พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เสียงสะท้อนรำลึก 66 ปี หะยีสุหลง นักต่อสู้ปตานี/ชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีลมหายใจ

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

(หะยี สุหลง)
วันที่ 22 มิถุนายน 2563 66 ปีแล้วทีหะยีสุหลง (บางคนเขียนว่าฮัจยี สุหลง)อับดุลกาเดร์(อับดุลกอเดร์) ได้กลับไปสู่ความเมตตาหรือเสียชีวิตแม้ชีวิตท่านจะจากไปแต่ชีวิต จิตวิญญาณ แนวคิด การต่อสู้ของท่านยังถูกกล่าวถึงหรือสานต่อ นี่เป็นแค่สามเสียงสะท้อนของคนทำงานที่เกาะติดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จากส่วนกลางและพื้นที่ซึ่งผู้นำมาเรียบเรียง(จากเฟสบุ๊คของพวกเขา)ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.Pornpen Khongkachonkiet(พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม )สะท้อนว่า

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ เป็นผู้นำศาสนาในจังหวัดปัตตานีที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เขาก่อตั้งขบวนการประชาชนปัตตานีขึ้นในปี 2490 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองตนเอง ขอสิทธิในการใช้ภาษาและวัฒนธรรมรวมทั้งการใช้กฎหมายอิสลาม ปี 2491 เขาถูกตัดสินจำคุกในข้อหากบฏในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม การคุมขังหะยีสุหลงทำให้เกิดการประท้วงและจลาจลหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สองปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกเมื่อปี 2495 เขาได้หายตัวไปพร้อมกับลูกชายคนโตและผู้ติดตามอีก 2 คนที่จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเขาถูกฆาตกรรมโดยตำรวจ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ การหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเปลี่ยนการต่อสู้แบบสันติวิธีไปสู่การก่อตัวของขบวนการติดอาวุธ

หลานสาวของหะยีสุหลง (แพทย์หญิงเพชร ดาวโต๊ะมีนา )ถ่ายรูปในสถานที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและสันติภาพ ที่บ้านหลังที่มีการจับตัวนายหะยีสุหลงไปเมื่อวันที่13 สิงหาคม 66ปีที่แล้ว”
อนึ่ง อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เคยกล่าวยอมรับว่าพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ขณะนั้นมีส่วนอย่างมากกับการหายตัวไปของหะยีสุหลงและกล่าวขอโทษโดยกล่าวว่า

“ผมกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงราว 80 กว่าคน ผมยอมรับว่าครอบครัวผมมีส่วนในเรื่องนี้ แล้วก็เล่าข้อมูลเท่าที่ผมรู้ให้ฟัง ครอบครัวเขาต้องอยู่กับความเศร้าโศกมานานหลายสิบปี ทุกปีก็จะจัดงานรำลึกกัน ผมเชื่อว่าการได้รับรู้ข้อมูลและคำขอโทษจากปากผมจะทำให้ทายาทของหะยีสุหลงสบายใจขึ้น ตัวผมเองก็รู้สึกสบายใจด้วยที่ได้ขอโทษออกไป และถ้ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมก็พร้อมจะไปขอโทษครอบครัวอื่นๆ อีกที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลในครอบครัวผมในอดีต”
(โปรดดู
https://prachatai.com/journal/2020/06/88094)
2.Romadon Panjor (รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ )กล่าวว่า “ควรบันทึกเอาไว้ว่าวันนี้ (22 มิถุนายน 2563) หลานของฮัจยีสุหลงคนหนึ่งได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังที่มาที่ไปของ #มัสยิดกลางปัตตานี ว่าเป็นการก่อสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของรัฐบาลไทยเพื่อ #บรรเทา #เยียวยา ต่อพี่น้องมุสลิมในชายแดนใต้ หลังเหตุการณ์ #อุ้มหาย #บังคับสูญหาย #สังหาร #ฮัจญีสุหลง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 เดิมทีมีไอเดียจะตั้งชื่อว่า #มัสยิดฮัจญีสุหลงอับดุลกอเดร์โต๊ะมีนา แต่ภรรยาของฮัจญีสุหลงไม่อนุญาตครับ “เนื่องจากเราไม่ได้ต้องการสิ่งปลูกสร้างใด ๆ นอกจากความยุติธรรม”

มัสยิดที่สร้างขึ้นโดยงบประมาณภาครัฐ ซึ่งเริ่มตั้งต้นโครงการในปี 2497 เลยกลายเป็น #มัสยิดกลางประจำจังหวัด แห่งแรกของประเทศไทยครับ

กรุณาฟังที่ชั่วโมงที่ 1.30 ในคลิปถ่ายทอดสดงานเปิดตัวหนังสืออาจารย์ไกรศักดิ์ สดจากมูลนิธิฮัจยีสุหลงฯ https://www.facebook.com/wartanimap/videos/1151328055202986/“
3.Ron Tmn Iamsopha (จตุรนต์ เอี่ยมโสภา
มูลนิธิฮัจยีสุหลง)ย้อนอดีตเล่าความหลังว่า
“วันนี้เมื่อ 66 ปีที่แล้ววันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2497 หรือประมาณหนึ่งเดือนกว่าๆ ก่อนที่ฮัจยีสุหลงฯจะถูกฆาตกรรมในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2497 นั้น…

ได้มีหนังสือเชิญจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้นถึง อิหม่ามประจำมัสยิดอาเนาะรู (ปัจจุบันคือมัสยิดใด?) ซึ่งหมายถึงฮัจยีสุหลงฯ ให้ไปร่วมงานวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน 2497 พร้อมทั้งแนบกำหนดการมาด้วยในคราวเดียวกัน (ตามภาพลำดับที่ 1-4)

ฮัจยีสุหลงฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับไปว่า “ติดธุระสำคัญ” คือ ต้องสอนหนังสือตั้งแต่เช้าถึงค่ำ และไม่มีความพร้อมด้านเครื่องแต่งกาย โดยระบุสถานที่ว่าเขียนที่ สุเหร่าอาเนาะรู (ตามภาพลำดับที่ 5) แต่ท้ายหนังสือไม่มีการลงนาม เลยต้องค้นกันต่อว่าเอกสารที่พบนี้ คือสำเนาหนังสือ หรือ เป็นหนังสือที่ไม่ได้ลงนามและไม่ได้ส่ง

เอกสารชุดนี้เป็นอีกหนึ่งชิ้นเอกสารที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้ จากจำนวนเอกสารสำคัญๆอีกหลายชิ้นที่อยู่ในระหว่างการคัดแยกและศึกษา”(ดูเอกสารประกอบใน https://www.facebook.com/1005410516/posts/10218256042604895/?d=n)
ดังนั้นรัฐและทุกภาคส่วนต้องนำบทเรียนนี้มาทำงานในการกำหนดนโยบายสาธารณะและยำ้ผู้เกี่ยวข้องต้องไม่เป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เพราะ การลิดรอน และละเมิดสิทธิมนุษยชนคือการไม่ให้ความเป็นธรรม เมื่อรวามเป็นธรรมไม่เกิดสันติภาพ ก็ไม่สามารถสัมผัสได้ อย่างที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันนี้ในพื้นที่
หมายเหตุ
สามารถดูย้อนหลัง
งานเปิดตัวหนังสือและสนทนาในหัวข้อ

“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ – ชีวิต – มุมมอง – ความคิด” ในบริบทปาตานี วันที่ 22 มิถุนายน 2563

13.30-16.00 ณ บ้านหะยีสุหลง

-ผู้ร่วมสนทนา-
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
จตุรนต์ เอี่ยมโสภา
อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ

ผู้ดำเนินรายการ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ร่วมจัดโดย: มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลงฯ

ใน
https://www.facebook.com/HajiSulongFoundation/videos/1151324155203376/?vh=e&d=n

 1,999 total views,  2 views today

You may have missed