พฤษภาคม 9, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อเสนอแนะการจดทะเบียนซิม 2 แชะอัตลักษณ์ ที่ชายแดนภาคใต้ที่จะหมดเขต

แชร์เลย

การลงทะเบียนซิมโทรศัพท์หรือ “มาตรการสองแชะอัตลักษณ์” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะครบกำหนดอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2563 ผู้ใช้โทรศัพท์หลายคนได้รับข้อความจากค่ายมือถือว่าหากไม่มีการลงทะเบียนก่อนเดดไลน์ สัญญาณโทรศัพท์จะถูกตัดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงมากมายว่าการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแลกกับมาตรการทางความมั่นคงนั้นจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารหรือไม่? และที่สำคัญ เป็นมาตรการที่เหมาะสมในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 หรือไม่?

ลองย้อนดูว่าทำไมการจดทะเบียนซิมสองแชะจึงผิดกฎหมายตามทัศนะศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า มาตรการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการซิมการ์ดของแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ด้วยระบบการลงทะเบียนด้วยใบหน้าและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ยังมีความเคลือบคลุมในข้อกฎหมายที่อ้าง และในทางปฏิบัติยังไม่มีการกำหนดถึงวิธีการในการจัดเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล และการยกเลิกการให้ความยินยอมในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างชัดเจน ซึ่งอาจนำมาสู่การฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อสังเกตต่อมาตรการดังกล่าว ดังนี้

1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า กฎหมายระดับพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรอง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาในการใช้อำนาจออกมาตรการเก็บข้อมูลดังกล่าว ตามที่โฆษกของกอ.รมน. ชี้แจงนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กอ.รมน., กสทช. หรือเครือข่ายผู้ให้บริการซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการด้วยวิธีการถ่ายรูปเพื่อระบุใบหน้าได้

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรา 11 (6) ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งบัญญัติเพียงว่า หากนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้ว (ในที่นี้ หมายความถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใด หรือสั่งให้กระทำการใด เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน ฉะนั้น รายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 จึงเป็นอำนาจเฉพาะของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การที่เจ้าหน้าที่รัฐอื่น เช่น กอ.รมน. อาศัยเป็นฐานทางกฎหมายในการออกคำสั่งให้ผู้ใช้บริการซิมการ์ดของแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมาลงทะเบียนด้วยวิธีการตรวจสอบใบหน้า ย่อมเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของกอ.รมน. ระบุเพียงว่า กอ.รมน.สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาสถานการณ์ได้ หากปรากฏว่ามีเหตุการณ์อันกระทบความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และคาดหมายว่าเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะปรากฏอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดเฉพาะเจาะจงให้ผู้ให้บริการซิมการ์ดของแต่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ กอ.รมน. หรือหน่วยงานรัฐอื่น จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการหรือกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนการใช้ซิมการ์ดด้วย “วิธีการ” ถ่ายรูปใบหน้าของผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ประกอบกับประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประกาศ กสทช.) ซึ่งโฆษก กอ.รมน. อ้างว่าปัจจุบันเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้เก็บข้อมูลผู้ใช้บริการซิมการ์ดของแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออยู่แล้วนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบประกาศฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ ประกาศกสทช. เรื่องการลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่[1] ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดแต่เพียงว่า ในการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดของผู้ใช้บริการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ให้บริการซิมการ์ดในแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อย่างน้อยต้องดำเนินการจัดเก็บเลขบัตรประจำตัว ชื่อและสกุล ที่อยู่ เลขหมายโทรศัพท์ วันที่เปิดให้บริการ ชื่อและสถานที่ตั้งของจุดให้บริการ เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้ผู้ให้บริการซิมการ์ดของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องจัดเก็บรูปถ่ายใบหน้าของผู้ใช้บริการด้วยแต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเห็นว่า การจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ซึ่งลงทะเบียนตามมาตรการของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ อันเป็นการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกนำไปใช้ประโยชน์โดย กอ.รมน. ทั้งไม่ว่าการเก็บข้อมูลนั้นจะอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง แก้ไข หรือบรรเทาสถานการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือไม่ ย่อมเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลนั้น กอ.รมน.หรือหน่วยงานรัฐอื่น จึงจะยังนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ข้างต้นมิได้ จนกว่ามีการตรากฎหมาย หรือมีอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายที่ตราขึ้นแล้วกำหนดให้กระทำได้

ดังนั้น การกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้บริการซิมการ์ดของแต่ละเครือข่ายมือถือมาลงทะเบียนด้วยวิธีการถ่ายรูปใบหน้าของผู้ใช้ โดยกอ.รมน.และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือแต่ละเครือข่าย จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับ กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ในที่นี้คือ สิทธิในความเป็นอยู่และความเป็นส่วนตัวของบุคคล ขัดต่อทั้งมาตรา 26 และมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2562 และข้อบทที่ 17 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรัฐไทยเข้าเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2539

นอกจากนี้ หากผู้ใช้บริการซิมการ์ดของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือคนใดไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยวิธีการถ่ายรูปใบหน้าตามขั้นตอนที่ระบุไว้ข้างต้น จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้บริการของเครือข่ายมือถือนั้นได้อีก เพราะถูกระงับการใช้บริการโดยเครือข่ายผู้ให้บริการมือถือ คำสั่งทางปกครองนั้นย่อมส่งผลเป็นการละเมิดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2562 บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 36 อีกด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.tlhr2014.com/?p=13498
ในขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งทราบข้อกังวลของประชาชนชายแดนโดยเฉพาะช่วงโควิดได้ให้
ข้อเสนอแนะดังนี้

1.ขอให้กสทช. ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือไม่ หรือครอบงำและบงการโดยหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิบัติของผู้ให้บริการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อพิสูจน์และรับรองบุคคลนั้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชนหรือไม่?
2. ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
3. ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ทบทวนการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการพิสูจน์และรับรองบุคคลเพื่ออนุญาตให้ใช้ซิมโทรศัพท์ แม้เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการและมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การนำมาใช้ในการหาข้อมูลหรือเก็บหลักฐานประกอบปฏิบัติการข่าวกรองมักนำไปสู่การคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) หากไม่ใช้อย่างระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการจับและลงโทษคนผิด นอกจากจะนับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติยังสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก

หมายเหตุโปรดดูใน
เปิดเอกสาร กสทช. กอรมน. เกี่ยวกับการลงทะเบียนซิมการ์ด

 609 total views,  2 views today

You may have missed