พฤษภาคม 5, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

มีลัตนาบี: (เมาลิดนบี) กิจกรรมระลึกศาสดาในเอเชียใต้

แชร์เลย

(1)
กิจกรรมสำคัญที่สนับสนุนให้กระทำอย่างหนักหน่วงในสังคมมุสลิมนั่นก็คือ
“การจุดตะเกียงในหัวใจของผู้คนให้คล้อยตามหลักคำสอนแห่งศาสนาด้วยการปฏิบัติตามแบบฉบับและอิริยวัตรของท่านศาสดา”
โดยเฉพาะในเดือนรอบิอุลเอาวัล ซึ่งถือเป็นเดือนประสูติของท่านศาสดา กิจกรรมดังกล่าวจึงควรค่าแก่การดำเนินการและยิ่งมีสำคัญขึ้นไปหลายร้อยเท่าในช่วงเวลานี้
ด้วยเหตุนี้ สังคมมุสลิมจะต้องหากิจกรรมเพื่อต่อยอดทางความคิดและปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ระลึกถึงท่านศาสดาและปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

(2)
ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเกือบทุกแห่งในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศและที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ได้มีการจัดกิจกรรมระลึกท่านศาสดาที่เรียกว่า “มีลัตนาบี” หรือ “เมาลิดนาบี” ให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชนได้ระลึกถึง


