พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

#จะนะเมืองอุลามาอ์(ผู้รู้ศาสนา)รากเหง้าที่ต้องสืบค้นผ่านงานวิจัย

แชร์เลย

ซากีย์ เริงสมุทร และอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk :รายงาน
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

 

ได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนโรงเรียนตัสดีกียะห์ (ปอเนาะบาบอหะยีเจ๊ะแอ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปอเนาะเก่าแก่ อายุยาวนานถึง 200 ปี (วันที่ 27 มกราคม 2564 ) สืบทอดการสอนวิชาการอิสลามมารุ่นต่อรุ่น ปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 11 โดยมี อีหม่ามนาเส็ด เบ็นแหละแหนะ ผู้รับใบอนุญาต, หะยีไซนุดีน เบ็นแหละแหนะ ผู้จัดการ และ ดร. รอเซ็ด เบ็นแหละแหนะ ผู้อำนวยการโรงเรียน ทำหน้าที่บริหารงานโรงเรียน และสืบทอดการเรียนการสอนวิชาการอิสลาม รักษาอัตลักษณ์วิถีชีวิตมุสลิม สร้างพลวัตจากยุคอดีตส่งผ่านการสร้างคนสู่อนาคต
.
กัมปงสุเหร่า แห่งเมืองจะนะ เดิมอยู่ในดินแดนปาตานีดารุสลาม หมู่บ้านชาวมุสลิมเก่าแก่กว่า 300 ปีนี้ มีมาตั้งแต่สยามประเทศอยู่ในยุคอยุธยาตอนปลาย ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านถูกล้อมรอบด้วยป่าดงดิบ การเดินทางไปมาหาสู่กับต่างเมืองนั้นยากลำบาก
.
ปอเนาะยุคเเรก ผู้ก่อตั้ง ท่านเชค อับดุลรอชีด บิน เจ๊ะดิน (ประมาณ พ.ศ. 2338- 2401) จากเด็กหนุ่มในกัมปง มีความฝันอยากเรียนรู้วิทยาการอิสลาม ออกเดินทางจากหมู่บ้านตั้งแต่ อายุ 12 ปี เดินเท้าเข้ารัฐเคดะห์ เพื่อเรียนศาสนา แต่เป้าหมายคือศูนย์กลางแห่งอารยธรรมอิสลาม -เมืองมักกะห์ เมื่อได้ความรู้ระดับหนึ่งจึงออกเดินเท้าผ่านประเทศต่างๆ จนถึงจุดหมาย
.
จากผู้มุมานะในการเรียน จนกลายเป็นอุลามะห์ใหญ่ที่มีมุมสอนประจำในมัสยิดฮารอม แห่งเมืองมักกะห์แล้ว ท่านยังเดินทางต่อไปสู่บัยตุ้ลมักดิส แห่งปาเลสไตน์ เพื่อเรียนและจนได้ตำแหน่งผู้สอนในสถานที่นี้
.
40 ปีหลังจากนั้น ท่านกลับมาตามหามารดาที่หมู่บ้านเดิมของท่าน แล้วก่อตั้งศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้วิทยาการอิสลามที่หมู่บ้านนี้ ในยุคแรกชาวบ้านเรียกที่นี้ว่า ปอเนาะบานาสุเหร่า 200 กว่าปีให้หลัง โต๊ะครูจำนวน 11 รุ่น ยังสืบทอดมรดกแห่งการเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้อิสลามแห่งนี้ต่อเนื่องมา


.
ผู้บริหารในยุคปัจจุบันได้เก็บรักษาตำราที่ท่านได้คัดลอกไว้ด้วยมือ เช่น อัลกุรอานที่คัดด้วยมือของท่านเองพร้อมผ้าที่ห่อมาอายุ 260 กว่าปี

ตำรากีตาบตัฟซีร ที่บรรจงคัดด้วยมือ อายุกว่า 250 ปี เป็นตำราที่ท่านได้ทำไว้ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นครูอยู่ที่บัยตุ้ลมักดิส
.
นอกจากนี้ยังมีตำรา-กีตาบเขียนมือว่าด้วยวิชาฟิกฮ์ ชื่อ ซีรอฏ้อลมุสตากีม อายุ 162 ปี ของ เชค อับดุลญาลีล บิน อับดุลลอฮ โต๊ะครูรุ่นที่ 3 เก็บรักษาไว้อยู่ที่ปอเนาะแห่งนี้
.
วันนี้โอกาสพิเศษ ท่าน ดร.รอเซ็ด ได้เปิดกรุที่เก็บตำรา เก่าแก่ ให้พวกเราได้สัมผัสตัวอักษรอันปราณีตในแต่ละหน้า ที่ผ่านความอุตสาหะ เพียรพยายาม และศรัทธามั่น จนเสร็จสิ้นเป็นตำราสอนคุณธรรม จริยธรรมอิสลามให้เยาวชน และชาวบ้านได้เรียนรู้จากศูนย์กลางแห่งวิทยาการอิสลามแห่งเมืองจะนะในยุคนั้น


