อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ปีนี้ 2563 ต้องยอมรับว่า กระบวนการพูดคุยรอบใหม่ระหว่าง ขบวนการปลดเอกปตานีหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามนิยามของรัฐ BRN กับรัฐไทยครั้งนี้มีองค์กรต่างประเทศอย่างICRC และGeneva Call เป็นพี่เลี้ยงให้กับขบวนการBRN ตามที่นักวิชาการและสื่อทั่วไปทราบดี อย่างไรก็แล้วแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคอลัมนิสต์ดังอย่างชัยยงค์ มณีพิลึก จากสื่อผู้จัดการ เขียนบทความในเชิงไม่เห็นด้วย โดยพาดหัวบทความ ว่า “
เมื่อไหร่รัฐไทยจะ “สำเหนียก” อันตรายจากบรรดา “ฝรั่งหัวแดง” พี่เลี้ยง BRN กันซะที?!
(https://mgronline.com/south/detail/9630000054431)
โดยในบทความ อธิบาย เหตุผล ว่า “
บทบาทขององค์กรในต่างประเทศที่ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้แก่แกนนำบีอาร์เอ็นคือ “เจนีวาคอล” และองค์กรเอ็นจีโออีกหลายประเทศที่เคลื่อนไหวอยู่ในปีกโอบของ “องค์การสหประชาชาติ (UN)” โดยมีตัวแทนของภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร่วมทำหน้าที่ “เปิดบาดแผล” โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละเมิดในด้านต่างๆ ของผู้คนในพื้นที่เป็นหักหอกสำคัญ
ที่เห็นชัดเจนคือ การนำเรื่อง “การตรวจดีเอ็นเอ” ของคนในพื้นที่โดยไม่ยินยอม และ “การตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ” ของผู้ที่ไม่ได้ทำตามข้อบังคับของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือการสแกนใบหน้าของผู้ใช้โทรศัพท์หรือ “2 แชะอัตลักษณ์” ซึ่งแม้ว่าตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะอ้างว่า “ไม่ได้ละเมิด” แต่เป็น “การขอความร่วมมือ” แต่คนที่ไม่ให้ความร่วมมือก็ใช้โทรศัพท์ไม่ได้ นั่นจึงไม่ใช่ของความร่วมมือ แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมายต่างหาก
องค์กรที่ 2 ที่เข้าไปเพื่อสังเกตการณ์แล้วไม่ยอมถอนออกไปคือ หน่วยงานกาชาติสากลหรือ “ไอซีอาร์ซี” และ “แพทย์ไร้พรมแดน” ที่เข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่สถานการณ์ในพื้นที่ไม่มีอะไรที่สอดรับกับ “วัตถุประสงค์” ขององค์กรเหล่านั้นแม้แต่ข้อเดียว
ถ้าสำนักงานงานข่าวกรองแห่งชาติ ถ้าสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะได้ติดตาม “บริบท” ขององค์กรเหล่านี้ก็จะพบว่า เป็นการเข้าไปเพื่อ “เอื้อประโยชน์” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะกับ “ปีกทางการเมือง” ของบีอาร์เอ็น มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐในการดับไฟใต้แต่อย่างใด
ปฏิบัติการของ “ไอซีอาร์ซี” ที่ผ่านมา และที่เป็นอยู่ผู้ติดติดตามอย่างเกาะติดต้องอดคิดไม่ได้ว่า เป็นการเข้าไป และขออยู่อย่างถาวรเพื่อเตรียมการอะไรบางอย่าง หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นการเขาเข้าไปเพื่อเก็บข้อมูล รวมรวมเรื่อง “การละเมิดสิทธิ” ต่อคนในพื้นที่ และโดยเฉพาะเรื่องความต้องการ “กำหนดใจตนเอง” ของคนกลุ่มหนึ่ง เรื่อง “การใช้ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นตลอด 16 ปีที่ผ่านมา และเรื่อง “ความไม่เป็นธรรม” จากฝ่ายของแนวร่วมบีอาร์เอ็น”
ในขณะที่ ตูแวดานียา ตูแวแมแง
จากสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Lempar)
เขียนเฟสบุ๊ค มองปรากฎการณ์นี้ มีทั้งผลดีและผลเสีย
กล่าวคือ
ผลดีคือ
1) เฝ้าระวังการปฏิบัติการทางการทหารให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎกติกาสากลว่าด้วยการเคารพต่อพันธะกรณีในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
2) ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามมาตรฐานกฎกติกาสากล
ผลเสียคือ
1) ICRC และ Geneva Call ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายสงคราม ประเด็นคือ “จชต.เป็นพื้นที่สงครามหรือไม่?” ใครจะเป็นผู้ตอบว่าจชต.เป็นหรือไม่เป็นพื้นที่สงคราม?
