พฤษภาคม 5, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

เสรีภาพบนทางสายกลาง เกี่ยวกับวิกฤติ Covid-19

แชร์เลย

โดย,ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ

เสรีภาพเป็นสิ่งที่สามัญสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ต้องการ​ (ฟิฏรอฮฺ)​ กระนั้น​ เสรีภาพก็เหมือนอาหารที่แม้จำเป็น​ แต่ก็ต้องบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ​ มากเกินไปก็เป็นอันตราย​ น้อยเกินไปก็ไม่พอยาไส้ให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า

โควิด-19​ ทำให้เห็นการใช้เสรีภาพในรูปแบบที่เกินเลย​ 2 รูปแบบ

1. การจำกัดเสรีภาพจนเกินขอบเขต​ เช่น​ ที่จีน​ ซึ่งรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการปกปิดข่าวสารการระบาดของโควิด-19​ จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลายไปทั่วโลก​ บัดนี้มีหลายประเทศร่วมกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจีนรวม​ ๆ​ กันแล้วไม่น้อยกว่า​ 6 ล้าน​ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
มิหนำซ้ำยังใช้อิทธิพลบังคับองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลบิดเบือนพลิกผันเกี่ยวกับโรคนี้​ เพราะถึงวันที่​ 19​ ก.พ.​ 63​ องค์การอนามัยโลกยังส่งเสริมการเดินทางโดยเสรีและไม่เห็นด้วยกับการปิดเมืองอยู่เลย
นี่เป็นที่มาว่าทำไมฝั่งสหรัฐจึงตัดเงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลก

2. ฝั่งเสรีประชาธิปไตย​ เช่น​ ในสหรัฐ​ ซึ่งเมื่อวานนี้มีคนออกมาเดินประท้วงรัฐบาลท้องถิ่นในหลายเมือง​ คนเหล่านี้อ้างว่าการออกมาตรการบังคับให้อยู่ในบ้านเพื่อป้องกันโรคระบาด​เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของตน​ จึงพากันฝ่าฝืนกฎหมายออกมาเดินตามท้องถนน​ ไม่สวมหน้ากากแลัยังพาเด็ก​ ๆ​ ออกมาประท้วงด้วย​ !!!

เราเห็นความตกขอบของทั้งสองฝั่ง​ ฝั่งหนึ่งใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออก​ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐและประเทศ​ จับกุมและทำให้คนเปิดเผยความจริงหายสาบสูญไปจำนวนมาก​ ที่สุดการบิดเบือนเหล่านั้นก็ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของคนนับล้าน​ทั่วโลก

อีกฝั่ง​ คำนึงถึงเฉพาะเสรีภาพส่วนบุคคลของตน​ จนละเลยหน้าที่อันพึงมีต่อสังคม​ คือ​ หน้าที่ในการร่วมปกป้องภยันตรายต่าง​ ๆ​ อันอาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนจำนวนมาก​ เป็นการใช้เสรีภาพส่วนตัวจนเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม​ จึงไม่แปลกที่ยุโรปกับอเมริกาซึ่งมีคนคลั่งเสรีภาพแบบนี้มาก​ จะกลายเป็นดินแดนที่มีคนป่วยและตายจากโควิด-19​ มากกว่าที่ใดในโลก

ในอิสลาม​ เสรีภาพทางความคิดถือเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์​ (ฟิฏรอฮ)​ ผู้ใดจะละเมิดมิได้​ แนวปฏิบัติต่าง​ ๆ​ ในส่วนที่เป็นเรื่องปลีกย่อยของชีวิต​ ทั้งในด้านการประกอบศาสนกิจ​ การเมืองการปกครองและธุรกรรมต่าง​ ๆ​ มีความเห็นต่างมากมายที่เรียกว่า​ มัซฮับ​ ประกอบอยู่​ และมุสลิมทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกแนวทางใดก็ได้ที่สอดคล้องกับความเห็นตนมาปฏิบัติ​ ตราบใดที่การปฏิบัตินั้นไม่ส่งผลให้สังคมส่วนรวมเสียหาย​ แต่หากการใช้เสรีภาพส่วนตัวทำให้สังคมส่วนรวมเสียหาย​ เช่น​ ออกมาฟัตวาสวนทางกับฟัตวาของผู้นำ​ในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนได้​ บุคคลก็ต้องยอมสละเสรีภาพส่วนตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของส่วนรวม

คำว่าส่วนรวมต้องเป็นส่วนรวมจริง​ มิใช่หน้าตารัฐบาลหรือผู้มีอิทธิพลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้น

การใช้อำนาจปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลในอิสลาม​ จึงทำได้เฉพาะในกรณีปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่หรือเพื่อรักษาสวัสดิภาพของสังคมส่วนรวมเอาไว้​ เช่น​ การห้ามไปรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค​ ถือเป็นสิ่งที่ทำได้​ หากมุ่งหมายรักษาชีวิตและสุขภาวะของประชาชนส่วนใหญ่

ส่วนคนที่เมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ห้ามแล้ว​ ยังคงฝ่าฝืนดื้อด้าน​ ย่อมไม่ถือว่าเป็นคนมีทางสายกลางตามที่อิสลามสอน​ แต่เป็นคนคิดสั้น​ มองแคบ​ และทำอะไรตามใจตนเอง​ จัดเป็นพวกบูชาอารมณ์มากกว่าบูชาพระเจ้า

ในซูรอฮ​อัลฟาติฮะ​ เรียกคนแบบนี้ว่า​ الضالين หรือผู้ลุ่มหลง​ ครับ

 842 total views,  2 views today

You may have missed