โดย..ผศ.ดร. ชลิตา บัณฑุวงศ์
#ขอต้อนรับอาเด๊ะกลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัว สายๆ ของวันนี้ (18 มีนาคม 2563) ท่ามกลางความเงียบเหงาจากการประกาศการงดเยี่ยมผู้ต้องขังและท่ามกลางความเข้มงวดอย่างยิ่งในการป้องกัน Covid-19 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านจากอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ราวสิบคนกำลังรอการปล่อยตัวผู้ต้องหาสองรายที่กำหนดพ้นโทษจากคดีที่สังคมรู้จักกันในนาม “คดีระเบิดน้ำบูดู” ชาวบ้านเหล่านี้มารอคอยลูกชาย พี่ชาย น้องชาย และหลานชายของพวกเขา เป็นการรอคอยที่เหน็ดเหนื่อยมาตั้งแต่เช้ามืด สัมภาระมากมายถูกวางไว้ที่ป้อมปากทางเข้าเรือนจำ เตรียมพร้อมขึ้นรถไฟรอบบ่ายกลับภูมิลำเนา แม้จะเป็นการรอคอยที่มีความหวัง กระนั้นบางคนบอกว่าก็ยังวิตกกังวลอยู่ เพราะไม่รู้ว่าจะได้ปล่อยตัวจริงไหม จะมีใครมาอายัดตัวในข้อหาอะไรอีกไหม แต่ในที่สุดทั้งสองรายก็เดินออกมาจากประตูเรือนจำจริงๆ จากนั้นก็มีน้ำตา มีการสวมกอด (ใส่กากอนามัยทุกคน)
#คดีระเบิดน้ำบูดู เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่มีการกวาดจับนักศึกษาและเยาวชนมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ เริ่มจากย่านที่พักอาศัยบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีคนมลายูมุสลิมอาศัยอยู่รวมกันมาก กระทั่งนำมาสู่การตั้งข้อหากับ 14 รายว่าร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีหนึ่งรายที่มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ให้จำเลยที่ 1,2,4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดรวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย
หลังติดคุกได้ 3 ปีกว่า ผู้ต้องหาคดีระเบิดน้ำบูดูก็ทยอยพ้นโทษ (ได้เข้าเกณฑ์อภัยโทษ) ขณะนี้พ้นโทษมาแล้ว 4 ราย ยังเหลืออีก 5 รายที่เข้าเรือนจำทีหลังเนื่องจากได้ร่วมโครงการของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ ตามคำแนะนำของนายทหารในพื้นที่ก่อนจะถูกนำตัวมามอบตัวที่กองปราบในเดือนพฤษภาคม 2560 และต้องถูกโทษเช่นเดียวจำเลยคนอื่นๆ
คดีนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคม นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ อย่างกว้างขวางถึงกระบวนการของฝ่ายความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษและกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิในการประกันตัว (ใช้เวลา 18 เดือนในการฝากขังนับแต่ผู้ต้องหาคนแรกถูกนำตัวมาฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือใช้เวลา 15 เดือนหลังจากที่อัยการยื่นฟ้องโดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัว) พยานหลักฐานของโจทก์ที่หลายฝ่ายมองว่ายังอ่อน (ใช้เพียงการซัดทอดจากผู้ต้องหาด้วยกัน) การให้น้ำหนักกับผลการซักถามในค่ายทหารภายใต้กฎหมายพิเศษ (โดยในกระบวนการซักถามนั้นมีเพียงผู้ต้องหา ไม่มีทนายหรือญาติอยู่ด้วย) ข้อข้องใจในเรื่องการซ้อมทรมาน และการใช้เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของฝ่ายรัฐเกี่ยวกับรัฐปาตานีหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาถือเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำมาผูกโยงกับหลักฐานอื่นๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก:
ศาลสั่งจำคุก 4-6 ปี คดีระเบิดน้ำบูดู และยกฟ้อง 5 จำเลย
https://www.bbc.com/thai/thailand-45626501
8 ข้อสรุปคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน คนจนชายแดนใต้ ฯลฯ ศาลนัดชี้ชะตา 25 ก.ย. นี้
https://prachatai.com/journal/2018/08/78227
‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ ศาลระบุไม่มีหลักฐานซ้อม สั่งจำคุก 9 ยกฟ้อง 5 ทนายชี้หลักฐานมีแค่คำซักถามในค่ายทหาร
https://prachatai.com/journal/2018/09/78847
895 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.