ผมมีข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิดมานานพอสมควร แต่ก็ยังไม่ได้เขียน กังวลว่าจะถูกตำหนิจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่อยู่ในมือ
วันนี้ จึงขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ผมกังวลแค่สองเรื่องก่อน เป็นการทดสอบตลาดทางความคิดว่าจะพอยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์กันได้ไหม
เรื่องแรกคือภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ที่ว่ากันว่าถ้าฉีดวัคซินให้ได้ถึง 70% ของประชากรแล้ว คนที่ฉีดและมีภูมิคุ้มกันจะเป็นเกราะกำบังคุ้มกันคนที่ไม่ได้ฉีดอีก 30%
เรื่องที่สองคือสถานะการณ์การให้บริการฉีดวัคซิน ในช่วงอีกหลายเดือนข้างหน้า
เรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อ 70% ของประชาชนฉีดวัคซิน ผมเคยถามหลายคนว่าตัวเลขนี้ได้มาอย่างไร ก็ไม่มีใครตอบได้จริง ๆ เสมือนว่าเป็นตัวเลขที่บอกต่อ ๆ กันมา แล้วกลายเป็นคาถาที่หลายคนหลายฝ่ายท่องจำกันขึ้นใจ กำหนดเป็นเป้าหมายกันไว้
แต่การทำอะไรโดยไม่เข้าใจจริง จำจากที่เขาบอกเล่ากันมาเป็นเรื่องอันตรายมาก
สาเหตุที่ผมตั้งคำถามก็เพราะโครงสร้างประชากรไทยที่ยังมีอายุไม่ถึง 18 ปี มีมากกว่า 22% ของคนไทย 66-69 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีวัคซินให้ ซึ่งเมื่อรวมกับคนชราที่อายุมากและสุขภาพร่างกายไม่เอื้อ ทำให้เจ้าตัวและลูกหลานไม่กล้าให้ฉีดวัคซินแล้ว
กลุ่มคนที่ยังไง ๆ ก็ไม่ได้ฉีดหรือฉีดวัคซินไม่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 25% เหลือคนที่ฉีดได้แค่ 75%
แปลว่ารัฐจะต้องบริหารจัดการให้ คน 70 ในทุก ๆ 75 คน ได้ฉีดวัคซิน หรือยอมฉีดวัคซิน
ความกลัวผลข้างเคียงของวัคซินเป็นปัญหาสำคัญครับ มีบางชุมชนที่ผมรู้จักมีคนยอมลงทะเบียนแค่สองสามคนจากคนในชุมชนหลายร้อยคน
ซึ่งการทำให้คนที่กลัวหรือหวาดระแวงผลข้างเคียงหายกลัวหายหวาดระแวง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมหวาดเสียวแทนรัฐว่าจะทำไม่สำเร็จ
ถึงตอนนั้น ตัวเลข 70% ก็จะเป็นแค่ตัวเลขในฝันที่ไปไม่ถึง และภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะไม่เกิดขึ้นจริง
อีกเรื่องคือสถานะการณ์การให้บริการฉีดวัคซิน ในช่วงอีกหลายเดือนข้างหน้าที่จะต้องสอดคล้องทั้งจำนวนวัคซินที่จะหามาได้ จำนวนบุคลากร กับจำนวนคนที่ต้องการฉีด
จำนวนวัคซินทะยอยเข้ามาเป็นหลายระลอก แอสตร้าเซเนก้าบ้าง ซิโนแวคบ้าง ซึ่งเราแทบจะควบคุมไม่ได้ว่าจะพอเพียงกับความต้องการหรือไม่
แต่อย่างน้อยก็พอจะรู้ได้ว่าในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง จะมีวัคซินแต่ละชนิดอยู่มากน้อยเพียงใด เป็นด้าน Supply ครับ
แต่ในด้าน Demand ที่สำคัญคือกลุ่มคนที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว (ถึงวันนี้น่าจะประมาณ 2 ล้านคน) ซึ่งจะต้องได้เข็มที่สอง ในวันเวลาที่แน่นอน มิฉะนั้นที่ลงทุนฉีดไปแล้วก็แทบจะสูญเปล่า
รองลงมาคือกลุ่มคนที่อยากฉีด ไม่กลัว ไม่หวาดระแวง ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขลงทะเบียนแล้วหลายล้านคน
คนสองกลุ่มนี้รัฐน่าจะรู้จำนวนแน่นอนแล้ว รู้กำหนดวันเวลาแล้ว (นัดหมายฉีดวัคซินทั้งเข็มสอง และเข็มหนึ่ง) และจำนวนหนึ่งจะเข้ามารับบริการฉีดวัคซินพร้อม ๆ กันแน่
แล้วเมื่อรวมกับกลุ่มที่สามที่จะ Walk-in เข้ามาขอรับบริการซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะมาที่ไหนกันบ้าง และจะมีกี่คนแล้ว
จะเกิดปัญหาว่าจำนวนวัคซินแต่ละชนิดในขณะใดขณะหนึ่งจะมีพอหรือไม่ จำนวนบุคลากรจะพอหรือไม่ คงโกลาหลพอดู
แล้วรัฐได้เตรียมการแก้ไขไว้อย่างไร ได้แค่สงสัย
คงจบแบบทิ้งเป็นคำถามไว้แค่นี้ครับ
ป.ล. ตอนนี้สถานะการณ์ในตะวันออกกลางกำลังร้อนแรงแม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงแล้ว อยากเขียนอะไรเกี่ยวกับปัญหาไซออนนิสต์อิสราเอล กับปาเลสไตน์ โดยมองแบบนักเศรษฐศาสตร์บ้าง (เพิ่มจากมุมมองทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์) แต่ต้องคิดให้มากเหมือนเรื่องโควิด
สังคมวันนี้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด ตอบโต้กันด้วยความรุนแรงทางคำพูดและการกระทำในหลาย ๆ เวทีครับ
6,608 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.