แนะให้แลกเปลี่ยน #นำคนต่างชาติในไทยกลับบ้านเขา และ #นำคนไทยในต่างชาติกลับบ้านเรา
(5 พ.ค.63) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาชาติประกอบด้วย นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3 พร้อมด้วยนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4 และ ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลเช่น พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย, นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มารับหนังสือ เรื่องปัญหาการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยที่ติดค้างอยู่ต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคระบาด และสำหรับคนไทยที่ยังมีตกค้างอยู่ในหลายประเทศต่างพยายามดำเนินการเพื่อให้ได้กลับสู่มาตุภูมิ
ศูนย์ประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมประชุมหารือกับสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยฟาฎอนีศูนย์ดะวะห์ตับลีฆแห่งประเทศไทย (มัรกัสยะลา) และประชาคมโลกมลายูโลกอิสลามประจำประเทศไทย ได้รับข้อร้องเรียนจากคนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศดังกล่าว ศูนย์ประสานงานฯ จึงขอเสนอแนวทางการดำเนินการที่เห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้เพื่อให้คนไทยที่ยังติดค้างอยู่ในต่างประเทศได้เดินทางกลับประเทศดังนี้
1. กลุ่มคนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศมาเลเซีย
1.1 กรณีที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ปรากฏข้อร้องเรียนว่า ค่าใช้จ่ายในการให้แพทย์ออกหนังสือรับรองสุขภาพ (fit to travel) เพื่อใช้ประกอบในการขอเดินทางกลับมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ศูนย์ประสานงานฯ เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงขอ พณฯ ท่าน โปรดพิจารณาร้องขอในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อขอผ่อนผันเงื่อนไขการเดินทางผ่านแดนไม่ต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพ ด้วยเหตุผลในการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยดังกล่าวเป็นการเดินทาง โดยทางพาหนะรถยนต์หรือเดินเท้า ไม่ได้เดินทางเข้าประเทศโดยสายการบินแต่อย่างใด และตามมาตรการคัดกรองบุคคลของประเทศไทยเมื่อเดินทางมาจากต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยง ทุกคนต้องเข้าสู่มาตรการคัดกรองที่ศูนย์กักกัน Local Quarantine เป็นเวลา 14 วัน หรือหากมีความจำเป็นต้องให้มีการออกหนังสือรับรองสุขภาพในการเดินทางเข้าประเทศ ศูนย์ประสานงานฯ สามารถจัดให้มีอาสาสมัครแพทย์เพื่อทำหน้าที่ตรวจร่างกายคนไทยทุกคนที่บริเวณด่านชายแดนที่จะเดินทางเข้าประเทศได้
1.2 กรณีที่ไม่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย (สามารถลดจำนวนคนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยได้) ขอให้รัฐบาลเปิดช่องทางให้คนไทยเหล่านั้นสามารถลงทะเบียนผู้ขอรับเงินช่วยเหลือตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการเดือนละ 5,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในประเทศ
1.3 สำหรับคนไทยที่อยู่ระหว่างการทยอยกลับตามความต้องการหรืออยู่ระหว่างรอการรับความช่วยเหลือตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ขอให้รัฐบาลจัดสรรปัจจัยยังชีพให้กับทุกคน โดยเนื่องจากตามข้อมูลการร้องเรียนยังพบว่ามีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เดินทางเข้าลงทะเบียนแจ้งชื่อต่อสถานทูตหรือกงสุลเหตุเพราะอุปสรรคจากการเดินทางหรือไม่ทราบวิธีการปฏิบัติ จึงขอให้ฝ่ายราชการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่แต่ละรัฐเพื่อรับการลงทะเบียนจากคนไทยกลุ่มดังกล่าว และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับจัดหาปัจจัยยังชีพแก่ทุกคน
1.4 เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนภาคประชาสังคมต่างให้ความสำคัญเข้าให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในประเทศมาเลเซีย จึงขอเรียนเพื่อทราบว่าปัจจุบันมีภาคเอกชนภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้มอบความช่วยเหลือโดยตรงแก่คนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียแต่ก็สามารถช่วยเหลือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
2. กลุ่มคนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศอื่นๆ
2.1 กรณีที่ไม่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย (สามารถลดจำนวนคนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยได้) ขอให้รัฐบาลเปิดช่องทางให้คนไทยเหล่านั้นสามารถลงทะเบียนผู้ขอรับเงิน
ช่วยเหลือตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการเดือนละ 5,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในประเทศ
2.2. สำหรับคนไทยที่อยู่ระหว่างการทยอยกลับตามความต้องการหรืออยู่ระหว่างรอการรับความช่วยเหลือตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ขอให้รัฐบาลจัดสรรปัจจัยยังชีพให้กับทุกคน โดยเนื่องจากตามข้อมูลการร้องเรียนยังพบว่ามีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เดินทางเข้าลงทะเบียนแจ้งชื่อต่อสถานทูตหรือกงสุลเหตุเพราะอุปสรรคจากการเดินทางหรือไม่ทราบวิธีการปฏิบัติ หรือต้องถูกดำเนินคดีจากประเทศนั้นๆ ก่อนเดินทางกลับได้ เช่นคนไทยในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศอินเดีย ประเทศตุรกี ประเทศอียิปต์ เป็นต้น จึงขอให้ฝ่ายราชการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่แต่ละรัฐเพื่อรับการลงทะเบียนจากคนไทยกลุ่มดังกล่าว พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนไทยที่ต้องถูกดำเนินคดีและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับจัดหาปัจจัยยังชีพแก่ทุกคน
2.3 เนื่องจากตามข้อมูลทราบว่าในประเทศไทยยังคงมีคนต่างชาติที่ตกค้างอีกจำนวนมากเช่นกัน เช่นคนอินเดีย คนอินโดนีเซีย เป็นต้น ศูนย์ประสานงานฯ จึงขอท่านพิจารณาเจรจากับชาติดังกล่าวเพื่ออาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนขนย้ายคนกลับประเทศของตน
2.4 เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนภาคประชาสังคมต่างให้ความสำคัญเข้าให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ จึงขอเรียนเพื่อทราบว่าปัจจุบันมีภาคเอกชนภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้มอบความช่วยเหลือโดยตรงแก่คนไทยที่ที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็สามารถช่วยเหลือได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
จึงขอให้โปรดพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น
โดยมี ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ร่วมลงนาม 8 ท่าน
นายอับดุลบาซิมอาบู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เขต 2 พรรคภูมิใจไทย
นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี เขต 4 พรรคประชาชาติ
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ
นายซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา เขต 2 พรรคประชาชาติ
นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลาเขต 3 พรรคประชาชาติ
นายกูเฮง ยาวอหะซัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 3 พรรคประชาชาติ
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3 พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลและ ศบค. รีบดำเนินการช่วยเหลือประชาชนไทยที่ยังอยู่ต่างประเทศ โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องพร้อมระบุว่าจะนำหัวข้อทั้งหมดเข้าที่ประชุม ศบค.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 นี้
จากนั้น ส.ส.ได้ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยต่อ โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมารับเรื่องร้องเรียน
ทีมโฆษกพรรคประชาชาติ
#พรรคประชาชาติ
#PrachachatParty
#โควิด19
896 total views, 2 views today
More Stories
เลขาฯ รมต.ยุติธรรม ชี้ มหกรรมแก้หนี้ ปลดหนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม แก้ปัญหาหนี้สิน 242 ล้าน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานเปิดป้ายอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ วิทยาลัยการอาชีพเบตง
เทศบาลเมืองปัตตานีจัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี