เมษายน 24, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

สนามบินเบตงการให้ที่ทางภาษามลายูอักษรยาวีและเอกลักษณ์พื้นที่

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ผู้เขียนได้พาครอบครัวไปเยือน “สนามบินเบตง” แม้จะทราบว่ายังไม่เปิดบริการให้เดินทางด้วยสายการบินแต่ก็ไปเพื่อถ่ายรูปที่ระลึก ไม่ว่าคนทั่วไปหรือคนที่พึ่งแต่งงานโดยแต่งชุดมลายู (18 พฤศจิกายน 2563) หลายๆคนที่ผู้เขียนสัมผัสมีความคิดเห็นตรงกันว่า “สนามบินเบตงแห่งนี้มีเอกลักษณ์เด่นซึ่งให้ที่ทางภาษามลายูอักษรยาวีและเอกลักษณ์พื้นที่” ที่นี่มีการตกแต่งที่แปลกตากว่าสนามบินอื่นๆ ในประเทศ นั่นก็เนื่องมาจากการแนวคิดการออกแบบของสนามบิน ที่เน้นความสวยงาม โปร่ง โล่งสบาย ทันสมัย และนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นของเมืองเบตงมาใช้ในการออกแบบตกแต่งภายในอาคารที่พักผู้โดยสารด้วยเลือกใช้ “ไม้ไผ่”(ไผ่บือตง) มาประกอบการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร และใช้ภาษามลายูอักษรยาวี ในป้ายประกาศ/ประชาสัมพันธ์ต่างๆซึ่งให้เกียรติคนปาตานี/ชายแดนภาคใต้ (อดนึกถึงสนามบินนานาชาติบูรไนที่ใช้าภาษามลายูอักษรยาวีเช่นกันเมื่อสามปีก่อนที่ผู้เขียนเคยไปเยือน)นอกจากนี้เบตงเป็นเมืองที่มีภูเขาอยู่รายล้อม จึงเลือกใช้เส้นโค้งของภูเขามาเป็นเส้นสายหลักของตัวอาคาร ขณะที่บริเวณที่จอดส่งผู้โดยสารด้านนอก เสาด้านหน้าที่รับหลังคากันสาด ถูกหุ้มด้วยไม้ไผ่กลม วางแนวนอนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซ้อนกันเป็นชั้นๆ และค่อยๆ บิดเป็นเกลียวและบานขึ้นเรื่อยๆ ไปด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด และในบริเวณผนังด้านหน้าของอาคารผู้โดยสารใช้เทคนิคการซ้อนชั้นของไม้ไผ่นี้เช่นเดียวกัน ตัวอาคารมีสีน้ำตาลทอง ลวดลายไม้ไผ่ และหินอ่อนที่มีลวดลายสื่อถึงทะเลหมอก สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของอำเภอเบตงได้เป็นอย่างดี
สาเหตุที่สนามบินแห่งนี้ ใช้ “ไม้ไผ่”(ไผ่ตง) มาประกอบการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร ทั้งนี้เนื่องมาจากชื่อ “เบตง”ในภาษามลายู คือชื่อของไม้ไผ่ พันธุ์หนึ่งที่เขาเรียกไผ่บือตงหรือ buluh betong ซึ่งในอดีตเบตงเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก ส่วนไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประดับตกแต่งอาคารนั้นสั่งผลิตมาจากจังหวัดนนทบุรีที่ผ่านกระบวนการอบแห้งมาอย่างดีมีความคงทนสวยงาม สามารถอยู่ได้นานถึง 10 – 15 ปี
สำหรับสนามบินเบตง ให้ความสำคัญกับภาษามลายูนั้นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะสำคัญของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. (The National Reconciliation Commission) เป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

หมายเหตุ
1.
“สนามบินเบตง” หรือ “ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง” ตั้งอยู่ที่ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ ลำดับที่ 29 สังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม และนับเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 39 ของประเทศไทย

ความจริงโครงการก่อสร้างสนามบินเบตง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จุดประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

ข้อมูลเบื้องต้นของสนามบินเบตง ตัวอาคารผู้โดยสารเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง ส่วนรันเวย์มีความยาว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์เฉพาะแบบ ATR-72 (ใบพัด) ได้จำนวน 3 ลำต่อชั่วโมง เฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ ส่วนเวลาเปิดทำการของท่าอากาศยานเบตง คือ เวลา 08.00 – 17.00 น. เนื่องจากสนามบินตั้งอยู่ในพื้นที่ท่ามกลางหุบเขา และมีหมอกหนาทึบเป็นจำนวนมาก ทำให้อาจบดบังทัศนวิสัยการบิน

ปัจจุบัน การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร งานทางวิ่ง (รันเวย์) ทางขับ(แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องบิน และระบบไฟฟ้าสนามบิน ระบบรักษาความปลอดภัย เครื่องเอ็กซเรย์ และกล้องวงจรปิด เสร็จสมบูรณ์ 100% ซึ่งการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ อยู่ในช่วงรอใบอนุญาตใช้สาธารณะจากกรมการบินพลเรือน ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสนามบินเบตงเฟสสุดท้าย

ทั้งนี้ คาดว่าสนามบินเบตงน่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเดิมนั้นจะเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดออกมาเป็นช่วงปลายปี

สำหรับสายการบินพาณิชย์ที่จะบินมาลงที่สนามบินเบตง ขณะนี้มี 2 สายการบินที่ให้ความสนใจคือ สายการบินนกแอร์ และ บางกอกแอร์เวย์ แต่ยังอยู่ในช่วงการพิจารณา เนื่องจากมีความกังวลในด้านการคุ้มค่าในการให้บริการในการบิน กระทรวงคมนาคมจึงพิจารณางดการจัดเก็บค่าเช่าหลุมจอดและค่าใช้บริการท่าอากาศยาน รวมถึงลดค่าภาษีสนามบิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สายการบินมั่นใจว่าเมื่อเปิดเส้นทางบินแล้วจะคุ้มทุน


อ้างอิงจาก https://mgronline.com/travel/detail/9630000106656
2.ดูคลิปแนะนำสนามบินเบตงใน

3.ข้อมูล/ประมวลภาพและคลิปใน
https://www.facebook.com/betongyalathailand/

 1,177 total views,  2 views today

You may have missed