โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้ประเสริฐสุดแห่งบรรดานบีและเราะสูล ขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ครอบครัว วงศ์วาน เศาะหาบะฮฺและผู้เจริญรอยตามท่าน
แนวคิดสายกลางตามทัศนะอิสลามมีความสำคัญมากในสังคมมุสลิมทั้งไทยและต่างประเทศอีกทั้งสามารถการเผยแผ่หลักการอิสลามกับต่างศาสนิก ผู้เขียนและคณะจำนวน 13 ท่าน เข้าร่วมฝึกอบรม เรื่อง “ทางสายกลาง แนวทางการวินิจฉัยปัญหา และการเสวนาศาสนา” ระหว่างวันที่ 4-11 พฤษภาคม 2556 ซึ่งคณะที่ทางทางศูนย์ชัยค์อัลก็อรฎอวีย์เพื่อแนวคิดสายกลางประจำคณะอิสลามศึกษา ของมหาวิทยาลัยหะมัดบินค่อลีฟะฮ กรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ได้สรุปตรงกันว่าแนวคิดนี้มีความสำคัญและควรได้รับการเผยแผ่ในสังคมมุสลิมประเทศไทย
สำหรับบทความวิชาการนี้ผู้เขียนจะศึกษาแนวคิดสายกลางด้านหลักศรัทธาต่อพระเจ้า “แนวทางการแก้ปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างด้านหลักศรัทธาเกี่ยวกับคุณลักษณะขงอัลลอฮฺ” ซึ่งหวังว่าจะแก้ปัญหาการแตกแยกในสังคมมุสลิม
โดยมีข้อสรุป: วิธีการแก้ปัญหาความแตกแยกผ่านแนวคิดสายกลางดังนี้
1. การกลับไปหากุรอานและหะดีษ
การแก้ปัญหาทุกอย่างในอิสลาม ถือว่าจะต้องไปหากุรอานและหะดีษ อันเนื่องมาจากเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลาม ดังที่อัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา)ได้ตรัสว่า
النسأ : 59
ความว่า โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺและเชื่อฟังเราะสูลเถิด และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและเราะสูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสุดท้าย นั้นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และเป็นการกลับไปที่สวยงามยิ่ง ( อันนิสาอ์ : 59 )
การกลับไปหากุรอานและหะดีษ เป็นสิ่งที่ดี และควรสนับสนุนแต่การที่จะเข้าใจกุรอานและหะดีษก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเช่นกัน ดังนั้นผู้วิจัยมีทัศนะว่า ผู้ที่สามารถอธิบายกุรอานและหะดีษได้ด้วยตนเองนั้นจะต้องมีความรู้ในสาขาวิชาดังต่อไปนี้
1.วิชาอุลุมุลกุรอาน (ศาสตร์พิจารณากุรอาน) อุลูมุลหะดีษ (ศาสตร์พิจารณาหะดีษ)
2. วิชาอรรถาธิบายกุรอานและอรรถาธิบายหะดีษ
3. วิชาภาษาอาหรับและหลักภาษาอาหรับ
แต่หากเขาไม่มีความสามารถจำเป็นที่จะต้องถามผู้รู้ที่มีความสามารถในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่จะต้องยึดตามหลักฐานการนำเสนอ เพราะอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะ-ตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในกุรอานว่า
الأنبياء : من الآية 7
ความว่า “ ดังนั้นท่านทั้งหลายจงถามผู้รู้ หากท่านทั้งหลายไม่รู้” ( อัลอัมบิยาอ์ :-7 )
จากจุดนี้ ทำให้อุลามาอ์ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มีความสามารถในการเข้าใจตัวบทที่ต่างกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญในความแตกต่างทางความคิดเห็น
2. การกลับไปศึกษาแนวทางของกัลยาณชนมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ในสามศตวรรษแรกของอิสลาม เพื่อทราบข้อเท็จจริงว่าแนวทางของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร
การกลับไปศึกษาแนวทางของบุคคลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สมควร และสอดคล้องกับหะดีษ ของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอฺะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งทรงรับรองไว้
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم.. خيرامتىقرني ثم الذين يلونهم ثم الذين يلونهم. رواه البخاري
