เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“อังคณา” กรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ลดรุนแรงต่อผู้หญิง ชายแดนใต้ ทุกฝ่ายต้อง “จริงใจ ยุติธรรม” ต้องยุติใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ จุดเริ่มต้นคือสถาบันครอบครัว

แชร์เลย

โครงการสัมมนาช่องว่าง การใช้กฎหมายไทย และ กฎหมายอิสลาม เพื่อการคุ้มครองผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยองค์การอ๊อกแฟม ประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ แห่งประเทศไทย ชมรมผู้นำมุสลีมะห์ นราธิวาส เครือข่ายผู้หญิง ยุติความรุนแรง แสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งได้รับความสนใจ จากองค์กรภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องการบังคับใช้กฎหมายไทย และกฎหมายอิสลาม องค์กรด้านศาสนาและผู้นำศาสนา นักวิชาการ สหวิชาชีพ เครือข่ายผู้หญิง และองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมสัมมนา ร่วมแสดงข้อคิดเห็นปัญหา และข้อขัดข้อง และการเสนอทางแก้ปัญหา ให้กับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส (5 มีนาคม 61 )

นางรอซีดะห์ ปูซู  ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติ ความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึง การโครงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความร่วมมือกัน ในการแก้ปัญหา ให้กับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ ในการพัฒนาสตรีและลดความรุนแรง ในทุกมิติ ทั้งจากปัญหาความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ และปัญหาครอบและสังคม อาทิ  ปัญหาสังคม ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิด ทางเพศ พบว่าผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ในพื้นที่มากขึ้น จำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ติดปัญหาข้อขัดข้องหลายประการ เช่นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การรับเรื่องร้องทุกข์ อย่างการรับแจ้งความ จากสถานีตำรวจ ไม่ปรากฏมากนัก ในเรื่องว่าด้วยการหย่าร้าง จากความรุนแรงของคนในครอบครัวของหญิงมุสลิม จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการรับเรื่องราวและไกล่เกลี่ย ซึ่งคณะกรรมอิสลาม ทั้งหมดเป็นผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงที่โดนกระทำความรุนแรง จึงไม่กล้าเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง เพราะติดขัดในเรื่องจารีตประเพณี และความละอายที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ในการหาทางออกคุ้มครองสิทธิสตรีในฐานะผู้ถูกละเมิด ในส่วนปัญหาผู้หญิงที่ ถูกกระทำจากสถานการณ์ ทุกฝ่ายยังคงเรียกร้อง ขอให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงต่อสตรี และเด็กด้วย ซึ่งจากเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 46 ถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบ หญิงหม้าย และเด็กกำพร้า ทางตรงและทางอ้อมนับหมื่นคนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) ประธานกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งร่วมงานในฐานะเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ ได้แสดงข้อคิดเห็น  ว่า ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากยังต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน  โดยในช่วงปีที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนในประเด็นทางเพศเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความรุนแรงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศจากการทำงาน การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ปัญหาทัศนคติและอคติทางเพศของสังคมไทย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง

ประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่งในดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือสังคมมลายูมุสลิมกับการให้สิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ต่อผู้หญิงภายใต้กรอบของศาสนาอิสลาม ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2547 และบทบาทของผู้หญิงมลายูมุสลิมที่ต้องเผชิญชีวิตท่ามกลางความยากลำบากในการนำพาครอบครัวให้ก้าวเดินต่อไป ทั้งผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ผู้หญิงในครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มของผู้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนอุปสรรคของการเข้าถึงกลไกความคุ้มครองจากการใช้กฎหมายอิสลาม ปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้หญิงต้องเผชิญ การค้ามนุษย์ และความรุนแรงในครอบครัว การใช้กฏหมายอิสลาม อย่างเคร่งครัด โดยปราศจากการผ่อนปรน และเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริง ในบริบทของผู้หญิงและผลกระทบจากสังคมรอบข้างต้องเผชิญอยู่  ส่งผลให้ สิทธิหญิงผู้ถูกละเมิด”

การเสนอดคลี่คลายของปัญหา        ประการแรก รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนาควรสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันของผู้รู้ศาสนาที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายอิสลามเกี่ยวกับผู้หญิงให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องตามบริบทของวิถีชีวิตและหลักการศาสนาอิสลาม

ประการที่สอง ในการตัดสินคดีครอบครัวและมรดก หรือการตีความทางศาสนาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ควรให้มีตัวแทนที่ผู้หญิงให้การยอมรับเข้ามีส่วนร่วม และสามารถทำข้อเสนอแนะไปยังดาโต๊ะยุติธรรมได้ด้วย

ประการที่สาม รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนาควรสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อเนื่องทุกรูปแบบที่เป็นความต้องการของผู้หญิง รวมถึงให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้โดยง่าย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์

ประการที่สี่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองผู้หญิงให้พ้นจากความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว และควรมีสถานที่ซึ่งผู้หญิงจะสามารถพึ่งพิงได้กรณีเกิดปัญหาครอบครัว

และประการสุดท้าย รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนา ควรสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

นอกจากนี้ นางอังคณา ยังให้มุมมอง การละเมิดทางเพศต่อสตรี พบว่า แม้สตรีมุสลิม จะมีสามีแล้ว ยังถูกละเมิด ด้วยสายตา วาจา และการกระทำ หรืออื่นๆ เหล่านี้ ต้องเลิกและห้ามมีเด็ดขาด ในสังคม ทั้งจากคนภายนอก หรือ ภายในกันเอง และมองว่า การแก้ปัญหา ต้องเริ่มด้วย ความยุติธรรมและจริงใจ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ในปัจจุบัน ศาสนาอิสลาม ถูกตั้งคำถามทดสอบ จากโลก มองนิยมใช้ความรุนแรงหรือ อย่างไร ฉะนั้น ปัญหาลดความรุนแรง ฐานคือ สถาบันครอบครัว มาเป็นจุดเริ่ม ยุติความรุนแรง” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับ การสัมมนาในครั้งนี้ พอสรุปจากการเกิดความรุนแรงและการคุ้มครองสิทธิผู้หญิง  มี 3 ปัจจัยความรุนแรง กล่าวคือ ปัญหาครอบครัว สังคม และการบังคับใช้กฎหมายไทย และกฎหมายอิสลาม ที่กลุ่มสตรีชายแดนใต้ มองว่า เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้หญิง ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงเท่าทันโลก  อย่างไรก็ตาม จากการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของผู้หญิง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พบมีผู้หญิงใช้บริการปรึกษาหารือ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 –ธันวาคม 60  รวม 921 คน และเป็นเคสที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ในครอบครัวทั้งสิ้น 153 คน ทั้งนี้เป็นข้อมูลเฉพาะเพียงสถานที่เดียว ยังไม่รวมกับภาคประชาสังคมอื่นๆ และหน่วยงานภาครัฐที่รับเรื่องราวร้องทุกผู้หญิง จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก ซึ่งคาดมีสถิติมากกว่าที่ปรากฏดังกล่าว

บท…รพี มามะ บรรณาธิการข่าว / ภาพ อัสวรรค์ สะมะแอ /อาลีฟ มามะ SPMCNEWS

 

 

 796 total views,  2 views today

You may have missed