พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ว่าด้วย “การผ่อนคลายให้มุสลิมไปละหมาดวันศุกร์ได้”

แชร์เลย

นพ กษิดิษ ศรีสง่า ผอ.แผนกผู้ป่วยอาหรับ รพ กรุงเทพ ฯ

การผ่อนคลายให้มุสลิมไปละหมาดวันศุกร์ได้โดยมีเงื่อนไขกำลังเป็นที่สนใจของหลายๆฝ่าย มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายที่ยังวิตกกังวลอยู่ แต่ผมอยากจะบอกว่า มันคือก้าวที่เราต้องเดินไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การละหมาดวันศุกร์ครั้งนี้คือก้าวที่สองของการทดสอบระบบ ทดสอบคน เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปยังการเปิดประเทศแบบปกติในที่สุด
เราได้ก้าวมาหนึ่งก้าวแล้วด้วยการอยู่แต่ในบ้าน และออกนอกบ้านเป็นบางครั้งด้วยหน้ากาก ด้วย social distancing ซึ่งเราทำสำเร็จด้วยดีเป็นที่สรรเสริญจากทุกๆฝ่ายทั่วโลก
แต่จะจมอยู่กับความสำเร็จเดิมไม่ได้ เราต้องก้าวต่อไป เพราะในความสำเร็จเพื่อหยุดโรคนั้น เราจะต้องแลกกับอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าเศรษฐกิจ ความเครียด ความยากลำบาก และในบางคนถึงกับแลกด้วยชีวิต และเราไม่สามารถจะอยู่อย่างนี้ได้ตลอดไป สุดท้ายเราจะต้องออกมาใช้ชีวิตแบบปกติของเราให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจกลับคืนมา โดยเร็วก่อนจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้


ช่วงเวลานี้ทุกๆคนทราบดีว่าโรคยังไม่หมดไป แต่คนไข้ก็เหลือน้อยพอที่เราจะร่วมกันเดินก้าวต่อไปคือ เพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้นโดยเน้นกิจกรรมที่จำเป็น ใช้เวลาน้อยไปก่อน และเฝ้าดู 14 วัน ในของมุสลิมเรา ได้เลือก การละหมาดวันศุกร์ซึ่งถือว่าน่าจะเซฟที่สุดแล้ว เพราะทำแค่สองศุกร์ก็ครบ 14 วันแล้ว และเวลาการทำกิจกรรมก็ไม่นานนัก โดยทางจุฬาได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์และการศาสนาปรึกษากันอย่างรอบคอบแล้วจึงร่วมกันออกกฎเกณฑ์มา ซึ่งถือว่าน่าจะป้องกันความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ถ้าเราทำสำเร็จเราจะได้ก้าวต่อไปอีก ถ้าไม่สำเร็จก็แค่กลับมาจุดเดิม และเรียนรู้กันใหม่
การที่ให้ละหมาดก็ไม่จำเป็นว่ามัสยิดทั้งหมดทั้งประเทศต้องละหมาด แต่มันขึ้นอยู่กับที่นั้นๆว่า คณะกรรมการมัสยิด มีความสามารถที่จะทำได้ไหม และสัปปุรุษสามารถทำได้ตามที่วางแผนไว้หรือเปล่า มันจะต้องมีการวางแผนงานกันอย่างรอบคอบ ถ้าทำไม่ได้ก็รอไปก่อน จนกว่าจะพร้อม แต่เราจะต้องไม่ปิดกั้นมัสยิดที่ กรรมการพร้อม และสัปปุรุษพร้อม เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้จากเขา