ความว่า “ประชาชาติที่ดีที่สุด คือ (ประชาชาติซึ่งมีชีวิตอยู่ใน)ศตวรรษของฉัน และบรรดาผู้ต่อจากฉัน แล้วบรรดาผู้ที่ต่อจากเขาเหล่านั้นแล้วบรรดาผู้ที่ต่อจากเขาเหล่านั้น” (บันทึกโดย บุฆอรี หมายเลข 3650) และท่านนบีมุฮัมมัดได้กำชับแก่ประชาชาติของท่านอีกว่า
قال الرسول الله صلى الله عليه وسلم… فعليكم بسنتي وسنة الخلفاء المهديين الراشدين رواه ابن ماجه
ความว่า ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามแนวทางของฉันและของเคาะลีฟะฮฺอัรฺรอชิดีน
ผู้ได้รับการชี้นำ บันทึกโดย อิบนุมะญะฮฺ หมายเลข 42 (quoted in al-Sanadi , 1997 :1/31 )
3. ยึดมั่นในความเป็นพี่น้องกัน
ความรู้สึกเป็นพี่น้องกัน โดยไม่แยกเชื้อชาติ วงศ์ตระกูล และสีผิว ถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปบ้างแต่อยู่ภายใต้หลักเดียวกัน คือ ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺา-ลา) และนบีมุฮัมมัด(ศ็อลลัลลอฮูอฺะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุนและเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายที่ทะเลาะกันปรองดองก ซึ่งสอดคล้องกับพระได้ตรัสของอัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ซึ่งได้ตรัสว่า
الحجرات :10
ความว่า “อันความจริงแล้ว บรรดาผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงทำดีระหว่างพี่น้องของท่าน และพวกท่านทั้งหลายจงยำเกรง ต่ออัลลอฮฺ เพื่อว่าพวกท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จ ( อัลหุญุรอต : 10)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งแนวคิดสะลัฟ และคอลัฟต่างก็เป็นผู้ที่ศรัทธาต่อองค์อัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ทั้งสิ้น เพียงแต่แตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดเท่านั้น ดังนั้น หน้าที่ผู้ศรัทธาคือรักกันและทำดีซึ่งกันและกัน ซึ่งอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ยังเรียกร้องให้เราอย่าแตกแยกกัน
آل عمران : من الآية 103
ความว่า และท่านทั้งหลายจงยึดถือศาสนาของอัลลอฮฺโดยพร้อมเพรียงกัน และจงอย่าแตกแยกกัน (อาลิอิมรอน : -103)
หลักฐานจากกุรอานเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ให้มุสลิมทุกคนสามัคคีและห้ามแตกแยกหรือทะเลาะกัน และอุลามาอ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกเห็นสอดคล้องกันว่า การทะเลาะ และการแตกแยกเป็นบาปใหญ่และทำลายสังคม ในขณะเดียวกันความแตกต่างทางความคิดเห็นภายใต้หลักใหญ่เดียวกัน เป็นที่อนุมัติ ดังนั้นการแก้ปัญหาความแตกแยกต้องสร้างจิตสำนึก ของความเป็นพี่น้องกันในอิสลาม และทุกคนจะต้องรักพี่น้องของเขา เสมือนกับรักตัวเอง
ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า
عن انس بن مالك عن النبى صلى الله عليه وسلم قال لايؤمن أحدكم حتى يحب لأخيه ما يحب لنفسه. رواه مسلم
ความว่า “จากท่านอนัส บิน มาลิก กล่าวว่าท่านเราะสูล ทรงตรัสว่า ความศรัทธาของผู้หนึ่งผู้ใด ยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่เขายังไม่รักพี่น้องของเขาเสมือนกับรักตัวเอง” บันทึกโดยมุสลิมในKitab al-Iman Bab al-Dalil ala an min Khisal al-Iman an Yuhib li Akhihi al-Muslim ma Yuhib li Nafsih min al-Khair หมายเลข 71
4. จัดให้มีการประชุม เพื่อปรึกษาหารือระหว่างอุลามาอ์ ถึงแม้จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน
การจัดให้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือนั้น ถือว่าสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ดังที่อัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัส
