เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ปิดด่านเข้าออกทั้ง 9 ด่านใน สี่จังหวัดภาคใต้ ศอ.บต.ตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรคโควิด-19 ใน จชต.

แชร์เลย

ตูแวดานียา มือรีงิง รายงาน...


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสหรือโควิค 19 ทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ และสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเริ่มมีผลกระทบและเป็นพื้นที่เสี่ยงหลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศปิดประเทศในวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศมาเลเซียหลังจากที่มีการชุมนุมทางศาสนาที่มัสยิดสรีปือตาลิง ระหว่างวันที่ 27 ก.พ -2 มีนาคม 2563 และในจำนวน 16,000 กว่าคนมีผู้เข้าร่วมจากภาคใต้ของไทย 132 คน และกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้กลับมายังพื้นที่และพบว่าติดเชื้อโควิค 19 หลายคน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคลื่นคนกว่า 100,000 ซึ่งเป็นแรงงานในร้านอาหารต้มยำกว่า 6000 ร้านในมาเลเซียทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดในพื้นที่ จชต. หากไม่มีการป้องกันที่ดีเป็นระบบและทีสำคัญหากประชาชนยังไม่ตระหนักรู้และป้องกันตัวเอง ยังใช้ชีวิตเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เฉกเช่นทีประชาชนในมาเลเซียปฏิบัติก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายไปทั่วทั้ง 13 รัฐในมาเลเซียในวันนี้สามจังหวัดภาคใต้อาจจะเป็นรังของโควิค 19 ในอนาคตก็เป็นได้


ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.63 ที่ประเทศมาเลเซีย พบมีผู้ป่วยติดเชื้อฯสะสมแล้ว 1,030 ราย ในจำนวนนี้ รักษาหายแล้ว 87 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 941 ราย(มีอาการสาหัส 26 ราย) และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อฯกระจายไปตามเมืองต่างๆดังนี้รัฐ Selangor : 263 ราย, Kuala Lumpur : 139 ราย, Sabah : 119 ราย, Johor : 114 ราย, Negeri Sembilan : 65 ราย, Sarawak : 58 ราย, Pahang : 36 ราย, Melaka : 22 ราย, P.Pinang: 37 ราย , Putrajaya :6 ราย, Labuan : 5 รายและห้ารัฐที่ติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ Kelantan : 51 ราย, Kedah : 41 ราย, Perak : 45 ราย, Terengganu :20 ราย, Perils : 9 ราย
จากการแพร่ระบาดดังกล่าว พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานในการประชุมบูรณาการสร้างความเข้าใจแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวทางของศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรคโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผู้แทนผู้บริหารของ ศอ.บต. ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต ๖ ผู้แทนจากสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัด สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาผลกระทบจากการระบาดของโรคด้วย


โดยในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ และมาตรการการแก้ไขปัญหาโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) พรบ. โรคติดต่อ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง แนวปฏิบัติตามแนวทางสำนักจุฬาราชมนตรี และการประกาศของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการประชาสัมพันธ์การปฏิบัติศาสนกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคCOVID-19
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงมาตรการของ ศอ.บต. ในการดำเนินงานว่า ในฐานะที่ ศอ.บต. เป็นศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ได้มีมาตรการเสริมการเฝ้าระวังและป้องกันแก้ไขปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอยืนยันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ในพื้นที่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่และเต็มกำลัง
“ศอ.บต. พร้อมทำหน้าที่ในการเติมเต็มช่องว่างและเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ซึ่งสิ่งที่ห่วงใยคือมิติทางศาสนาที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะโอกาสการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างมากเมื่อเกิดการรวมกลุ่มและการเคลื่อนที่ ซึ่งเห็นได้จากการที่คนไทยจำนวน 132 คนไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่กัวลาลัมเปอร์ มีบางส่วนที่สาธารณสุขได้ยืนยันไปแล้วว่ามีอาการติดเชื้อ ดังนั้นจะต้องดูแลทุกคนที่กลับมา โดยต้องค้นหาและดำเนินการตามกระบวนการทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข และการประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการละหมาดใหญ่ที่มัสยิดในวันศุกร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวเพื่อละหมาดและฟังธรรม (คุตบะฮ์) ในส่วนนี้ กรุงเทพมหานครฯและปริมณฑล สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกคำแนะไว้แล้ว ถึงข้อห้ามและการให้งดหรือเลื่อนไปก่อน สำหรับมิติของภาคใต้ ได้มีการหารือและขอความร่วมมือ ผลจากการประชุมเมื่อวานที่ผ่านมา ในส่วนของการละหมาด ต้องมีการเตรียมการทั้งในส่วนของ เจลล้างมือหรือสบู่ที่พร้อมใช้งาน และต้องมีการอาบน้ำละหมาดมาจากบ้าน งดการใช้น้ำร่วมกัน รวมถึงทำความสะอาดพรมละหมาดด้วยการซักล้างให้สะอาด หรืองดการใช้พรมไปก่อนเนื่องจากพรมเป็นที่สะสมของเชื้อโรค งดการสลามด้วยมือแต่ให้ยกมือสลามแทน ตามคำแนะนำของผู้นำศาสนา ในส่วนของการเดินเผยแพร่ศาสนาหรือดะวะฮ์ หรือเคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทางศาสนาที่ขอให้งดหรือเลื่อนไว้ก่อนสักระยะหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากมัรกัสหรือศูนย์เผยแพร่ทางศาสนาจังหวัดยะลาเป็นอย่างดี อีกทั้งสถาบันปอเนาะที่มีมากว่า 400 แห่ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้รับความร่วมมือจากนายกสมาคมสถาบันปอเนาะ ในการขอให้มีการละหมาดภายในและงดการละหมาดภายนอกสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”

พลเรือตรี สมเกียรติ กล่าว
เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการการปิดประเทศของประเทศเพื่อนบ้านทำให้คนไทยจำนวนมากทยอยกลับเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มต้มยำกุ้งที่มีไม่น้อยกว่า 6,000 แห่ง ทยอยกลับประเทศผ่าน 9 ด่านพรมแดนช่องทางหลัก จนถึงขณะนี้เริ่มมีคนทยอยกลับจำนวนน้อยลงตามลำดับ โดยกลุ่มนี้เมื่อเข้าประเทศจะต้องได้รับการดูแลผ่านการตรวจทุกช่องทางอย่างเข้มงวด ซึ่งต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานความมั่นคงในการระดมเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มคนที่กลับเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ หากมีการหลุดลอดจะต้องมีการเดินทางเข้าหมู่บ้านเพื่อทำงานตรวจทันที โดยทั้งหมดนี้เป็นมาตรการทั่วไปภายใต้ศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ทางสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 และสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดก็จะทำงานร่วมกัน ในการนำข้อมูลข่าวสารไปเผยแพร่ตามสื่อช่องทางต่างๆ รวมถึงวิทยุภาคภาษาไทยและภาษามาลายู ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงพื้นที่ท้องถิ่นให้มากที่สุดต่อไป
เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ด่านทั้ง 9 ด่านในสี่จังหวัดชานแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ด่านตากใบ สุไหงโก-ลก และบูเกะตา แว้ง จังหวัดนราธิวาส ด่านเบตง จังหวัดยะลา ด่านตำมะลัง และ ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล และ จุดผ่านแดนถาวรด่านสะเดา จุดผ่านแดนถาวรด่านปาดังเบซาร์ จุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านประกอบ โดยนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือคำสั่งฯ ให้ระงับการเดินทางเข้าออกบุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติ ณ จุดผ่านแดนในพื้นที่ จ.สงขลา ยกเว้นคนประจำรถขนส่งสินค้า จำนวนคันละ 1 คน และต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อโควิด-19 จาก จนท.ตม. ณ จุดผ่านแดน ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.63 จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 590 total views,  4 views today

You may have missed