ซึ่งบทเรียนจากเอเชียใต้นั้นแสดงให้เราเห็นกิจกรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน
1. นิทรรศการหนังสือ
กิจกรรมดังกล่าวมีการโชว์หนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของศาสดามุฮัมหมัด รวมถึงฮาดิษที่รวบรวมคำพูด การกระทำและการยอมรับของศาสดา หนังสือที่นำมาแสดงมีหลากหลายทุกมิติเกี่ยวกับวิถีชีวิตของท่านศาสดาครอบคลุมทั้งศาสนา สังคม การศึกษา เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ
อีกทั้งยังมีหนังสือหลากหลายภาษา เช่น อาหรับ อุรดู ฮิน ดี เปอร์เซีย อังกฤษ มลายู ตุรกี เปอร์เซียและอื่นๆ
การจัดนิทรรศการหนังสืออาจเป็นมากไปกว่าการโชว์ นั่นก็คือ การกระตุ้นการอ่านของผู้คนนั่นเอง
2. อ่านกวีระลึกศาสดา
มีการประกวดบทกวีเกี่ยวกับท่านศาสดา ซึ่งเชิญนักเรียนและนักศึกษาจากแต่ละสถาบันการศึกษาส่งบทกวีที่ประพันธ์ขึ้นเข้าร่วมประกวด รวมถึงเชิญครูวรรณกรรมมาอ่านบทกวีและแลกเปลี่ยนด้วยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการต่อยอดในอนาคต
3. โต้วาทีระลึกศาสดา
เชิญนักการศึกษา นักเรียน นักศึกษามาเข้าร่วมกิจกรรมการโต้วาทีและถกเถียงเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวอัตชีวประวัติท่านศาสดา การโต้วาทีเป็นกิจกรรมที่สร้างหลักคิด มุมมองและสาระผ่านความสนุกสนาน รวมทั้งการแสดงออกของเยาวชน
4. อ่านคุตบะฮฺเทศนาธรรมระลึกศาสดา
คุตบะฮฺเป็นแนวทางในการฝึกฝนเยาวชนเพื่อต่อยอดไปสู่การนักเทศนาธรรมในอนาคต กิจกรรมดังกล่าวมีการเรียนเชิญเยาวชนในแต่ละสถาบันการศึกษามาเข้าร่วมและนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับท่านศาสดาผ่านการเทศนาธรรม
5. อ่านชีวประวัติระลึกศาสดาภาษาอาหรับ
มีการอ่านนำเสนอชีวประวัติผ่านงานเขียนของปราชญ์รุ่นก่อน ซึ่งมีทำนองของการอ่านแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ สำเนียง รวมถึงเชิญกอรี(นักอ่าน) มาอ่านในกิจกรรมดังกล่าว
6. ซอลาวาตสรรเสริญท่านศาสดา
เรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมกิจกรรมมาร่วมซอลาวาตและสรรเสริญท่านศาสดา อีกทั้งเพื่อสร้างสำนึกร่วมกันในการระลึกถึงท่านศาสดาไปอย่างพร้อมเพรียง
7. เขียนเรียงความเรื่องศาสดา
โรงเรียนและสถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรศาสนาในแต่ละพื้นที่จัดกิจกรรมด้วยการเชิญนักเรียนและนักศึกษามาเข้าร่วมแข่งขันเขียนเรียงความเพื่อระลึกท่านศาสนา งานเขียนที่ได้รับการคัดเลือกนั้นจะจัดพิมพ์ในเว็บไซต์ วารสารและสื่ออื่นๆ ต่อไป
8. กล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสดา
เป็นการกล่าวสุนทรพจน์หรือบรรยายธรรมของนักเรียน นักศึกษาเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านศาสดาและมีคณะกรรมการตัดสินผู้ที่ได้รับการคัดเลือกพร้อมแจกของที่ระลึก
9. เสวนาถึงศาสดาจากวิทยากรหลายศาสนา
งานเสวนาถือเป็นกิจกรรมหลักของงานระลึกศาสดา ซึ่งมีวิทยากรจากหลายภาคส่วนและหลายศาสนาเพื่อมาพูดคุยถึงคุณูปการและอัตชีวประวัติของท่านศาสดา
ประสบการณ์ในเอเชียใต้ค่อนข้างประทับใจเพราะพระฮินดูมาพูดคุยเรื่องศาสดามุฮัมหมัดด้วย อีกทั้งอ้างอิงหลักฐานจากอัลกุรอ่านและฮาดิษได้อย่างคล่องแคล่ว ฉะฉานน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
10. ประกวดบทความวิชาการเสนอประวัติศาสดาและนำเสนอ
เป็นงานวิชาการเข้มข้นที่เปิดให้มีการส่งบทความวิชาการ (call for paper) เรื่องศาสดามุฮัมหมัดเพื่อตีพิมพ์และนำเสนอบทความวิชาการ อีกทั้งยังตีพิมพ์ผลงานในวารสารอีกด้วย
11. รีวิวหนังสือเกี่ยวกับศาสดา
มีการนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่พูดถึงท่านศาสดาของนักเขียนระดับโลก ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์และนำเสนอให้มีการอ่านและศึกษาอัตชีวประวัติของศาสดามากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เกิดการเขียนหนังสือเล่มใหม่ ๆ เกี่ยวกับท่านศาสดาในแง่มุมต่าง ๆ หลากหลายอีกด้วย
12. ปาฐกถาพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
ในงานมีองค์ปาฐกผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องศาสดามานำเสนอแง่คิด มุมมอง วิถีชีวิตของท่านศาสดาเพื่อปลุกเร้าความรู้สึกและจิตสำนึกแห่งการเป็นศาสนิก
13. นำเสนอตีพิมพ์หนังสือชีวประวัติศาสดา
ในงานวิชาการมีกิจกรรมซึ่งเป็นจุดขายสำคัญในเอเชียใต้คือ การนำเสนอหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านศาสดาเพื่อจัดพิมพ์ หนังสือที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนตีพิมพ์และนำมาเปดตัวในงาน
14. นิทรรศการประวัติศาสตร์ศาสดา
กิจกรรมดังกล่าวสามารถโชว์เอกสารทางประวัติศาสตร์ (manuscript) และเครื่องใช้สอยต่างๆ เกี่ยวกับท่านศาสดาและอัครสาวก รวมทั้งร่องรอยการเดินทางของบรรดาปวงปราชญ์ในการนำศาสนามายังบ้านเรา
15. แข่งขันท่องจำฮาดิษและมอบซานัต
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้สมัครผ่านผู้จัดและมาแข่งขันท่องจำฮาดิษของท่านศาสดาที่ตนเองจดจำ อีกทั้งเชิญปราชญ์ทางด้านวิชาการฮาดิษมาอ่านและมอบซานัตให้กับเยาวชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม
16. เดินขบวนรณรงค์
เดินรณรงค์ไม่ต่างจากขบวนพาเหรดกีฬาสีบ้านเรา ซึ่งผู้เข้าร่วมมาเดินพร้อมกันพลางกล่าวตักบีรและซอลาวาตให้กับท่านนาบีเพื่อแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อท่าน
17. เทศนาธรรมวาระศาสดา
ทุกมัสยิดมีการเทศนาธรรมประจำวันศุกร์เป็นวาระพิเศษเพื่อระลึกคุณูปการสำคัญของท่านศาสดาที่ได้วางแนวทางในการดำรงชีวิตให้กับปวงบ่าวผู้ศรัทธา รวมถึงการจุดประกายและสร้างสำนึกผู้คนไปพร้อมกัน
นี่แค่เพียงบางส่วนจากวัฒนธรรมระลึกท่านศาสดาในเอเชียใต้ ซึ่งผู้เขียนเคยเข้าร่วมและรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

