มีนาคม 28, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#โจทย์การต่อต้านรัฐประหารพม่าต้องไม่ใช่เพื่อซูจี แต่ต้องเพื่อมวลมนุษยธรรมทุกคนทุกกลุ่ม และกระบวนการประชาธิปไตยคือทางออกที่ดีที่สุด

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


ชาวเมียนมาหลายหมื่นคน(บางรายงานนับแสนคน)”รวมใจเป็นหนึ่ง” ต่อต้านรัฐประหาร ไม่ว่าดารา-ชาวนา-นึกศึกษา-ป่าไม้-พนักงานธนาคาร ร่วมหยุดงานประท้วง อารยะขัดขืน เรียกร้องประชาธิปไตย

โดยการลงถนนติดต่อกันหลายวันตามเมืองใหญ่เริ่มตั้งแต่ในวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ เรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารและผู้นำทหารปล่อยนางอองซาน ซูจี และคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่แรงงานนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารกล่าวแถลงทางสถานีโทรทัศน์ประกาศกฎอัยการศึกพร้อมกล่าวว่า “การเลือกตั้งจะจัดขึ้นเมื่อใด แต่ย้ำข้อกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ที่พรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีชนะไปนั้น มีการโกงการเลือกตั้ง”อันเป็นเหตุผลเหมือนกับผู้นำรัฐประหารบ้านข้างเรือนเคียงเมียนมา ซึ่งแน่นอนผลกระทบทางการเมืองเมียนมาครั้งนี้สะเทือนสถานการณ์การเมืองไทยไม่น้อยเพราะเป็นคู่แฝดทางการเมืองที่สื่อไทยจับคู่ (โปรดดูบทความผู้เขียนในคู่แฝดรัฐประหารที่พม่ากับไทย
https://www.facebook.com/1245604111/posts/10225180858608974/?d=n)
ส่วนต่างประเทศนำโดยอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯลงนามคำสั่งเพิ่มมาตรการลงโทษนายพลที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารพม่าและครอบครัว อายัดทรัพย์สินทางการพม่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญในสหรัฐฯและกดดันให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังเพราะการยึดอำนาจครั้งนี้ และผู้นำสตรีนิวซีแลนด์ก็ประกาศคว่ำบาตรเมียนมาโดย จะชะลอเงินช่วยเหลือเมียนมา

อย่างไรก็แล้วแต่โจทย์การต่อต้านรัฐประหารเมียนมาต้องไม่ใช่เพื่อซูจี แต่ต้องเพื่อมวลมนุษยธรรมทุกคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าโรงฮิงยาหรือกลุ่มอื่นๆและกระบวนการประชาธิปไตยคือทางออกที่ดีที่สุด
ดั่งอาจารย์ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ จากประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
กล่าวว่า “
ผู้ประท้วงพม่าที่กำลังเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวอองซานซูจี อย่าลืมว่า ระบอบซูจีก็มีส่วนในการทำทารุณกรรมชาวโรฮิงญา ดังนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ไม่ใช่แค่การปล่อยตัวซูจี แต่ต้องรวมถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมให้โรฮิงญาด้วย แต่ที่เห็นตอนนี้ มีแค่ลูกหาบซูจีเท่านั้นที่เป็นชนชั้นกลางพม่าที่ไม่สนประเด็นชนกลุ่มน้อย”
เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลทหารเมียนมามีประวัติอันโฉกโชนด้านละเมิดสิทธิ์มนุยชนและมนุษยธรรม(โปรดดูบทความผู้เขียนใน https://prachatai.com/journal/2015/11/62397)
จากโลกสื่อโซเชี่ยลมีการแชร์ภาพทั้งโรฮิงยาและ ผู้นำกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) รัฐฉานเหนือชู 3 นิ้วต่อต้านรัฐประหารเมียนมา
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ รายงานว่า
“กลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามหยุดยิง NCA ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำทางการเมือง ประกาศยืนเคียงข้างในการก่อตั้งสหพันธรัฐตามระบอบประชาธิปไตย” กล่าวคือองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA-S EAO) และ คณะทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) มีการประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 ซึ่งพลเอกเจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ในฐานะประธาน PPST ประชุมผ่านออนไลน์ ร่วมกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ร่วมลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ NCA มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองและกระบวนการสันติภาพในเมียนมา ซึ่งทุกกลุ่มเห็นด้วยในการแสวงหาความปรองดองแห่งชาติและการสร้าง สหพันธรัฐ จึงมีแถลงการณ์ร่วมกันดังนี้

1.ขอประณามวิธีการของกองทัพเมียนมา ในการจัดการกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันโดยการปฏิวัติรัฐประหาร
2.เราเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำทุกคนที่ถูกควบคุมตัวและจับกุมโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
3.เราขอเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติวิธีและการเจรจาต่อรองมากกว่าการใช้กำลัง
4.เรายืนหยัดในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และดำเนินการตามกระบวนการสันติภาพ 5.เราเรียกร้องให้มีการประกาศหยุดยิงทั่วประเทศอย่างไม่มีเงื่อนไข
6.เราจะร่วมมือกับประชาชนในการแสวงหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากเราตระหนักถึงความยากลำบาก ที่ประชาชนต้องเผชิญ จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและการระบาดของโรคโควิด-19
7.เราเรียกร้องให้มีการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติในการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน

สำหรับ 10 กลุ่มชาติพันธ์ที่มีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วไประเทศ NCA และรวมกลุ่มเป็น PPST ประกอบด้วย

– สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA)
– สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
– องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
– กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
– แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
– แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
– พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
– สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
– พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
– สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

ขณะเดียวกันสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา โดยเห็นว่า การที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ประการใช้กฏอัยการศึก สถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้กระทบต่อการสร้างสันติภาพ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย สภากอบกู้รัฐฉาน จึงยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างกับประชาชน ในการก่อตั้งสหพันธรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตย

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพอาจหยุดชะงักตามไปด้วย รวมทั้งข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ NCA ที่ประกอบไปด้วย รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธ ต้องหยุดชะงักไปด้วย

RCSS จึงขอความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ควรมีการพบปะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี

นอกจากนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก็ได้มีแถลงการณ์ลักษณะเดียวกัน เรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อสร้างความปรองดองในชาติ และแก้ปัญหาด้วยการเจรจา โดย KNU ประกาศอยู่เคียงข้างประชาชนในการจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐ และปกป้องการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ยังไม่ลงนามข้อตกลงหยุดยิง NCA มี 7 กลุ่มที่รวมตัวกันในนาม Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC ประกอบด้วย

– กองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
– กองทัพคะฉิ่น (KIA)
– กองทัพเมืองลา (NDAA)
– กองทัพโกก้าง (MNDAA)
– พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA)
– กองทัพตะอั้ง (TNLA)
– กองทัพอาระกัน (AA)

 2,186 total views,  2 views today