2) ในเวทีประเทศไทย ICRC และ Geneva Call จะบอกว่า “จชต.มิใช่พื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ”
แต่รายงานส่งไปยังองค์กรแม่คือตรงกันหรือไม่?
3) กลุ่มเป้าหมายของICRCคือช่วยเหลือผู้ต้องหาและครอบครัว/ชุมชนคดีความมั่นคง ส่วนกลุ่มเป้าหมายของGeneva Call คือขบวนการเอกราชปาตานี
สำหรับคนทำงานกระบวนการสันติภาพไม่ว่าจากรัฐ ขบวนการ และนักวิชาการ คงจะต้องมองรอบด้านเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่มากที่สุดเพราะเขาคือผู้ได้ผลกระทบที่แท้จริงส่วนสื่อก็จำเป็นต้องรายงานข่าวอย่างรอบด้าน และสำหรับคอลัมนิสต์เองก็ต้องไม่เขียนบทความจับแพะชนแกะ เหมารวม ระหว่างคนเห็นต่างจากรัฐทั้งหมด อยู่กับขบวนการ เหมือนกับพยายามเขียนบทความเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐจัดการคนไม่เห็นด้วยกับโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรม ว่า เป็นคนกลุ่มเดียวกับขบวนการ BRN
ดังที่บทความเขียนไว้ว่า “
ทว่า มีแผนอันร้ายกาจของบีอาร์เอ็นคือ บีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมต่อต้านการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิด “เมืองต้นแบบที่ 4” บนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการพัฒนาในรูปแบบ “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” โดยมีการตั้ง “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือการหนุนกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีให้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อันเป็นแบบเดียวกับการเกิดขึ้นของ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “EEC” ที่มีการผลักดันจนสำเร็จกันมาแล้ว
ถ้าข่าวที่ได้มานี้เป็นจริงก็ไม่น่าจะต้องแปลกใจอะไร เพราะการที่บีอาร์เอ็นเลือกเป้าหมายวางระเบิดคาร์บอมบ์ลูกล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แม้สาเหตุสำคัญของการวางระเบิดคือ ต้องการตอบโต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการปิดล้อมและวิสามัญแนวร่วมบีอาร์เอ็น 3 ศพที่ในพื้นที่ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา รอยต่อกับ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
แต่การที่ได้เลือกเป้าหมายปฏิบัติการไว้บริเวณหน้า ศอ.บต.ในวันที่มีการระดมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดกัน นั่นก็คือการส่งสัญญาณให้ “ผู้บริหาร ศอ.บต.” ได้รับรู้ว่า บีอาร์เอ็นไม่พอใจในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต.ที่เกี่ยวข้องกับแผนปลุกปั้น “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ด้วยนั่นเอง”
เพราะบีอาร์เอ็นรู้ดีว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ ศอ.บต.รับผิดชอบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือโดยเฉพาะการผลักดันให้เกิด “โรงไฟฟ้าชุมชน” หรือ “โรงไฟฟ้าชีวมวล” การผลักดัน “เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม” ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี การผลักดัน “เมืองต้นแบบการท่องเที่ยว” ที่ อ.เบตง จ.ยะลา หรือการผลักดัน “เมืองต้นแบบธุรกิจเพื่อการส่งออก” ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวมถึงการผลักดัน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
เหล่านี้ล้วนจะทำให้คนในพื้นที่จำนวนมากได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็น ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น และต้องต่อต้านเพื่อให้แผนขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาต่างๆ ของ ศอ.บต.มีอุปสรรคในการเดินหน้าให้ได้
ที่สำคัญบีอาร์เอ็นมีแผนในการส่งคนในขบวนการที่เป็น “ปีกการเมือง” โดยจัดตั้งไว้ในภาคประชาสังคมให้เข้าร่วมในการชุมนุมทางการเมืองในทุกระดับที่จะมีขึ้นทั้งในพื้นที่และที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะต้องการบอกสังคมให้รับรู้ว่า บีอาร์เอ็นมีการยกระดับสู่ความเป็นขบวนการก่อการร้ายที่มี “ชื่อชั้นอยู่ในเวทีโลก” แล้ว ซึ่งวันนี้หน่วยงานความมั่นคงต้องรับรู้ และต้องหารายละเอียดแผนการร้ายของบีอาร์เอ็นที่มีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยโดยเร็ว”
(หมายเหตุโปรดดูบทความเต็มใน
https://mgronline.com/south/detail/9630000054431)
อย่างไรก็แล้วแต่กรณีโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้านั้นมิใช่มีเฉพาะคนไม่เห็นด้วย แต่ก็มีกลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการก็มีเพราะ