ข้อกำหนดที่สำคัญ (หลังจากผ่านข้อ1 ในคำประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีครั้งนี้)ได้แก่
1. ให้ละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดได้ เพราะถือว่าน้อยที่สุดแล้ว เนื่องจากมีอาทิตย์ละครั้ง และเป็นฟัรดูที่จะต้องทำเมื่ออุปสรรคหมดไป
2. ให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มาตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามัสยิด เพื่อช่วยกันคัดกรองผู้ป่วยออกไปก่อน ระดับหนึ่ง
3. ให้จัดวางเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไว้บริเวณประตูทางเข้ามัสยิดเพื่อ ให้เชื้อโรคไม่มีที่มือ
4. งดใช้บ่อน้ำ (กอเลาะห์ หรืออ่างใหญ่ร่วมกัน เนื่องจากจะเป็นแหล่งแพร่โรคจากคนๆหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้และให้อาบน้ำละหมาดมาจากบ้าน
5. ให้ทำความสะอาดพื้นมัสยิด ก่อนและหลังการละหมาดวันศุกร์ (ณุมอะห์) ทุกครั้ง เพื่อขจัดเชื้อโรคออกให้มากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมสถานที่ให้ปราศจากเชื้อโรค
6. ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยให้เปิดหน้าต่างมัสยิด ผ้าม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จะทำให้เชื้อไม่สะสม และกระจายออกไป
7. ให้จัดทำเครื่องหมายจุดละหมาดที่สามารถระบุตำแหน่งได้ โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างแต่ละจุด 1.50 ถึง 2 เมตร และให้คนละหมาดยืนตามนั้น
8. ให้ควบคุมทางเข้าออกมัสยิด เพื่อจะได้ตรวจได้ทุกๆคน
9. และจัดระเบียบระยะห่างขณะเดินเข้าและเดินออกจากมัสยิดหลังเสร็จสิ้นการละหมาดวันศุกร์ (ณุมอะห์) เพื่อให้เกิด social distance ให้มากที่สุด
10. ให้ใช้ผ้าปูละหมาด (ผ้าชะญาดะห์) ส่วนตัว โดยนำมาจากบ้าน เพราะเวลาซูหยุดหน้าและจมูกจะโดนที่ผ้า อาจจะมีติดเชื้ออยู่ที่บริเวณซูหยุดได้
11. ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติศาสนกิจ
12. งดการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือพร้อมกล่าวสลาม เท่านั้น เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อผ่านทางมือ
13. เด็กและสตรีให้งดการร่วมละหมาดวันศุกร์ (ณุมอะห์) ที่มัสยิด เพราะผู้ที่จะต้องไปคือชายมุสลิมที่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น
14. หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดการไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด
15. ให้กระชับเวลาในการละหมาดวันศุกร์ (ณุมอะห์) นับตั้งแต่อะชาน คุตบะห์ และละหมาด ไม่เกิน 20 นาที เพื่อให้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันให้สั้นที่สุด เท่าที่จะทำได้
การก้าวไปครั้งนี้ของท่านจุฬาถือว่าทำได้อย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุดแล้ว เพราะไม่ได้เริ่มด้วยทุกๆละหมาด เพราะจะทำให้จำนวนมากไปคุมไม่ไหว แต่เริ่มจากวันศุกร์ก่อน ซึ่งเป็นฟัรดู และทำแค่อาทิตย์ละครั้ง ทำเพียง 2 ครั้งก็จะครบ 2 อาทิตย์ก็จะได้ประเมินแล้วว่าผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ก็หยุด ไม่เสียหายมาก และเป็นความเสียหายที่แก้ไขได้ แต่ทุกๆคนจะได้เรียนรู้ร่วมกัน และมันจะนำไปสู่กิจกรรมอื่นๆด้วยในอนาคต หน้าที่เราคือทำให้ดีที่สุด แล้วตะวักกั้ล ส่วนความสำเร็จของมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้า และขอให้พระองค์จงประทานความสำเร็จให้กับพวกเราทุกๆคนด้วยเทอญ อามีน
หมายเหตุ
” ในแต่ละมัสยิดที่จะเริ่มละหมาดวันศุกร์นั้น จะต้องผ่านการปรึกษาเพื่อให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันของทุกๆฝ่าย เพื่อให้เกิดการบูรณาการและแบ่งงานกันทำ ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายแพทย์ ฝ่ายคณะกรรมการอิสลามทั้งระดับจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งประชาชนผู้ปฏิบัติ เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันและกำหนดแผนการชัดเจนจึงจะดำเนินการต่อไปอย่างรอบคอบและระมัดระวัง”

 1,095 total views,  2 views today

You may have missed