ตูแวดานียา มือรีงิง รายงาน..
รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา เผยการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนชายแดนใต้ อพท. จับมือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและภาคี ดันการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชน ยกชุมชนทรายขาวกับความเป็นอยู่กลางความต่างที่เป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมส่งต่อหน่วยงานภาคีในพื้นที่สานต่ออย่างยั่งยืน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความท้าทายต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยิ่ง ด้วยความพยายามของหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกันแสวงหามาตรการและแนวทางแก้ไข เพื่อพลิกฟื้นและสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ให้สามารถดำรงชีวิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือในการพัฒนา ตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม การส่งเสริมและสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยว
กิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดซึ่งกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ความเข้าใจถึงแก่นของความยั่งยืนอย่างแท้จริง และเกิดความรู้สึกว่าได้มาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย มีความสะอาดสวยงาม ชุมชนให้บริการด้วยใจ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืน สามารถสร้างชุมชนท่องเที่ยวที่มีความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านกระบวนการ Co-Creation “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มาตลอดระยะเวลา 3 ปี (2561 – 2563) ด้วยความร่วมมือกับมรภ.สงขลา ซึ่งมีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้ รูปแบบและแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในบริบทการท่องเที่ยว
พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สก.สว, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส., จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดนราธิวาส และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่นำความเชี่ยวชาญตามบทบาทของตนเองมาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตันแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวด้วยว่า เป้าหมายความร่วมมือในการดำเนินภารกิจในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่คือ การร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นสู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ รวมถึงการร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์ คือ ความสามัคคีปรองดองและความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลลัพธ์ของความสำเร็จเห็นได้จากชุมชนศักยภาพที่เป็นชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผล ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย CBT Thailand จำนวน 14 ชุมชน ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ชุมชนตาพะยา ชุมชนอัยเยอร์เวง และชุมชนรามัญ จังหวัดปัตตานี จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนบางปู ชุมชนตะโละกาโปร์ ชุมชนบานา และชุมชนยะรัง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ชุมชนบ้านภูเขาทอง และชุมชนตลาดน้ำยะกัง
รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ครบกำหนดแผนการพัฒนาระยะ 3 ปีแล้ว แต่แผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง และระยะยาวยังคงดำเนินต่อไป
“โดยทุกหน่วยงานได้บูรณาการสานต่อ มอบแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศ จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมทั้งส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA รวมไปถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand ผลักดันให้ชุมชนมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และบริหารจัดการตนองได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การยกระดับความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป”
“กระทรวงจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรมให้ยั่งยืนในชายแดนใต้ จากการลงพื้นที่ชุมชนทรายขาว ที่มีวัดทรายขาวและมัสยิดบาโงยลางาอยู่ใกล้กัน ไม่แบ่งแยกกัน พูดจากใจว่าประทับใจในเรื่องของชุมชนพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคี ผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ของทรายขาวมีการสลับตำแหน่งผู้นำชุมชนกัน เช่นสมัยนี้ผู้ใหญ่เป็นไทยพุทธ สมัยหน้ามุสลิมก็จะมาเป็นผู้ใหญ่ ไม่แก่งแย่งกัน สลับกันมาเป็นผู้นำในทุกระดับ เป็นสิ่งสวยงามมากๆ สามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ
การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า การท่องเที่ยวในปัจจุบันให้พยายามกระจายรายได้การท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนให้มากที่สุด มองให้ทางอพท.ไปทำการพัฒนาว่าแหล่งท่องเที่ยวไหนที่เป็นเขตพิศษ สามารถลงไปพัฒนาได้ โดยส่งมอบ 14 ชุมชนกลับคืนชุมชนให้บริหารจัดการเอง ชุมชนไหนอยากพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว ให้แจ้งไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาต่อไป” รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว (ข่าว ณ.วันที่ 6 ธ.ค.2563)
///////////////////////////////////////////////////
7,793 total views, 2 views today
More Stories
มหกรรมคาราวาน OK BETONG BIKE WEEK 2024 ระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567
สตรีทฟู้ดแอนด์อาร์ท Betong Art Club ศิลปะภาพวาด ความหลากหลายเมืองเบตง
“ลูโบ๊ะดีแย แคมป์” ธรรมชาติบำบัด CAMPING กดไลค์ ใช่เลย!