เมษายน 25, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#ซะกาตฟิตเราะห์จ่ายด้วยการโอนเงินคือหนึ่งทางออกช่วงโควิด-19

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


คำว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺ (ทานบังคับ) คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งบังคับแก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้นจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดยจ่ายเพื่อตัวเขาเองและเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน รวมทั้งคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาด้วย

สำหรับปริมาณที่ต้องจ่ายซะกาต ได้แก่ คนละ 1 ศออฺ (เป็นมาตรตวงในภาษาอาหรับ) หรือประมาณเกือบ 4 ลิตร (หรือบางทัศนะ บอกว่า 2.5 หรือ 2.6 หรือ2.7 ก.ก.)ของจำนวนอาหารหลักในท้องถิ่นนั้นๆ หรือคิดเป็นเงินก็ตกราคาประมาณ 80 บาท เช่น ในประเทศ อาหารหลักไทยคือข้าวสาร ก็ต้องจ่ายซะกาตด้วยข้าวสาร เป็นต้น โดยจะจ่ายให้แก่บุคคลคนยากจน สำหรับมัซฮับชาฟิอีคนบ้านเราสามารถกับกับใน8 จำพวก(ผู้มีสิทธิรับซะกาต

1. คนยากไร้ (ฟากีร) ได้แก่ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีค่าเลี้ยงชีพ หรือมีแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี

2. คนขัดสน (มิสกีน) ได้แก่ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน

3.เจ้าหน้าที่ซะกาต (อามิล )ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ได้รับการแต่งตั้งทำหน้าที่ เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต

4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม – บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก

จำพวกแรก : ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา

จำพวกที่สอง : ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง หรือหวังในการเข้ารับอิสลามของคนใกล้ชิด และพวกพ้องของเขาเป็นต้น.

5. ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้ สามารถมอบซะกาตให้เขาได้ เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่า สามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน.

6. คนมีหนี้สิน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ

–ลักษณะแรก : ผู้เป็นหนี้สินของตัวเอง : ได้แก่ ผู้ที่หยิบยืมทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อกิจการส่วนตัวของเขา และไม่มีลู่ทางที่จะใช้หนี้สินนั้นได้ คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น

–ลักษณะที่สอง : ผู้เป็นหนี้สินให้ผู้อื่นได้แก่: บุคคลที่กู้ยืมเพื่อขจัดปัญหาในสังคม คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้ เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม.

7. ในวิถีทางของอัลลอฮฺ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังนั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังบางท่านได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)

8. คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทาง จนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้น คนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น)
อย่างไรก็แล้วแต่การจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ มีทัศนะเดียวคือ อิหม่าม อบูฮานีฟะห์เท่านั้นที่ถือว่า จ่าย เป็น เงินแทนได้ และผู้รู้ร่วมสมัย โลกมุสลิม และฟัตวามาเลเซีย รวมทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีล่าสุดตามทัศนะอบูฮานีฟะห์(ที่สฬ 0001/168 วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 )ก็อนุญาตแทนได้เพราะสนองความต้องการของผู้รับมากที่สุด ในการจะนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะยุคโควิด ยิ่งสะดวกใหญ่ ในการโอนให้ผู้รับ ในขณะเดียวกันก็สะดวกสำหรับมัสยิด ที่มีการจัดการบริหารกองทุน ซะกาต โดยไม่ต้องเสียเวลา คน งบประมาณ ซื้อขายข้าวสารซะกาตอันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแทนที่ที่จะถึงมือคนยากจน และผู้มีสิทธิ์รับมากขึ้นเป็นต้น
อย่างไรก็แล้วแต่ในบ้านเราส่วนใหญ่ยึดมัซฮับชาฟิอีไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นเงิน หากจะจ่าย ก็ขอให้ ตั้งเจตนา เช่น “ข้าพเจ้าจ่ายซะกาตฟิตเราะห์นี้ เป็นจำนวนเงิน จำนวน 80 บาทแทนข้าวสารตามทัศนะอิหม่ามอบูหะนีฟะห์เพื่ออัลอฮ์ตาอาลา”
หมายเหตุ
1.
บาบออิสมาอีลเสอร์ปัญญังให้ทางออกหากจะจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ด้วยเงิน
https://fb.watch/5kQzRHNeUt/
2.หนังสือซะกาตสวัสดิการชุมชนของผู้เขียน
http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/pdf/books/1286.pdf
3.หลักการจ่ายซะกาตฟิตเราะห์ด้วยเงินที่มาเลเซีย
https://www.facebook.com/269868566372223/posts/999046483454424/?d=n
4.จ่ายซะกาตฟิตเราะห์ด้วยเงิน:ทัศนะชัยค์ ดร.ยูซุฟ อัลกอรอฎอวี แปลโดย ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด
https://www.facebook.com/100006447947980/posts/2755447931346778/?d=n

 18,577 total views,  2 views today

You may have missed