พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

รายงานจันทร์เสี้ยวการแพทย์ ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในภารกิจช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

แชร์เลย

ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน..

 

 

 

 

( 13 เมษายน 2563)  คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)ได้เผยแพร่รายงานฉบับที่ 2 สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียหลังรัฐบาลไทยให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศ โดยในรายงานวามยาว 9 หน้าได้ระบุประเด็นสำคัญไว้หลายประเด็นด้วยกันคือ มาตรการของไทยและมาเลเซียในการรับมือโควิด19 ความพยายามกลับบ้านของแรงงานไทย ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่แรงงานไทยที่ตกค้างซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำเสนอผ่านรายงานพิเศษในครั้งนี้

นายตูแวดานียา มือรีงิง ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ได้เปิดเผยว่าทาง คฉ.จม. ได้รวบรวมปัญหาอุปสรรคในการให้การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกค้างในมาเลเซียจำนวนหลายพันคนที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ คฉ.จม. ถึงแม้ว่าภารกิจสำคัญครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือทั้งงบประมาณ อาสาสมัครและ ถุงยังชีพ แต่เนื่องด้วยประเทศมาเลเซียยังคงประกาศใช้กฏหมายการควบคุมการเคลื่อนย้ายและได้ขยายเวลาไปถึง 28 เมษายน 2563 และในบางพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองหลวงได้ใช้มาตราการขั้นเด็ดขาดปิดทางเข้าออก 24 ชั่วโมงทำให้ภารกิจการช่วยเพิ่มความยากลำบากมากขึ้น


“จากการประชุมครั้งล่าสุดเมือวันที่ 11 เมษายน ทางคณะกรรมการฯ พยายามที่จะหาทางออกในการช่วยเหลือให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ เรากำลังจะลงนามกับเอ็นจิโอในมาเลเซียในการทำงานร่วมกันเพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือโดยทางคณะกรรมการฯ ได้ลงนามกับเอ็นจิโอมาเลเซียในการช่วยกระจ่ายถึงยังชีพและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ” ตูแวดานียา กล่าว
ในหนังสือบันทึกข้อตกลงระยุว่า THIS AGREEMENT IS MADE BETWEEN THAI ISLAMIC MEDICAL ASSOCIATION (TIMA), THAILAND AND PERTUBUHAN GABUNGAN BANTUAN BENCANA NGO MALAYSIA (BBNGO) Considering the importance of the friendship and cooperation links between the two parties, the establishment of this agreement has no other form of intentions other than to be able to facilitate the utmost efficiency in providing the assistance to those who are in need under humanitarian concern. ซึ่งลงนามระหว่างสมาคมจันทร์เสี้ยวฯกับ PERTUBUHAN GABUNGAN BANTUAN BENCANA NGO MALAYSIA (BBNGO) โดยใช้ชื่อย่อว่า BBNGO+TIMA
ในรายงานฉบับที่ 2 ระบุอีกว่าการช่วยเหลือแจกจ่ายอาหารเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยในมาเลเซียยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากแรงงานไทยมีเป็นจำนวนมากและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จากการประมาณการของเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ระบุว่า มีคนไทยในมาเลเซียทั้งหมดราว 150,000 คน ในจำนวนนี้อยู่โดยมีเอกสารถูกต้องราว 30,000 คน ช่วงก่อนหน้า MCO และก่อนที่ไทยจะกำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์fit to travel และหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลในการเดินทางกลับประเทศ มีคนไทยทยอยเดินทางกลับแล้วราว 3-40,000 คน และหลังจากมีข้อกำหนดดังกล่าว สถานทูตฯ ได้ออกหนังสือรับรองแก่คนไทยแล้วราว 6,000 คน และในจำนวนนี้ได้เดินทางกลับไทยไปแล้วราว 4,000 คน ยังเหลือที่มีใบรับรองจากสถานทูตแล้วแต่ยังไม่ได้เดินทางกลับราว 2,000 คน จากตัวเลขประมาณการนี้ จะเห็นได้ว่ายังมีคนไทยตกตกค้างอยู่อีกมากอยู่ในมาเลเซียเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับการแจกจ่ายสิ่งของไปแล้ว เช่นเดียวกับจำนวนคนที่ลงทะเบียน กับ คฉ.จม. จำนวน 2,253 คน ที่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก และตัวเลขผู้ลงทะเบียนก็ยังไปกระจุกตัวที่บางรัฐ แสดงว่ายังมีแรงงานในบางพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและการช่วยเหลือ