(3)
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยเราก็มีกิจกรรมระลึกท่านศาสดาอยู่แล้ว แม้จะไม่มากก็น้อย เช่น จัดเมาลิดในแต่ละพื้นที่ มีการเชิญสัปบุรุษ กรรมการมัสยิดละแวกใกล้เคียงมาร่วม รวมถึงบรรยายประวัติท่านศาสดาเเบบเบาบางเพราะเวลากระชับในช่วงท้าย กระนั้นก็ถือว่าดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
แต่สำคัญกว่านั้นคือ….
จะทำอย่างไรให้กิจกรรมดังกล่าวได้ระลึกถึง ทบทวนและเข้าอิริยวัตรของท่านศาสดาอย่างจริงจังและสามารถต่อยอดกิจกรรมเหล่านี้ไปยังคนหนุ่มสาวได้อย่างทั่วถึง
สถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย นวมทั้งสถาบันศาสนาจะต้องจริงจังกับกิจกรรมดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการรับรู้แนะนำแบบอย่างของท่านศาสดามาปฏิบัติอย่างจริงจัง
อีกทั้งเน้นการนำเสนอประวัติท่านศาสดาเป็นภาษาไทยเพื่อความเข้าใจครอบคลุมทั้งทางโลก ทางธรรม สังคมเศรษฐกิจ การศึกษาที่ท่านศาสดาได้วางรูปแบบไว้ด้วยเวลาที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
สิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องตระหนักร่วมกันคือ ไม่ใช่งานเมาลิดเป็นแค่เพียง
“งานอ่านประวัติภาษาอาหรับเพื่อระลึกศาสดาด้วยทำนองอันไพเราะต่าง ๆ ของบรรดานักอ่านซึ่งผู้ฟังในชุมชนส่วนใหญ่เข้าใจน้อยมาก จบด้วยการกินอาหารแล้วระเหยไปพร้อมกับฤดูกาลระลึกศาสดา
แน่นอน เราอาจต้องปรับระบบกันยกใหญ่เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกระลึกศาสดาที่แท้จริง….

(4)
อย่างน้อยองค์กรศาสนาและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ได้เพื่อปลุกสำนึกเยาวชน โดยเฉพาะเน้นอย่างพิเศษในช่วงเดือนรอบิอุลเอาวัลเพื่อสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญา
กิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นทางเลือกใหม่และอาจมีคุณค่าที่สามารถต่อยอดให้เห็นเป็นรูปธรรมในการระลึกท่านศาสดาได้มากกว่า “งานออกร้านขายสินค้าและโชว์ผลิตภัณฑ์” อย่างที่เป็นอยู่
หากจิตวิญญานแห่งศาสดาสามารถเปลี่ยนสังคมได้ตามความเชื่อของเราและเป็นแนวทางในการสร้างสังคมแห่งปัญญา เราก็ควรหันมาจริงจังกับสิ่งดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ควรไปเสียเวลากับการสนองตอบกิจกรรมต่างๆ ที่ค่อนข้างเอนเอียงไปสู่การเมืองแห่งการแบ่งฝ่าย ผลประโยชน์ รวมทั้งเม็ดเงินต่างๆ ที่อาจจะได้มาเพื่อตอบสนองคนบางกลุ่ม
เพราะสิ่งดังกล่าวอาจไม่ใช่การระลึกถึงศาสดาอย่างจริงจังและไม่ทำให้เกิดความรักในหมู่ศรัทธาชน หนำซ้ำยิ่งเพิ่มเฉดสีของการแบ่งขั้วและไม่นองตอบต่อหลักคำสอนแต่อย่างใดตามที่ปรากฏในอัลกุรอ่าน
“พวกท่านจงจับสายเชือกแห่งพระเจ้าด้วยความสามัคคีเป็นกลุ่มก้อนและอย่าทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน…”
สังคมจึงต้องขับเคลื่อนด้วยปัญญาและองค์ความรู้ มากกว่าอารมณ์หรือผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งตำแหน่งแห่งที่ในรัฐสภา…

ด้วยรักและเคารพ
เอ. อาร์. มูเก็ม
12 พฤศจิกายน 2563

 1,508 total views,  2 views today

You may have missed