พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เฉพาะกิจจันทร์เสี้ยวฯ จม.เปิดรายงาน ฉ.3 เสนอรัฐบาลไทยเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย

แชร์เลย

รายงานพิเศษ..

ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน..

นับตั้งแต่ สมาคมจันทร์เสี้ยวเพื่อการแพทย์และสาธารณะสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) เมือวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่าน จากการทำงานของ คฉ.จม.ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนว่า คฉ.จม.ได้มีข้อเสนอแนะหลายประการต่อหน่วยงานภาครัฐของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยประสานความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยอย่างทั่วถึงในสถานการณ์ความเข้มงวดของมาตรการจำกัดการสัญจร (MCO) การขอให้ยกเลิกการใช้ใบรับรองแพทย์ fit to travel การเพิ่มโควต้าการเดินทางกลับประเทศ การจัดรถบัสฟรีรับผู้เดินทางกลับไทยจากจุดต่างๆ ในมาเลเซียมายังด่านพรมแดน ข้อเสนอให้รัฐจัดหาสถานที่กักตัวที่พอเพียง รวมทั้งข้อเสนอให้รัฐจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย ทั้งนี้ บางข้อเสนอ ทางภาครัฐได้มีการดำเนินการไปแล้วแม้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก อาทิ การจัดหารถบัสรับคนมายังด่านพรมแดนฟรีหรือการหาสถานที่กักตัวที่เพียงพอ ขณะที่ข้อเสนออีกหลายข้อยังไม่ได้รับการแก้ไข ในรายงานฉบับที่ 3 นี้ คฉ.จม.ได้ปรับปรุงข้อเสนอแนะเพื่อให้ทันสถานการณ์มากขึ้น และขอแนะนำให้ภาครัฐของไทยดำเนินการดังต่อไปนี้
ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แรงงานไทยที่ยังตกค้างในมาเลเซียอย่างทั่วถึงทันต่อสถานการณ์ และด้วยความใส่ใจ


รัฐบาลไทยต้องให้ความช่วยเหลือด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซียต่อไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความทั่วถึงในการช่วยเหลือ นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องตระหนัก เข้าใจ มีความใส่ใจในรายละเอียดความเดือดร้อนของแรงงานไทยเหล่านี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่ยังตกค้างอยู่ในมาเลเซีย นั่นคือ ปัญหาด้านสุขภาพจากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ในสถานการณ์ปกติคนไทยในมาเลเซียที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า จะเดินกลับเมืองไทยเป็นระยะๆ เพื่อพบหมอและรับยา รวมทั้งในการคลอดบุตร การทำฟัน และอื่นๆ ก็จะมารับการรักษาในฝั่งไทย ที่เป็นเช่นนี้ นอกจากจะเป็นเพราะคนไทยมีสิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในมาเลเซียแพงเกินกว่าจะจ่ายได้แล้วนั้นยังเป็นเพราะแรงงานจำนวนมาก “คุยกับหมอไม่เป็น” คือ ไม่สามารถสื่อสารอาการป่วยกับหมอในคลีนิคหรือโรงพยาบาลในประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่รู้ภาษาอังกฤษและไม่ถนัดใช้ภาษามลายูกลาง เมื่อมีการปิดพรมแดนและไม่สามารถเดินทางกลับได้จึงประสบเดือดร้อน อาการป่วยกำเริบ รัฐบาลไทยควรหาทางช่วยเหลือแก้ไขในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน  เยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งคนที่อยู่ในมาเลเซียและคนที่เดินทางกลับไทย