บ่ายวันที่ 15 พ.ค.63
พลันที่ศอ.บต.ออกมาถอยหนึ่งก้าวก็มีกลุ่มที่หนุนโครงการนี้ออกมายื่นหนังสืออ้างเสียงชาวบ้านเช่นกันให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อ
โดยยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรื่องขอเปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านก่อนว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งกลุ่มนี้มั่นใจว่าเจ้าของพื้นที่ตัวจริงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนา สร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่
นักวิเคราะห์มองว่า
“นี่เป็นธรรมชาติการต่อสู้ของโครงการใหญ่ของรัฐทุกครั้งทุกรัฐบาลมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายหนุนโครงการแต่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อาจมีมากกว่านี้และมีสิทธิ์ที่จะนำคำว่าญีฮาดหนุนเสริมการต่อสู้”
อะไรคือทางออก
อันเนื่องมาจากผู้เขียนได้ร่วมลงพื้นที่โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข สถาบันพระปกเกล้าหรือที่เรียกว่า 4 ส รุ่นที่ 8 นำโดยนายแพทย์นันทวัช สิทธิรักษ์
พบว่า
1. แก่นหลักที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความแข็งขืนต่อต้านโครงการนี้ในนภาพรวมคือ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (no trust) ประเด็นหลักที่พบได้แก่ ชุดข้อมูลที่ฝ่ายรัฐและแนวร่วมรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการมีอยู่มักถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัด ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจให้ข้อมูลไม่ตรงตามเอกสารจริง ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นองค์กรเอกชนถูกอีกฝ่ายอ้างด้วยเช่นกันว่าข้อมูลด้านตรงกันข้ามรวมทั้งมีการใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยก
2. การไม่ยอมรับผลการประเมิน EIA (Environmental Impact Assessment) คือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” EHIA (Environment and Health Impact Assessment) คือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจากหลายเหตุผล
3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว
4. ความไม่ยืดหยุ่นของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์โครงการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน
5. กระบวนการลดผลกระทบเชิงลบและการเยียวยาของโครงการที่มีต่อประชาชนที่มิได้ศึกษามิติต่างๆ ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งที่สามารถตีค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ (tangible) และมีคุณค่าที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน
6. ไม่มีกระบวนการติดตามโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
หากจะเดินหน้าทำตาม ปณิธาน “จะนะเมืองน่าอยู่ มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ กันความไม่ไว้ใจ
ดังนั้น ทางออกที่วินๆ(ชนะ)ทุกฝ่าย ถ้าจะเชื่อใจ บริสุทธิ์ว่า เพื่อประชาชน ก็เริ่มนับหนึ่ง ใหม่โดยการมีส่วนประชาชน (ทั้งต้นนำ้ กลางและปลายนำ้)มันจะชอบธรรมทั้งกระบวนการและกฎหมาย
ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ช่วงระยะๆ ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการต้องเปิดให้มีส่วนร่วมที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน
ขั้นตอนที่ 2 การร่วมกำหนดเป้าหมายโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความจำเป็นของรัฐ
ขั้นตอนที่ 3 กระบวนการลดผลกระทบโครงการและการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม
ขั้นตอนที่ 4 กระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างมีส่วนร่วม
ผู้เขียนมีทัศนะว่าปัญหาการประท้วงที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต่อโครงการลักษณะนี้ซึ่งจะกระทบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนจนบานปลายสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถ้าได้รับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไร สังคมในพื้นที่และภายนอกจะยอมรับได้ในกติกานี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือหนุนปัญหาการไม่ยอมกันคงมีแต่อาจจะน้อย การประท้วงหน้าทำเนียบก็คงจะลด หรือถ้ามีประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโล่ให้รัฐเพราะผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
2,318 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.