ดอกไม้หลากสีในสังคมมุสลิม : พื้นที่ของเหตุผลในศาสนา “ว่าด้วยความเห็นต่างในเดือนรอมฎอน”
ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด
ในโลกยุคออนไลน์ ความสะดวกและความรวดเร็วทำให้เห็นถึงความตื้นลึกของข้อมูลที่เผยแพร่ออกไป รวมถึงคุณวุฒิ ทัศนคติ ตลอดจนวุฒิภาวะของฝ่ายต่างๆ ได้อย่างแจ่มชัด
สถานการณ์ในเดือนรอมฎอนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดก็เช่นกัน มีประเด็นความเห็นต่างเกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางศาสนาหลายอย่างที่สนใจ
บางสำนักบอกว่าการเริ่มต้นเดือนรอมฎอน ต้องดูเดือนด้วยตา ตามหะดีษ เพราะ “วิธีการดู” เป็นเรื่องอิบาดัต-พิธีกรรมทางศาสนา ที่ห้ามเปลี่ยนแปลง ดังเช่น แนวปฏิบัติของโลกอาหรับ รวมถึงโลกมลายู
บางสำนักบอกว่า ให้ใช้การคำนวณตามหลักดาราศาสตร์ยุคใหม่ เพราะการคำนวณด้วยระบบเทคโนโลยีในปัจจุบันเม่นยำกว่า และยังทำให้เห็นว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เท่าทันความเจริญของทุกยุคสมัย ไม่ใช่ศาสนาที่เหมาะสมกับโบราณสมัยเท่านั้น
ฝ่ายนี้เห็นว่า ตามหลักศาสนา”วิธีการดู” เป็นเรื่องของเครื่องมือเทคโนโลยี มากกว่าที่จะเป็น อิบาดัต-พิธีกรรมทางศาสนา ดังเช่น แนวปฏิบัติของตุรกีและองค์กรศาสนาอิสลามในยุโรป
บางสำนักฟันธงให้จ่ายซะกาตฟิตร์ด้วยอาหารหลักเท่านั้น จ่ายเป็นเงินเป็นโมฆะ ไม่เศาะห์ เพราะมีหะดีษระบุ
แต่บางสำนักฟันธง โลกยุคนี้จ่ายซะกาตฟิตร์ด้วยเงินตามมูลค่าอาหารเหมาะสมกว่า ให้จ่ายเป็นเงินดีกว่า เพราะมีความจำเป็นยิ่งกว่าอาหาร เป็นปัจจัยหลักตามยุคสมัย กิยาสเทียบได้กับอาหารในอดีตตามหะดีษ
ความเห็นต่างสำนักวิชาการใหญ่ระดับมาตรฐาน บิ๊กเนมของโลกมุสลิม มีทั้งสองฝ่าย
ยากที่จะหักล้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้หันมายอมรับอีกฝ่าย
เพราะเป็นความเห็นต่างระหว่างฝ่ายเหตุผลนิยม กับฝ่ายตัวบทนิยม เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกสังคม เชื้อชาติและศาสนา
ในศาสนาอิสลาม เกิดเป็นสำนักคิดต่างๆ ที่มีความเข้มข้นในเรื่องนี้ต่างกัน
ในวงวิชาการอิสลามสายประวัติศาสตร์เรียกว่า ความต่างระหว่าง อะห์ลุลหะดีษ เป็นฝ่ายตัวบทนิยม กับ อะห์ลุรเราะย์ เป็นฝ่ายเหตุผลนิยม
สืบเนื่องจากยุคท่านนบี ศอลฯ ในเหตุการณ์ที่อิหม่ามบุคอรีย์รายงานว่า ท่านนบี ศอลฯ บัญชาให้ไปทำสงครามกับยิวเผ่ากุรอยเซาะฮ์ในเวลาละหมาดบ่าย โดยสั่งว่าห้ามละหมาดเย็น-อัศรี่ จนกว่าจะเดินทางถึงไปยังที่หมาย
เมื่อออกเดินทาง ปรากฏว่าเวลาใกล้ค่ำแล้วก็ยังเดินทางไม่ถึงที่หมาย
ซอฮาบะฮ์บางส่วนจึงหยุดละหมาดอัศรี่ และเห็นว่า คำสั่งของท่านนบี ศอลฯ หมายถึงให้เร่งรีบเดินทาง
แต่อีกบางส่วนไม่ยอมละหมาด โดยเห็นว่า ท่านนบี สั่งห้ามไว้
เสร็จสิ้นสงคราม มีคนถามท่านนบี ศอลฯ ว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก
ท่านตอบว่า ถูกทั้งสองฝ่าย
ผลของความเห็นต่างเกิดเหตุการณ์มากมายที่น่าศึกษา
เช่น ระดับปราชญ์ใหญ่ๆ เห็นต่างกรณีการใช้น้ำดินชำระรอยน้ำลายสุนัข
บางส่วนเห็นว่า การใช้น้ำดินล้างรอยน้ำลายสุนัขเป็นพิธีกรรมทางศาสนา
แต่นักวิชาการใหญ่ๆ บางส่วนและสถาบันฟัตวามากมายเห็นว่า “ดิน” เป็นเพียงเครื่องมือที่พัฒนาได้ตามยุคสมัย ในอดีตเป็นเครื่องมือที่สะดวก แต่ปัจจุบันอาจใช้สบู่หรือน้ำยาก็ได้ อีกทั้งยังสะดวกกว่า
หรือความเห็นต่างของคนทั่วไป กรณีการแปรงฟันว่า ให้แปรงฟันด้วยไม้สิวาก-ไม้ข่อยตามหลักการเดิม หรือว่าใช้แปรงสีฟันและยาสีฟัน การใช้ไม้ข่อยเป็นพิธีกรรมทางศาสนา หรือเป็นเครื่องมือเทคโนโลยี
หรือหะดีษที่ให้ฝึกยิงธนู ว่าธนูเป็นพิธีกรรมทางศาสนา หรือเป็นเครื่องมือเทคโนโลยี
เป็นต้น
ความเห็นต่างที่วางถูกที่
ถือเป็นเจตนาของอัลลอฮ์ที่ทำให้มีขึ้น
เพราะเป็นความจำเป็นของชีวิตดุนยา
การมีมุมมองที่หลากหลายทำให้เกิดการพัฒนาที่สมบูรณ์
ทำให้เกิดการต่อยอด
ปิดจุดอ่อนที่มี
ทำให้โลกนี้มีสีสัน
แต่หากวางผิดที่
ก็หมายถึง “หายนะ” คำเดียว
8,510 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.