พฤษภาคม 19, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“ภาครัฐไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายฮูเซ็ง การี คนไร้สัญญาชาติกว่า 60 ปี ปลื้มได้รับสัญชาติไทย หลังเข้าร่วมโครงการของ ศอ.บต.

แชร์เลย

จากปัญหาการไร้สัญชาติ ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากประชาชนไม่ให้ความสำคัญ ในการแจ้งเกิด รวมถึงมีฐานะยากจน การเดินทางมีความยากลำบาก และการขาดความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการรับรองสถานะทางทะเบียนราษฎร ส่งผลทำให้ประชาชนบางส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา รวมถึงประชาชนคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตลอดจนการบริการ ขั้นพื้นฐานจากภาครัฐที่ควรจะได้รับ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมกันมาอย่างยาวนาน
นายฮูเซ็ง การี หนึ่งในผู้ที่ไร้สัญชาติ มายาวนานกว่า 60 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้ร่วมโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ของ ศอ.บต. ในปี 2562 ซึ่งได้รับบัตรประชาชน วันที่ 23 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้รับบัตรประชาชนเนื่องจากไม่มีเอกสารที่จะมาประกอบเป็นหลักฐานในการยืนยันตัวตนเพราะพ่อแม่เสียชีวิตไปหมดแล้ว ขณะนี้อาศัยอยู่กับหลานชาย พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ตนรู้สึกดีใจมากๆ ที่ตนได้รับบัตรประจำตัวประชาชน และรอความหวังว่าสักวันจะได้มีสัญชาติไทย มานานกว่า 60ปี ทำให้ตนได้รับสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีรายได้เดือนละ 600 บาท และหลังจากนี้จะไปใช้สิทธิในการทำบัตรโรงพยาบาล เนื่องจากตนเองมีโรคประจำตัว และมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ซึ่งก่อนหน้านี้รักษากับหมอพื้นบ้านทั่วไป ขอขอบคุณทาง ศอ.บต.และทุกภาคส่วนที่ให้ความช่วยเหลือและทำให้ตนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ควรจะได้รับต่อไป


นายอับดุลการีม ยีดำ นายอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาหลักของประชาชนที่ไม่มีบัตรประชาชน เกิดจากประชาชนให้ความสำคัญที่น้อยเกิดไปหรือขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเกิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องดำเนินการแจ้งเกิดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะสิทธิที่เราควรจะได้รับนอกเหนือจากความเป็นคนไทยคือสิทธิขั้นพื้นที่ฐานตามรัฐธรรมนูญ อย่าปล่อยให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เราควรจะได้รับสูญเปล่าจนกลายเป็นปัญหาในอนาคตต่อไป


ขณะที่ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต ได้เปิดเผยถึง โครงการตรวจสารพันธุกรรม DNA ว่า เป็นกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ ศอ.บต.และส่วนราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุ์กรรม (DNA) เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ราษฏรหรือไร้สัญชาติ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ให้ได้รับสิทธิภาครัฐอย่างเท่าเทียบ ซึ่งโครงการนี้เป็นการเริ่มต้นเพื่อกำเนิดชีวิตใหม่แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งภายหลังจากได้รับบัตรแล้ว หากมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเรื่องอาชีพ และความเป็นอยู่ก็จะดำเนินการดูแลในขั้นต่อไป ตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และคาดว่าในปีนี้จะสามารถแก้ปัญหาคนไทยไร้สัญชาติได้ให้เหลือน้อยที่สุด จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานในพื้นที่ต่อไป


อย่างไรก็ตามจากการขับเคลื่อนกิจกรรมการตรวจพิสูจน์สารพันธุ์กรรม (DNA) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – จนปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซีย มีประชาชนที่เข้าร่วมลงทะเบียนจำนวน 1,578 คน และที่ได้รับบัตรประชาชนไปแล้วกว่า 662 คน ถือว่าเป็นการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง ในการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคมให้มีบัตรประชาชน มีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยไม่ตกอยู่ในสภาพของคน“ไร้สัญชาติ” อีกต่อไป

 617 total views,  2 views today

You may have missed