มีนาคม 29, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ปัญหาฮาลาลเห็นพ้องต้องปฏิรูปเพื่อความโปร่งใส (ฮาลาล:ปัญหาและทางออกตอนที่-2)

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk  ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


อย่างน้อยนักวิชาการสามท่านที่อยู่ในวงการกรรมการอิสลามและสำนักจุฬาราชมนตรีเห็นพ้องต้องกันว่า องค์กรที่ดูแลฮาลาลจะต้องปฏิรูปเพื่องความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้
ดร.อิลยาส หญ้าปรังให้ทัศนะว่า “    เมื่อ รัฐมนตรี มนัญญา มาโยนไอเดียว่า รัฐจะเข้ามาจัดการเรื่องฮาลาลเสียเอง โดยจัดตั้งองค์กรมหาชน คนอื่นอาจดีใจอกดีใจไปด้วยเนื่องจากเอือมระอากับข่าวเชิงลบต่างๆในเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับกิจการฮาลาล แต่ผมคนนึงละ ตั้งการ์ดสูงทันทีโดยอัตโนมัต เพราะผมไม่ไว้ใจรัฐ ยิ่งรัฐเข้ามายุ่มย่ามในกิจการศาสนา…

ฮาลาล เปรียบเสมือน ต้นทุนทางสังคมของสังคมมุสลิมที่อัลเลาะห์ให้มาเป็นทุน ก็เพราะว่ามุสลิมต้องอยู่เป็นชุมชน ชุมชนมุสลิมควรใช้ฮาลาล เป็นทรัพยกรมาบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เช่นเดียวกับความคิด “เรื่องการเงินที่ปราศจากดอกเบี้ย” ที่เป็นต้นทุนของสังคมมุสลิมและต่อมาพี่น้องสหกรณ์อิสลามก็พัฒนาความคิดนี้จนกระทั่งเจริญเติบโต และมีกิจการจนสามารถนำผลกำไรมาบริหารชุมชน

เมื่อฮาลาล มีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใส ชุมชนควรจะต้องสร้างกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุล สร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น แบบเดียวกับที่สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามได้สร้างกลไกดังกล่าว

ถ้ารัฐจะเข้ามายุ่มย่าม ก็สามารถยุ่มย่ามได้แค่ “กำกับ ดูแล” มิใช่เข้าเทคโอเวอร์ หรือเอากิจการชุมชนมาทำเสียเอง

 

สมมุติเมื่อกองทุนวากัฟ ของแต่ละมัสยิดแต่ละชุมชน มีเงินมากขึ้น แล้วปรากฎว่า เรื่องเงินๆทองๆก็มักมีเรื่องความไม่โปร่งใสและโกงกินตามมา รัฐจะเข้ามาเทคโอเวอร์กองทุนวากัฟ แล้วจะมาทำเสียเองกระนั่นหรือ?

อย่างไรก็แล้วแต่การโยนระเบิดจากรัฐมนตรี มนัญญา ได้กระเทือนบรรดาผู้รับผิดชอบในกิจการฮาลาล อันเป็นสมบัติร่วมกันของชุมชนมุสลิม เป็นสัญญาณเตือนว่า ถ้าคุณยังขืนไม่มีธรรมาภิบาล พระองค์อัลลอฮฺ(ซบ) จะยึดกิจการนี้ให้คนอื่นไปทำแทน ด้วยพระองค์อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงยุติธรรมและเป็นผู้ทรง ตรวจสอบและผู้ทรงคำนวน (ฮิสบะฮ์)”(อ่านฉบับเต็มใน https://www.facebook.com/100001415372289/posts/3565714770152334/?extid=0&d=n)
คนที่สองคือดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ให้ทัศนะเช่นกันว่า “
ฮาลาล​ เป็นทรัพยากรของชุมชนมุสลิมเพื่อประโยชน์แห่งมนุษยชาติ

ข้อเสนอ(ของรมช.มนัญญา)ให้ตั้งองค์การมหาชนมาดูแลกิจการฮาลาล​ อาจเป็นสิ่งบอกเหตุให้องค์กรที่รับผิดชอบทั้งหลายได้ตระหนักว่าถึงเวลาต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงแก้ไขบางสิ่งบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นความโปร่งใส​ในการบริหารจัดการ​ ความสุจริตเที่ยงตรงและการกระจายผลประโยชน์สู่สังคมอย่างเป็นธรรม

การปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นและเหมาะสมกับยุคสมัย​ เป็นสัจธรรมอันมิอาจปฏิเสธ​ องค์กรใดที่ไม่รู้จักการปรับตัวย่อมมิอาจต้านทานกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงได้​ แม้องค์กรนั้นจะหยั่งรากฝังลึกในสังคมมานานแค่ไหนก็ตาม