นอกจากนั้น การแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือที่ผ่านมายังประสบอุปสรรคมากเนื่องจาก MCO ห้ามการสัญจร ทำให้อาสาสมัครที่แจกจ่ายสิ่งของทำงานได้ลำบาก ส่งผลทำให้การแจกจ่ายสิ่งของไม่ทั่วถึง ประกอบกับในช่วงแรกของ MCO รัฐบาลมาเลเซียห้ามไม่ให้ NGOs ออกมาดำเนินการแจกจ่ายสิ่งของแต่อย่างไรก็ดี ในระยะ 3 ของ MCO ทางการมาเลเซียเริ่มผ่อนคลายคำสั่ง ทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เองก็พยายามเพิ่มช่องทางให้NGOs มาเลเซียเข้ามาช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่คนไทยด้วย
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย
ข้อเสนอในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านเสบียงอาหารแก่แรงงานไทย
รัฐบาลไทยต้องเร่งนำความช่วยเหลือเข้าไปในมาเลเซียอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ กลไกสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลที่ทำอยู่นั้น แม้จะทำสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือแรงงานไทยได้อย่างทั่วถึง การช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีของไทยต้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการขอส่งเสบียงอาหารมาทางเครื่องบินมาให้แก่แรงงานไทย และเพื่อแสดงความขอบคุณ รัฐบาลไทยควรบริจาคข้าวสารให้ประเทศมาเลเซียด้วย และควรเสนอพาคนมาเลเซียที่ตกค้างในไทยกลับมาเลเซียด้วยเครื่องบินลำที่จะบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย รวมทั้งขอให้ทางการมาเลเซียช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยโดยใช้กลไกแนวหน้ามาเลเซียที่คุมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และ อาสาสมัคร ทั้งนี้ ระดับปฏิบัติการของฝ่ายไทยต้องมีรายชื่อและจำนวนผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนและประสานงานกับทางมาเลเซียอย่างเป็นระบบและใกล้ชิด

ข้อเสนอต่อการพาคนไทยในมาเลเซียกลับบ้าน
รัฐบาลไทยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเดินทางเข้าประเทศของคนไทยเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ2560 ที่ว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” และรัฐจะต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพนี้ของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ทุกวันนี้แม้รัฐบาลมาเลเซียอนุโลมให้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานและเอกสารการเดินทางหมดอายุอยู่ต่อในประเทศมาเลเซียได้ แต่ความอดยาก การไม่มีเงิน และความไม่แน่นอนของทั้งสถานการณ์โควิด 19 ในมาเลเซียและการจัดระบบแรงงานต่างชาติของมาเลเซียหลังโควิด 19 ทำให้แรงงานไทยจำนวนมากต้องการเดินทางกลับไทย ที่ผ่านมาข้อกำหนดเรื่องใบรับรองแพทย์ ได้สร้างภาระอย่างมากให้แก่แรงงานไทยที่ต้องการกลับบ้าน เพราะแรงงานไทยส่วนมากเข้าไม่ถึงสถานพยาบาล อีกทั้งใบรับรองแพทย์ที่แม้จะระบุคำว่า fit to travel ก็ไม่สามารถบ่งชี้ภาวะการติดโรคโควิด 19 ได้แต่อย่างใด จึงควรยกเลิกเสีย เช่นเดียวกับหนังสือรับรองการเดินทางที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ก็สร้างภาระให้กับแรงงานไทยมากเช่นกัน โดยเฉพาะที่คนเข้าไม่ระบบออนไลน์หรือใช้ภาษาไทยไม่คล่อง จึงสมควรยกเลิกด้วยเช่นกัน


ในส่วนการอนุญาตให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศรอบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 18 เมษายน 2563 นี้ รัฐบาลไทยควรกำหนดโควตาการอนุญาตให้เดินทางเข้าไทยในแต่ละวันที่เหมาะสม ต้องมีจำนวนที่ไม่น้อยเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนแก่แรงงานไทย และต้องทำให้การลงทะเบียนแสดงความจำนงขอเดินทางกลับประเทศเป็นไปโดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีหลายช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังด่านชายถาวรแดนแดนโดยการเช่าเหมารถบัสในประเทศมาเลเซียบริการมาส่งยังด่านต่างๆ ทุกวัน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเหลือพอสำหรับการเดินทางด้วยตนเองอีกแล้ว
ข้อเสนอในการกักตัวเมื่อเดินทางมาถึงไทย
รัฐบาลไทยต้องจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้เดินทางกลับให้ได้พร้อม และอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากด่านฝั่งไทยไปยังสถานที่กักตัว การไม่สามารถจัดหาสถานที่กักตัวรองรับผู้เดินทางกลับได้เพียงพอถือว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ทั้งนี้ รัฐสามารถเพิ่มสถานที่กักตัวโดยใช้โรงแรมต่างๆ ในอำเภอสุไหงโก-ลกและบริเวณด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งมีโรงแรมที่ใกล้ปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่รัฐดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญ รัฐควรจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย อันจะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพวกเขาได้ในทางหนึ่ง

 761 total views,  2 views today

You may have missed