พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ฟัตวาว่าด้วยการงดถือศีลอดรอมฎอนกับภูมิต้านทานและไวรัสโคโรน่า และการละหมาดตารอเวียะห์

แชร์เลย

โดย ศ.ดร.อาลี กอเราะฮ์ดาฆี
เลขาธิการสหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ
(Internation Union of Muslim Scholars-
ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด (แปล)

○○○○○○○

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระเจ้าแห่งสากลโลก พรและความสงบสุขจงมีแด่ท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาต่อโลก และแด่วงศ์วาน และซอฮาบะฮ์ ตลอดจนผู้เจริญรอยตามคำสอนของท่านไปจนกระทั่งวันแห่งการตอบแทน

ประชาชาติอิสลามมีมติเห็นพ้องกันว่าการถือศีลอดรอมฎอนเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลาม เป็นหลักการภาคบังคับที่อัลลอฮ์และรอซูลได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

อัลลอฮ์กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกท่าน เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกท่านเพื่อว่าพวกท่านจะได้ยำเกรง”

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้นและสิ่งที่จำแนก ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกท่านเห็นเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น”

ตัวบทดังกล่าวได้ยกเว้นบุคคล 3 ประเภท จากการถือศีลอด คือ

● ประเภทที่ 1 บุคคลที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น คนชรา

● ประเภทที่ 2 ผู้ป่วย
นักวิชาการได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วย” ที่อนุโลมให้งดถือศีลอดดังนี้

○ อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวในหนังสือ “อัลมัจมุอ์” (6/261) ว่า

” وهذا ما لحقه مشقة ظاهرة بالصوم، أي مشقة يشق احتمالها، وأما المرض اليسير الذي لا يلحق به مشقة ظاهرة لم يجز له الفطر بلا خلاف عندنا ”

“คือผู้ที่การถือศีลอดทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่เขาอย่างชัดเจน หมายถึง จนไม่อาจทนได้ ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อย ในมัซฮับของเราถือว่าไม่อนุญาตให้ละศีลอดโดยไม่มีผู้เห็นต่าง”

○ อิบนุกุดามะฮ์ กล่าวในหนังสือ “อัลมุฆนีย์” (4/403) ว่า

” أجمع أهل العلم على إباحة الفطر للمريض في الجملة”

“ในภาพรวม นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้ผู้ป่วยงดถือศีลอดได้”

และกล่าวต่อว่า

” والمرض المبيح للفطر هو الشديد الذي يزيد بالصوم، ويُخشى تباطؤ برئه…”.

“การป่วยที่อนุญาตให้งดถือศีลอด ได้แก่ การป่วยขั้นรุนแรงที่อาจหนักขึ้นเพราะการถือศีลอด และกลัวว่าจะหายช้าลง”

นักวิชาการยังเห็นพ้องกันว่าผู้ป่วยจะต้องถือศีลอดชดใช้แทนการงดถือศีลอดดังกล่าว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ ۚ

“และในหมู่พวกท่าน หากมีผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่น”

รวมถึงหญิงมีประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร ที่ไม่อนุญาตให้ถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดเช่นกัน

● ประเภทที่ 3 คนเดินทาง
นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้คนเดินทางงดถือศีลอดได้ แต่มีความเห็นต่างในเรื่องจำนวนวันเดินทาง

■ โคโรน่ากับการถือศีลอด

ด้วยเหตุดังกล่าว โคโรนา (โควิด 19) เป็นโรคที่ร้ายแรงและอันตราย คนผู้ใดติดเชื้อนี้ก็จะได้สิทธิต่างๆ ตามที่ศาสนากำหนดไว้สำหรับผู้ป่วย

● 1. การถือศีลอดกับผลต่อภูมิต้านทาน

การถือศีลอดจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง และทำให้ผู้ถือศีลอดมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ ?

