็ตาม
▪ รัฐบาลควรดำเนินมาตรการให้เกิดการผลิต กระจาย ชุดตรวจโควิดที่มีคุณภาพ (Antigen Test Kit)เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยง่าย และควรกำหนดให้มีสถานที่จำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกร เกิดขึ้นและกระจายในทุกพื้นที่ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด
▪ รัฐบาลควรให้ความสำคัญการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยสมุนไพร ที่มีการค้นพบและเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ด้วยการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การแปรรูป การผลิต รวมถึงการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถปลูกสมุนไพรชนิดต่างๆ อย่างหลากหลายได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาในรูปแบบดังกล่าวได้ง่ายในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
4. การพัฒนาคุณภาพชีวิต และลดความเดือดร้อนของประชาชน
▪ ด้านการศึกษา : รัฐบาลควรเร่งกำหนดมาตรการลดข้อจำกัดด้านการจัดการศึกษา ทั้งด้านระบบออนไลน์ อุปกรณ์การเรียน ที่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และ มชน ร่วมกันจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาระดับครอบครัว (Home School) และ การศึกษาระดับชุมชน (Community School) โดยจัดสรรงบประมาณ(จากเงินกู้) เพื่อจัดจ้างนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ ในการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องถิ่นของตนในช่วงทีมีการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้อาจจะมีการกำหนดพื้นที่การเรียนรวมเป็นจุดเล็กๆในชุมชน ในกรณีชุมชนที่มีเด็กเรียนร่วมกัน ๔-๕ คน หรืออาจจะมีระบบสนับสนุนรูปแบบต่างๆเพื่อให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนให้กับบุตรหลานตนเองได้
▪ ด้านการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ : รัฐบาลควรผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากร และการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนที่ยังไม่มีข้อสรุปในทุกกรณี รวมทั้งควรชะลอหรือยุติการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ทั้งในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพไปพลางก่อนจนกว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลาย
▪ ด้านการสิทธิและเสรีภาพ : รัฐบาลควรยุติการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้และกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ….. ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคใต้ ได้รับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้กลุ่มต่างๆ หลายครั้ง จนสรุปเป็นข้อเสนอดังกล่าวต่อรัฐบาล ด้วยเห็นว่าทางออกต่อปัญหาดังกล่าวนี้ จะไม่สามารถแก้ไขได้หากรัฐบาลไม่ปรับระบบการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังถูกรุกหนักในขณะนี้ ข้อเสนอเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกให้กับประเทศโดยรวม แต่หลักการสำคัญคือการกระจายอำนาจหรือกระจายบทบาทให้กับชุมชนท้องถิ่นได้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเชื่อว่าจะเป็นทางออกสำคัญให้กับรัฐบาลและกับสังคมไทยโดยรวมได้
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการ และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(สมบูรณ์ คำแหง)
(ลงนามแทน)ประธานสมัชชาประชาชนภาคใต้
องค์กรที่ร่วมลงชื่อ
1. สมัชชาประชาชนภาคใต้
2. มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
3. มูลนิธิชุมชนไท
4. เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย
5. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ภาคใต้
6. สภาประชาสังคมชายแดนใต้
7. เครือข่ายสภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส ภาคใต้
8. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคใต้
9. ชบวนการสร้างเสริมสุขภาคประชาชน
10. สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้
11. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
หมายเหตุ
1.
ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนภาคใต้ได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้แทนพรรคการเมือง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้วิกฤติโควิด
วันที่ 9 สิงหาคม 64 เวลา 18.00 – 20.00 น.
(ชมย้อนหลังใน https://www.facebook.com/210303226370240/videos/495442791768556/)
2.
: ประสานงานนายสมบูรณ์ คำแหง เลขาฯ สมัชชาประชาชนภาคใต้ โทรศัพท์ 096-7205076
ดูที่นี้..ข้อแสนอประชาชนภาคใต้เรื่องโควิด-ฉบับเผยแพร่
17,753 total views, 4 views today
More Stories
ด่วน ! INC ออกแถลงการณ์ ต่อรัฐบาล ยกเลิกใช้ พรก.ฉุกเฉิน จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนุนพูดคุยโต๊ะเจรจาสันติภาพ (มีคลิปแถลง)
แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะผู้บริหารทางการศึกษาเอกชน,ผู้บริหารมูลนิธิตาดีกา แดนใต้ ร่วมหารือแก้ปัญหาพื้นที่เพื่อสันติสุข เน้นย้ำ ใกล้ถึงถึงเดือนศิลอด ขอทุกฝ่ายจับมือ “รอมฎอนสันติ” ไม่เกิดเหตุรุนแรง เดือนอันประเสริฐ
กลุ่มพลังมวลชน ผู้นำศาสนา นักเรียน นักศึกษา รวมกว่า 500 คน ”รวมพลังต่อต้านความรุนแรง” ทุกรูปแบบ หน้าแฟลตตำรวจนราธิวาสจุดเกิดเหตุบอมบ์