หากไม่ยอมปรับปรุงตนเอง​ อำนาจที่เคยมีอยู่ก็อาจเปลี่ยนเป็นของผู้อื่นได้​ เพราะนั่นเป็นวิถีแห่งอัลลอฮ​ฺ ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน​ (อัตเตาบะฮ​ 9:39) ใจความว่า
“แม้นหากพวกเจ้าไม่ออกมาต่อสู้​ พระองค์จะทรงลงโทษพวกเจ้าอย่างเจ็บปวด​ อีกทั้งจะทรงเปลี่ยนถ่ายอำนาจให้กลุ่มชนอื่นมาทำหน้าที่แทนพวกเจ้าด้วย…”
แต่ท่านก็ไม่เห็นด้วยกับรมช.มนัญญา โดยท่านให้เหตุผลและเสนอแนะว่า “

อย่างไรก็ตาม​ การปรับปรุงตนเอง​ ย่อมมิควรทำโดยการโยกย้ายอำนาจจากองค์กรศาสนาอิสลามแล้วมอบให้รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างสิ้นเชิง​ ทั้งนี้เพราะ​” ฮาลาล” คือบทบัญญัติแห่งอิสลาม​ เปรียบได้ดั่งทรัพยากรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่มวลมุสลิมเพื่อผลประโยชน์ในการดูแลตนเองรวมไปถึงการจัดการให้ประโยชน์เหล่านั้นกระจายไปสู่สังคมในวงกว้างด้วย​ ให้สมดังที่ทรงมอบหมายหน้าที่ว่ามุสลิมต้องเป็น​ “เมตตาธรรมต่อสากลโลก” นั่นเอง

การดูแลบทบัญญัติแห่งศาสนา​ ไม่ว่าจะเป็นกรณีฮาลาลหรือบทบัญญัติอื่น​ ๆ​ ย่อมต้องอาศัยความเป็นอิสระในระดับสูงจึงจะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของศาสนาได้​ หาไม่แล้ว​ การถูกควบคุมโดยกฎระเบียบของรัฐซึ่งไม่เข้าใจบทบัญญัติอิสลามอย่างลึกซึ้งดีพอ​ และมีโอกาสถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจที่ไม่หวังดีได้ง่าย​ จะทำให้ฮาลาลซึ่งเป็นทรัพยากรหรือทรัพย์สินของมุสลิมโดยเนื้อแท้​ กลายเป็นว่ามุสลิมกันเองหยิบยื่นไปให้ผู้อื่นดูแล​ ยอมเสียอิสรภาพในการธำรงหลักการศาสนาและการดูแลกันเอง​ แต่กลายเป็นเหยื่ออันโอชะที่ถูกรุมทึ้งจนไม่อาจบริหารจัดการตัวเองได้อีก

ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่าในฝ่ายกิจการฮาลาลเองปราศจากการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง​ แต่การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องทำด้วยมวลชนมุสลิมเอง​ มิใช่ด้วยการโยนทรัพยากรของเราไปให้รัฐดูแล

ทั้งนี้เนื่องจากการให้รัฐดูแล​ ไม่ได้เป็นหลักประกันใด​ ๆ​ เลยว่าจะทำให้องค์กรฮาลาลสุจริตโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่​ มีใครรับรองได้ไหมว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดบ้างที่ปราศจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง​!!!

สิ่งที่เราท่านทั้งหลายได้ประจักษ์กันอยู่คือทรัพยากรของท้องถิ่นชุมชนจำนวนมากที่เคยอยู่กับชุมชนดี​ ๆ​ ครั้นเมื่อรัฐเข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายก็เกิดความเสียหายจนมิอาจเยียวยา

แม้แต่ในประเทศมุสลิม​ การแทรกแซงของรัฐต่อกิจการศาสนาก็นำมาซึ่งความอ่อนแออย่างที่สุด​ เช่น​ กรณีกองทุนวากัฟของอัซฮัรในประเทศอียิปต์ซึ่งมีทรัพย์สินมหาศาลและถูกโอนย้ายไปเป็นของรัฐในสมัยญามาล​ อับดุลนาซิร​ เป็นเหตุให้อัซฮัรในปัจจุบันไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้และอียิปต์ก็เป็นประเทศยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่ง​ ขณะที่องค์กรวากัฟในตุรกีที่เป็นองค์กรเอกชนและมีอิสระเติบโตและให้ดอกผลอันงดงามยิ่งต่อประเทศชาติ

ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยกับการปฏิรูปกิจการฮาลาลในองค์กรศาสนา​ แต่ไม่เห็นด้วยกับการผลักไสฮาลาลไปเป็นของรัฐ​ เพราะถือว่าเป็นการมอบทรัพยากรอันสูงค่าที่อัลลอฮประทานแก่ชุมชนมุสลิมไปเป็นของผู้อื่นที่ไม่มีความคู่ควรใด​ ๆ”
(อ่านฉบับใน https://www.facebook.com/100006776410385/posts/2862182984017554/?extid=0&d=n)
สำหรับดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี
อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้แทน จ.เชียงใหม่ได้ออกจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยรูปแบบขององค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) จะต้องยังคงดำเนินการโดยมุสลิมภายใต้การตรวจสอบมาตรฐานหะลาลโดยมุสลิมและยืนอยู่บนหลักการศาสนาอิสลาม เงินรายได้ทุกอย่างจากการรับรองหะลาล (เงินค่าธรรมเนียม ค่าที่ปรึกษา ค่าใบรับรอง ฯลฯ) จะต้องให้นำเข้าองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ และมอบกลับคืนให้รัฐทั้งหมด ดังนั้น เพื่อนต่างศาสนิกไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือคนทั่วไปนอกจากจะไม่สามารถกล่าวหาได้ว่า “หะลาล” เป็นผลประโยชน์สำหรับมุสลิมเท่านั้น แต่กลับจะแสดงถึงคุณค่าของธุรกิจหะลาลภายใต้การดำเนินการขององค์กรมุสลิมว่าได้สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับรัฐและสังคมไทยโดยส่วนรวมในขณะเดียวกัน เงื่อนไขสำคัญที่ภาครัฐเองจะต้องเข้าใจก็คือ องค์กรศาสนาอิสลามไม่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐโดยตรงเพื่อการบริหารและการพัฒนาสังคมมุสลิมโดยรวม (มีแค่ค่าเบี้ยประชุมของกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการกลางอิสลามฯ และเงินประจำตำแหน่งอิหม่าม-คอเต็บ-บิหลั่น) ดังนั้น รัฐก็จะต้องให้เงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนองค์กรศาสนาอิสลามในด้านต่างๆ เป็นการกลับคืนด้วย ซึ่งสังคมไทยโดยรวมย่อมมองว่านับเป็นความสมเหตุสมผลที่องค์กรมุสลิมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนนี้ เพราะองค์กรมุสลิมได้นำเงินทุกบาทจากกิจการหะลาลส่งเข้ารัฐแล้ว ซึ่งได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับสังคมไทย ดังนั้น ข้อครหาที่ว่าเป็นการนำเงินภาครัฐมาให้กับมุสลิมได้ก็จะไม่มีน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน เงินทุกบาททุกสตางค์จากงบฯ อุดหนุนนี้จะได้สามารถได้รับการตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการเอาไปใช้จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน


ที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเด็นกิจการหะลาลของกรรมการรกลางอิสลามฯ นั้น ถูกโจมตีจากสังคมว่ามีผลประโยชน์มหาศาลบ้าง เป็นแดนสนธยาบ้าง ซึ่งจะเป็นจริงเช่นดังข้อหาเหล่านั้นหรือไม่ ผมว่าบรรดากรรมการกลางอิสลามฯ คงทราบดี เพียงท่านที่เป็นกรรมการกลางอิสลามฯ อยู่ตอนนี้ (ไม่ต้องเป็นมุสลิมทั่วไปก็ได้) สามารถตอบคำถามให้กับตัวเองได้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้ ฝ่ายกิจการหะลาลมีบัญชีกี่บัญชี แต่ละปีมีเงินเข้าฝ่ายกิจการหะลาลเป็นเงินเท่าไหร่? จากส่วนไหนบ้าง? จ่ายไปไหน? เป็นเงินเท่าไหร่? (ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมการกลางอิสลามฯ ทุกคนควรรับรู้) หากท่านที่เป็นกรรมการกลางอิสลามสามารถตอบได้ ผมขอเป็นผู้หนึ่งที่จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคุณมนุญญา ไทยเศรษฐ์ ในเรื่องนี้ แต่หากท่านตอบไม่ได้ ผมว่าถึงเวลาที่ฝ่ายหะลาลขององค์กรสูงสุดของศาสนาอิสลาม (ที่ได้ตำแหน่งมาจากการโปรดเกล้าฯ) และเป็นอะมานะฮ์สำคัญที่จะต้องกลับไปตอบพระผู้เป็นเจ้า สมควรที่จะต้องได้รับการรับรู้ในที่ประชุมกรรมการกลางอิสลามฯ พร้อมกับสังคมมุสลิมโดยส่วนรวม และได้รับการพัฒนาตามแนวคิดของคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เพื่อสังคมจะได้เห็นว่า องค์กรในศาสนาอิสลาม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ได้เป็นดังที่สังคมตั้งข้อครหาในทางไม่ดีตลอดมาแต่อย่างใดผมหวังว่าสังคมมุสลิมจะได้มีการพูดคุย ถกเถียง เกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อไปอย่างจริงจัง บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์สู่สังคมมุสลิมและสังคมไทยโดยรวมอย่างแท้จริง
(อ่านฉบับเต็มใน https://www.mtoday.co.th/62480)

หมายเหตุ
อ่านย้อนหลัง
ปัญหา ฮาลาลอยู่ที่ความเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสการบริหารมากกว่า (ฮาลาล :ปัญหาและทางออกตอนที่1)อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์/http://spmcnews.com/?p=34053

 877 total views,  2 views today

You may have missed