ข้าพเจ้าได้ยินด้วยตัวเองในการประชุมกับสภายุโรปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2020 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า 4 คน เข้าร่วมประชุม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจะไม่ถูกทำลายจากการถือศีลอด หากทว่า บรรดาแพทย์และนักโภชนาการจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิจัยของ ดร.มุอิซซุลอิสลาม อิซวัต ฟาริส ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการบำบัดและอายุรกรรมทั่วไป ที่มีการตีพิมพ์บทสรุป เมื่อ 7 ชะบาน 1441 กล่าวว่า ในการวิจัยล่าสุดของตนเอง เกี่ยวกับผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อการแสดงออกของยีนต่อสารพันธุกรรมจำนวนหนึ่งที่ควบคุมกระบวนการในการป้องกันการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบในผู้ใหญ่ เกือบ 60 คน ผลการศึกษาพบว่าการถือศีลอดสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนในยีนเหล่านั้น ได้สูงมากถึง 90.5 % ผลการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยืนยันว่าการถือศีลอดสามารถ
ป้องกันสภาวะความเครียดจากการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและลดประสิทธิภาพลง”

ในการวิจัยเพื่อทดสอบผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคและทำให้เกิดวัณโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนในการลดโอกาสการติดเชื้อจากเชื้อโรคดังกล่าว และเพิ่มความต้านทานของร่างกายโดยการเพิ่มจำนวนเซลล์ phagocytic และงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในการฟื้นฟูเซลล์ที่เสียหาย

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสมบูรณ์ของดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
وَأَن تَصُومُوا خَيْرٌ لَّكُمْ
“การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่าน”

การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่านในชีวิตโลกนี้ และในด้านสุขภาพ ตลอดจนเป็นการดีสำหรับชีวิตโลกหน้า

ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่อนุญาตให้มุสลิมทิ้งเสาหลักของศาสนาอิสลามนี้ นอกจากด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมที่อัลลอฮ์อนุญาต

แม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันเช่นนี้ แต่ถ้าหากว่าแพทย์หลายๆคน ได้วินิจฉัยทางการแพทย์ว่า คนใดคนหนึ่งถือศีลอดแล้วมีโอกาสมากกว่า 50 % ที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็อนุญาตให้งดถือศีลอดได้ พร้อมตั้งเจตนาที่จะชดใช้หลังผ่านพ้นเหตุอนุโลม

หลักการนี้นักกฎหมายอิสลามในอดีตได้กล่าวไว้แล้ว โดยที่กลุ่มนักกฎหมายอิสลามมัซฮับหะนะฟีย์เห็นว่า ทัศนะที่ถูกต้องเห็นว่า เมื่อคนๆหนึ่งมั่นใจว่าหากเขาถือศีลอดจะเจ็บป่วย อนุญาตให้เขางดถือศีลอดได้ พร้อมกับต้องถือศีลอดชดใช้ ทั้งนี้ ความมั่นใจดังกล่าว พิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือความเห็นของแพทย์ ( หาชียะฮ์อิบนุอาบิดีน : 2/116 )

ในขณะที่นักวิชาการมัซฮับมาลิกเห็นต่าง โดยเห็นว่า หากคนๆหนึ่งกลัวว่าจะเจ็บป่วย จากการถือศีลอด ไม่อนุญาตให้งดถือศีลอด ตามทัศนะหลักของมัซฮับมาลิก ( หนังสือหาชียะฮ์ดุซูกีย์ : 1/153)

○ สรุป
ไม่อนุญาตให้ละศีลอดเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคจากไวรัสโคโรน่า ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยว่าคนๆนั้น มีโอกาสติดเชื้อจริง หากถือศีลอด กรณีนี้เท่านั้นจึงงดถือศีลอดได้

● 2. การละหมาดตารอเวียะห์

ในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มัสยิดล้วนถูกงดใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดตารอเวียะห์มีสถานภาพเป็นละหมาดสุนัต ที่ท่านนบี ศอลฯ ละหมาดที่มัสยิดแล้วต่อมาก็ได้ปฏิบัติที่บ้าน ดังนั้น มุสลิมจึงมีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้ที่บ้าน โดยการปฏิบัติดังนี้

– ให้อิหม่ามหรือมุอัซซินอะซาน ละหมาดอีชา และละหมาดตารอเวียะห์ที่มัสยิดแต่เพียงคนเดียว ตามวิธีการที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด
– ให้แต่ละครอบครัวละหมาดอีชาและละหมาดตารอเวียะห์ที่บ้านตามจำนวนและระยะห่างตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ดีที่สุดเป็นอิหม่าม และอาจอ่านจากเล่มอัลกุรอานก็ได้

อัลลอฮ์เท่านั้นที่รู้แจ้งในความถูกต้อง

18 ชะบาน 1441 / 11 เมษายน 2563

อ่านฟัตวาต้นฉบับ

http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11334

 908 total views,  2 views today

You may have missed