.
เมื่อได้เยี่ยมเยือนห้องสมุดส่วนตัวของท่านผู้อำนวยการ ที่รวบรวมหนังสือ ตำราโลกมุสลิม ทั้งยุคเก่า จนถึงตำราที่เกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ ข้อชี้ขาด-ฟัตวา ในเรื่องราวสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมทั่วโลกแต่ละปีเรียงราย ไม่มีฝุ่นหรือใยแมงมุมจับ ซึ่งเเสดงให้เห็นได้ชัดว่า ผู้เป็นเจ้าของห้องสมุดแห่งนี้ใช้เวลาในการอ่าน ศึกษา ได้วันละหลายชั่วโมง
ท่านยังเสริมอีกว่า ตระกูลของท่านเป็นญาติใกล้ชิดกับ Dato’ Dr. Haron Din ผู้รู้ศาสนาและอดีตผู้นำจิตวิญญาณของพรรคพาสมาเลเซียและ Assoc.Prof.Dr.Zakaria Man อดีตหนึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซียซึ่งทั้งสองท่านมีบทบาทสำคัญในการช่วยการศึกษาแก่คนจะนะและชายแดนภาคใต้ในช่วงทั้งสองท่านมีชีวิตอยู่


จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเลยส่งต่อข้อมูลให้ ผศ.โชคชัย วงษ์ตานี สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านในฐานะคนทำงานด้านการวิจัย “เกี่ยวกับ อุลามาอ์ (ผู้รู้ศาสนา ) กีตาบ (หนังสือศาสนา) ชนชาติมลายู และอื่นๆอันวิทยาการในอดีตของผู้คนมลายูปาตานีชายแดนภาคใต้ ภาคกลางและส่วนอื่นๆของประเทศไทย”ว่าเป็นไปได้ไหมจะทำงานวิจัยสักชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในจะนะ เพื่อประโยชน์ต่อคนจะนะ ชายแดนภาคใต้ ประเทศไทยหรือแม้กระทั่งอารยธรรมอาเซียนก็ว่าได้ เพราะถ้าดูการบันทึกในหนังสือที่ถูกอ้างมีการพูดถึงเมืองจะนะ เมืองเคดาห์ของมาเลเซียตอนนี้ มีการพูดถึงเมืองการศึกษาอิสลามเมกกะห์ อันเป็นแหล่งเหล่าบรรดาอุลามาอ์นูซันตารา(อาเซียน)อดีต หรืออาจจะรวมรวมถึงอุลามาอ์โลกมุสลิมในอดีตด้วยก็เป็นไปได้


ผศ.โชคชัย วงษ์ตานี ให้ทัศนะว่า “ยินดีมากๆ และจะลงพื้นที่พร้อมผู้เขียนพูดคุยกับคณะดร. ดร. รอเซ็ด เบ็นแหละแหนะในการขับเคลื่อนโครงการนี้ผ่านงานวิจัย”
ในทางวิชาการ “งานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์จะเป็นเพียงข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งของอดีตก็ตาม ย่อมจะส่งผลมาถึงเหตุการณ์ ในปัจจุบัน และอาจมีอิทธิพลไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ ดังนั้นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จึงมีประโยชน์สาคัญมากๆต่อการพัฒนาจะนะอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาบนพื้นฐาน SEAที่ทั่วโลกยอมรับ
หรือจะมีใครสถาบันการศึกษาใดสนใจทำโครงใจต่อเรื่องนี้ติดต่อได้ที่ผู้เขียน 089-7359279
หมายเหตุ
1.ประมวลภาพและคลิป(https://www.facebook.com/100000177232409/posts/4228828237133042/?d=n)
2.
ดูการเสวนาปาตานีศึกษา : ศึกษาผ่านแนวคิดและงานเขียน กีตาบ/ตำราของ เชค วัน อะฮะหมัด อัล ฟาตอนี (พ.ศ. 2399-2451)
“https://m.youtube.com/watch?v=cQdSpZNS528”
3.ประวัติ Dato’ Dr. Haron Din อ่านเพิ่มเติมใน
(https://www.darussyifa.org/?p=355)
.

 57,647 total views,  19 views today

You may have missed