เนื่องจากแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งหมดคือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และจากมาตรการ MCO ของมาเลเซีย พวกเขาไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ในมาเลเซียยังไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรเข้าไปช่วยเหลือจัดการให้เงินเยียวยาแก่พวกเขาเช่นเดียวกับที่รัฐเยียวยาประชาชนอื่นๆ ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่ว่าพวกเขาจะยังคงอยู่ในมาเลเซียและหรือที่เดินทางกลับไทยแล้วก็ตาม
อำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในมาเลเซียที่เดินทางกลับประเทศ
การกลับประเทศคือที่พึ่งของคนไทยในมาเลเซียที่หมดหนทางในการประกอบอาชีพที่นั่น รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องโอบรับคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และต้องอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่พวกเขาในการเดินทางกลับประเทศทั้งนี้ หากพิจารณาจากจำนวนผู้เดินทางกลับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 ถึง 11 พฤษภาคม 2563 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 8,938 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพียง 1 รายเท่านั้น อันแสดงให้เห็นแรงงานที่เดินทางกลับจากมาเลเซียไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสำคัญคฉ.จม. ขอเสนอให้รัฐบาลไทยปรับแนวทางจากการสร้างเงื่อนไขเพื่อชะลอการเดินทางกลับประเทศมาเป็นการอำนวยความสะดวกแทน รัฐบาลไทยควรทำให้ระบบการลงทะเบียนกลับประเทศเป็นเรื่องง่าย ขยายโควต้าการกลับประเทศที่สำคัญรัฐต้องออกแบบระบบการพาคนไทยกลับบ้านให้ครอบคลุมแรงงานไทยในมาเลเซียที่ overstay หรือเข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมายให้สามารถกลับเข้าประเทศไทยได้โดยถูกต้องและไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ต้องหาในข้อหา “ลักลอบเข้าประเทศของตัวเอง” รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องพิจารณาการอนุญาตให้คนไทยในมาเลเซียที่มียานพาหนะรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์สามารถนำยานพาหนะเหล่านี้ซึ่งเครื่องมือทำมาหากินของพวกเขากลับประเทศไทยได้ รวมทั้งต้องปรับปรุงสถานที่กักตัว local quarantine ให้มีคุณภาพ สะอาด มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอ และต้องทำให้ผู้กักตัวมีความภูมิใจในฐานะผู้เสียสละที่ร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19
ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการแก้ปัญหาแรงงานไทยเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน จากสถานการณ์โควิด 19 ที่การแพร่ระบาดส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์ของแรงงานต่างชาติและการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มของแรงงงานต่างชาติที่ทำได้ยาก จึงมีแนวโน้มมากที่รัฐบาลมาเลเซียอาจผลักดันแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกนอกประเทศ ประกอบกับการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียได้มีประกาศที่ชัดเจนออกมาแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่าหลังการยกเลิก MCO แรงงานที่ overstay ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 จะต้องไปรายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายในที่นี้มีทั้งการจำคุก ปรับ และการโบย ก่อนส่งกลับประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรดำเนินการประสานงานกับรัฐบาลมาเลเซียในสองส่วน คือ 1) การเจรจาขอให้แรงงานไทยที่overstay หรือไม่มีเอกสารการเดินทางตั้งแต่ก่อน 1 มกราคม 2563 สามารถเดินทางกลับไทยได้โดยไม่ต้องรับโทษทั้งในช่วงนี้และช่วงที่มาเลเซียยุติมาตรการ MCO และ 2) การจัดการระยะยาวในการทำให้แรงงานไทยในมาเลเซียเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน
เตรียมรองรับเรื่องอาชีพและปัญหาทางเศรษฐกิจของแรงงานที่กลับบ้าน
สืบเนื่องจากแนวโน้มที่รัฐบาลมาเลเซียอาจผลักดันแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกนอกประเทศ แรงงานไทยคงไม่สามารถทำงานในมาเลเซียในแบบเดิมที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานได้อีกต่อไป แรงงานไทยจำนวนมาหาศาลจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทางการมาเลเซียและต้องกลับมาใช้ในประเทศไทยตามเดิม รัฐบาลไทยจะต้องเตรียมรับมือในการหาอาชีพรองรับแรงงานไทยจากมาเลเซียเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีพในประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นายตูแวดานียา มือรีงิง ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องออกมาแสดงบทบาทและความจริงจัง ที่แนวแน่ในการที่จะแก้ปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซียที่ยังตกค้างและอยู่อย่างผิดกฎหมาย หลบๆ ซ่อนๆ ว่ารัฐบาลไทยจะเข้าไปช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้อย่างไรให้พวกเขาได้กลับบ้านโดยการประสานงานในระดับทวิภาคี
“สิ่งที่เราอยากเห็นคือแอ็คชั่นของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้เพราะการปล่อยให้แรงงานเหล่านี้อยู่แบบผิดกฎหมายนานๆ ในมาเลเซียอาจจะเป็นไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของไทยต่อประชาคมอาเซียนว่าละเลยและไม่รับผิดชอบต่อชะตากรรมของพลเมืองตัวเองที่ตกทุกข์ยากในต่างแดน และควรหามาตรการร่วมกันอนาคตของแรงงานไทยในมาเลเซียว่าควรจะเป็นรูปแบบใดเพื่อแรงงานกว่าแสนคนที่เคยทำงานในมาเลเซียได้กลับทำงานในมาเลเซียได้อย่างถูกต้อง” ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าว
มีแนวคิดจากผู้ระกอบการในพื้นที่ชายแดนเสนอทางออกของปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซียเพื่อจัดระบบให้กลุ่มคนงานเหล่านี้ไปทำงานในมาเลเซียไปโดยถูกต้องและ ได้ค่าแรงตามมารตราฐานควรได้ มีการอบรมก่อนไป ระยะสัน มีระบบชำระเงิน เดือน ค่าแรงการจัดการเรื่องสวัสดิการ ในมาเลเซีย ระบบการโอนเงินกลับมาประเทศไทย

 819 total views,  2 views today

You may have missed