กันยายน 21, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ข้อคิดจากการรักษาคนไข้:เทียบกับการแก้ปัญหาโควิดในมุมมองมุสลิม นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า

แชร์เลย

ผมมีคนไข้คนหนึ่งเป็น เบาหวานความดัน หัวใจ ไตวาย แผลเบาหวาน มีแผลเนื้อตายที่เท้า 2 ข้าง ตัดไปบางส่วนแล้ว ก็ยังมีการตายเพิ่ม ขณะกำลังรักษากลับเกิดมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบต้องขยายด้วยขดลวดและให้ยาละลายลิ่มเลือด ต่อมากลับมีโรคถุงน้ำดีอักเสบขึ้นมาด้วย มีติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องผ่าตัดใหญ่โอกาสเสียชีวิตสูงมาก คนไข้จึงย้ายจาก รพ เดิมมายัง รพ ที่ผมอยู่
เมื่อมาถึงพบว่าคนไข้อาการหนักและผ่าตัดใหญ่ไม่ไหว ความดันตกตลอดเวลาต้องให้ยาเพิ่มความดันช่วย แต่ก็รอไม่ได้ เราจึงใช้การเจาะถุงน้ำดีเอาที่อุดตันและอักเสบออกแล้วใส่ท่อระบายเอาไว้
หลังผ่าตัดอาการดีขึ้น เท่ากับช่วยคนไข้พ้นอันตรายไปเปลาะหนึ่ง
แต่ต่อมาแผลที่เท้ากลับแย่ลงเพราะไม่มีเลือดมาเลี้ยง ความดันเลือกตกต้องใช้ยาช่วยตลอดแผลที่เท้ามีเนื้อตายมากขึ้น จึงต้องตัดขาผู้ป่วยทิ้ง เพื่อรักษาชีวิต
แต่ปัญหาคือ การตัดขาต้องดมยาสลบ และต้องตัดเหนือเข่า หรือใต้เข่า ซึ่งแต่ละวิธีจะต้องตัดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ จะเสียเลือดจำนวนมาก ต้องดมยาสลบ ศัลยแพทย์ผ่าตัดบอกต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือดก่อนจึงผ่าได้ ถ้าผ่าโดยไม่หยุดยาคนไข้จะเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก และมีความเสี่ยงจากดมยาอาจจะเสียชีวิตบนเตียงผ่าตัด
แพทย์โรคหัวใจบอกผู้ป่วยเพิ่งใส่ขดลวด ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือดได้ ถ้าหยุดผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
แพทย์โรคติดเชื้อบอกต้องรีบผ่าตัดรอไม่ได้ไม่อย่างนั้นจะติดเชื้อจนตาย
สถานการณ์อยู่ในสภาวะที่ต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง
แพทย์ต่างมาปรึกษาผมเพื่อให้คุยกับญาติเพื่อตัดขา และยอมรับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงมาก
ญาติผู้ป่วยสับสนไม่รู้จะไปทางไหนดี ต้องการให้รักษาแต่ไม่อยากให้คนไข้เสียชีวิต แต่ก็ไม่รู้วิธีที่จะช่วยเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
ผมจึงจัดประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ร่วมกับญาติ เพื่อมาปรึกษากัน หาทางออกที่ดีที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด
ผลการปรึกษา ตกลงว่า เราจะตัดขาตรงบริเวณข้อเข่าพอดี เพราะบริเวณนั้นมีกล้ามเนื้อน้อยที่สุด ถึงแม้แผลจะไม่สวยเหมือนตัดเหนือเข่า หรือใต้เข่า ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการใส่ขาเทียม แต่มีข้อดีขึ้น เสียเลือดน้อย ไม่ต้องดมยา ไม่ต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือด ถือเป็นความเสี่ยงที่น้อยที่สุด
หลังผ่าตัดผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ไม่มีอาการแทรกซ้อน การติดเชื้อหายไป ความดันเริ่มปกติ และตอนนี้ผู้ป่วยสามารถย้ายออกจาก ไอซียูได้แล้ว

สิ่งที่เป็นอุทธาหรณ์สำหรับเรื่องนี้คือ การแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยาก ซับซ้อนเป็นสิ่งที่ทำได้แต่มีเงื่อนไขดังนี้คือ
1. ต้องฟังข้อเท็จจริงจากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้ทุกๆฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดร่วมกัน
2. ต้องร่วมกันแก้ปัญหา อย่าให้เอนไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทางที่ทุกๆฝ่ายเห็นร่วมกันได้ ไม่มีใครได้หมด และไม่มีใครเสียหมด
3. เมื่อมีทิศทางที่ทุกๆฝ่ายเห็นร่วมกันได้แล้วก็เดินไปให้สุด
4. มอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้า แล้วจะสำเร็จ อินชาอัลลอฮ์
ลองเอาข้อคิดนี้ไปเทียบกับการแก้ปัญหาโควิดในประเทศเราแล้ว เราอาจจะได้เห็นทางออกที่ดีกว่านี้ก็ได้

 6,918 total views,  2 views today

You may have missed