الشورى : من الآية38
ความว่า “และบรรดาผู้ตอบสนองต่อองค์อภิบาลของพวกเขาทั้งหลายและดำรงการละหมาด อีกทั้งการงานของพวกเขามีการประชุมระหว่างพวกเขาทั้งหลาย”( อัชชูรอ : -38 )
การประชุมกันนั้น จะต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ซึ่งบางครั้งการพูดถึงความแตกต่างทางความคิด แน่นอนจะต้องมีการนำหลักฐานทางศาสนามาหักล้างกันอย่างแน่นอน และทั้งสองฝ่ายมีจุดหมายเดียวกัน คือเรียกร้องสู่อัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ดังนั้นอัลลอฮฺจึงได้กำหนดวิธีการพูดคุยไว้ว่า
النحل : من الآية 125
ความว่า “จงเรียกร้องไปสู่แนวทางแห่งองค์อภิบาลของเจ้า ด้วยวิทยปัญญา และตักเตือน และจงตอบโต้พวกเขาด้วยการใช้หลักการที่ดีที่สุด” ( อันนะหฺลุ : -125 )
5. จัดตั้งองค์กรหรือใช้องค์กรที่มีอยู่แล้ว เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางความคิดเห็น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
อัลลอฮฺ(สุบหานะฮูวะตะอฺาลา)สนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อเรียกร้องสู่ความดี และละเว้นความชั่ว
آل عمران : 104
ความว่า “และจงให้มีจากพวกเจ้า ซึ่งประชาชาติกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เรียกร้องไปสู่ความดีงาม และใช้ในการกระทำแต่ความดี และห้ามจากความชั่ว และพวกเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้ได้ประสบชัยชนะ” (อาลิอิมรอน :104)
6. การยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็นระหว่างอุลามาอ์ และแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันในสังคม
จากการศึกษาทัศนคติอุลามาอ์ในอดีต เกี่ยวกับการอธิบายโองการกุรอานและหะดีษ
ศิฟาตนั้น อุลามาอ์มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกเป็นสองแนวคิด คือแนวคิดสะลัฟและคอลัฟ
แต่ละแนวคิดมีเหตุผลทางศาสนาสนับสนุน เหตุการณ์ดังกล่าวได้พัฒนาสู่การไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิดระหว่างกัน และนำไปสู่การวิภาษแนวคิดตรงกันข้าม ซึ่งเป็นเหตุนำสู่การแตกแยกในสังคม
เมื่อความแตกต่างยังคงอยู่อย่างนี้ตลอดไป สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคม เพื่อป้องกันความแตกแยก คือการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่วิภาษซึ่งกันและกัน และไม่มีอคติต่อกัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานการแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแก้ปัญหาความแตกแยกของอิหม่ามหะสัน อัลบันนา (ค.ศ.1906-1949) ที่นำเสนอต่อสังคมอียิปต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกำลังเผชิญความแตกแยกของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะว่า น่าจะนำมาใช้ในสังคมไทยในภาพรวมและจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ
อิหม่ามหะสัน อัลบันนา (al-Banna, 1992 : 26) กล่าวว่า “การที่จะสอนให้ทุกคนมีความคิดเห็นเดียวกันหมดในเรื่องปลีกย่อยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเราควรร่วมมือในสิ่งที่เราเห็นด้วย และขออนุญาตไม่ขอร่วมมือในสิ่งที่เรามีความคิดเห็นที่แตกต่าง และมั่นใจว่าความแตกต่างมิทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันขาดสะบั้นลง”
หมายเหตุ
1.ฟังคลิปสรุปเรื่องนี้ใน
(https://m.youtube.com/watch?v=K68R-l-H6fs&fbclid=IwAR39wWa7Wj0ubumrL_EP8OEZRXpM-Pb4l3dCohlSP4-yNAfX67uCf1uj1nY)
2.อ่านบทความวิชาการฉบับเต็มใน คลิ๊ก..
9,863 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.