พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ฮิญาบ : อัตลักษณ์ที่ถูกท้าทายด้วยความหวาดกลัว Islamophobia

แชร์เลย

เขียนโดยอติรุจ ดือเร๊ะ..

ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 อันเป็นหมุดหมายของการก่อการร้ายที่สร้างความสะเทือนขวัญไปทั่วโลก กระแสความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ได้ถูกกระตุ้นให้เชี่ยวกรากและไหลบ่าข้ามพรมแดนอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านกระบวนการสร้างความกลัวที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ ถ้อยวาจาเสียดสี การแสดงทางกายภาพการประกอบสร้างวาทกรรม ตลอดรวมถึงการผ่านร่างกฎหมายเพื่อต่อต้านอิสลามในบางรัฐ  ผลพวงอันมิอาจหลีกเลี่ยงนำมาซึ่งการเหมารวมและคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพในดำรงอยู่อย่างปลอดภัยของชนชาวมุสลิมในหลายประเทศ บางพื้นที่ระดับของความกลัวฟักตัวแตกไข่เป็นความเกลียดชังอย่างเป็นรูปธรรม

    “ฮิญาบ” (Hijab) ผ้าปกปิดศีรษะของสตรีชาวมุสลิมซึ่งเป็นที่เข้าใจในระดับสากลวงกว้างว่าเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นอิสลาม ได้ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวที่นับวันจะยิ่งทวีระดับความเข้มข้นขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากฮิญาบเป็นอัตลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายอย่างทันทีทันใดว่าผู้สวมจะต้องเป็นมุสลิมแน่นอน สตรีมุสลิมจึงมักเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการคุกคามได้ง่ายมากว่าชายชาวมุสลิม

ต่อประเด็นข้างต้น ศูนย์อิสลามและอารยธรรมศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย ชาร์ลส์ สจ๊วต (Charles Sturt University’s Centre for Islamic Studies and Civilization) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลีย โดยระบุว่าในปี ค.ศ. 2016 – 2017 สถิติการถูกโจมตีอันเกี่ยวเนื่องมาจากความหวาดกลัวอิสลาม ร้อยละ 60 เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ  และพบว่าร้อยละ 70 ของเหยื่อคือผู้หญิงและเด็กหญิง การสบประมาทและคุกคามเกิดขึ้นหลายรูปแบบ อาทิ การขู่ด้วยปืน การขับรถชน เป็นต้น ข้อมูลที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร้อยละ 96 พบว่าผู้ถูกกระทำเป็นสตรีมุสลิมซึ่งสวมผ้าคลุมฮิญาบขณะที่เกิดเหตุการณ์[1]

ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่น่าทำความเข้าใจ ผลการศึกษาของ ทิพย์สุดา รังสิมันตุชาติว่าด้วยเรื่อง “อัตลักษณ์ฮิญาบกับสภาวะการเกลียดกลัวอิสลามในสังคมฝรั่งเศส” ระบุว่าช่วงเวลา ค.ศ. 2004 -2015 สภาวะการเกลียดกลัวอิสลามผ่านฮิญาบในฝรั่งเศสปรากฏใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) ลักษณะที่มีการกล่าวคำหยาบคาย คำตำหนิ และประทุษร้ายร่างกายสตรีมุสลิมที่สวมใส่ฮิญาบ  2) ลักษณะที่มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีมุสลิมที่สวมใส่ฮิญาบด้านการรับเข้าทำงาน ร่วมกับมีการกีดกันทางสังคมและการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม 3) ลักษณะที่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคทางด้านการศึกษาต่อของนักเรียนสตรีมุสลิมที่สวมใส่ฮิญาบ เนื่องจากขัดกับหลักการฆราวาสนิยมของสังคมฝรั่งเศส[2]

 สำหรับประเทศไทยหากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่าค่อนข้างจะมอบพื้นที่และเสรีภาพในการคลุมฮิญาบแก่สตรีชาวมุสลิมอยู่ไม่น้อย ตัวบทกฎหมายไม่ได้กีดกันการแต่งกายของพลเมือง โดยมาตรา 31 ในรัฐธรรมนูญระบุเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน”  สตรีมุสลิมจึงมีสิทธิในการคลุมฮิญาบโดยสมบูรณ์ ทว่าในระดับสังคมส่วนรวม พบว่าหลายพื้นที่คนไทยด้วยกันยังย่ำยืนอยู่บนฐานของการแบ่งแยกความเป็นเราและความเป็นอื่น เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งว่าด้วยการเสนอให้นักเรียนของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีสามารถคลุมฮิญาบไปโรงเรียนได้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความหวาดกลัวที่จะถูกกลืนกลายอัตลักษณ์ทางศาสนายังคงมีอยู่  แม้ในพื้นที่ที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมก็ตามที เช่นนั้นการเบียดขับเพื่อมิให้อัตลักษณ์อื่นมาแทนที่หรือมีอำนาจนำจึงเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้อ่อนไหวเกี่ยวกับอัตลักษณ์เห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการ               นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้แสดงความกังวลเรื่องการสูญเสียอัตลักษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีไทยไว้ว่า “พอมีการคลุมฮิญาบ มีการร้องขอ คนพุทธก็กังวลว่าได้คืบจะเอาศอกหรือไม่ เริ่มต้นจากการคลุมฮิญาบ ต่อไปอาจขอครัวฮาลาลไม่มีครัวสากล ต่อไปอาจขอให้ยกพระพุทธรูปออกจากโรงเรียน หรือยกเลิกพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในโรงเรียน”[3]

อย่างไรก็ตามแม้ความหวาดกลัวต่อฮิญาบจะแผ่ขยายวงกว้างไปถ้วนทั่วทุกทวีปในโลก แต่สตรีมุสลิมจำนวนมากก็ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงมิยอมให้ฮิญาบหลุดปลิวไปจากศีรษะของพวกเธอ ศรัทธาอันยึดโยงกับพระเจ้าอาจเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้เธอยึดมั่น แต่ในอีกมิติหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเธอรู้สึกภาคภูมิใจตลอดเวลาที่ได้สวมใส่ฮิญาบ ฮาลิมา อาเดน (Halima Aden) ซึ่งเป็นสตรีที่ชนะเลิศการประกวดนางงามประจำรัฐมินนิโซตาคนแรกที่สวมฮิญาบเดินบนเวทีให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันภาคภูมิใจที่เกิดเป็นชาวโซมาเลีย-อเมริกัน และเครื่องแบบที่บ่งบอกถึงศาสนาของฉันนั้นมีความหมายมากกว่าการเป็นแค่ศาสนาและวัฒนธรรม ฉันรู้สึกสบายใจที่จะสวมฮิญาบ และคุณเองก็ไม่จำเป็นต้องโชว์เนื้อหนังเพื่อแสดงความสวยงาม”[4]

นับจากนี้ต่อไปเป็นที่น่าจับตามองว่าวาทกรรมสร้างความกลัวเกี่ยวกับฮิญาบจะสามารถลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนได้หรือไม่  ความพยายามในการรณรงค์เรียกร้องเพื่อสร้างภาพความเข้าใจใหม่ขององค์กรต่าง ๆ อาทิ องค์กรวันฮิญาบสากล จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด หรืออาจเป็นไปได้ว่าทศวรรษใหม่นี้จะก่อเกิดวาทกรรมสร้างความกลัวเกี่ยวกับฮิญาบเพิ่มมากขึ้น  กระนั้นการ    ยืนหยัดเพื่อแสดงออกให้ชนทั่วโลกได้ประจักษ์ชัดว่า “ฮิญาบ” มิใช่เครื่องมือก่อการร้ายหากแต่คือมงกุฎอันงดงามที่ซ่อนเก็บไว้ซึ่งคุณค่าของสตรีก็ยังคงเป็นภารกิจของมุสลิมทุกคนที่มิอาจละทิ้งได้เลย

[1] SBS ไทย ,“รัฐประณามความหวาดกลัวอิสลามมุ่งเป้าผู้หญิงสวมฮิญาบ,” พฤศจิกายน 11 , 2562 , https://www.sbs.com.au/language/thai/government-condemns , (มกราคม 26, 2563).

[2] ทิพย์สุดา  รังสิมันตุชาติ ,  “อัตลักษณ์ฮิญาบกับสภาวะการเกลียดกลัวอิสลามในประเทศฝรั่งเศส,” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมืองบูรพา 6 , ฉ. 2  (2562) : 1-2.

[3] บีบีซีไทย , “ห้าม นร. สวมฮิญาบ รักษาพื้นที่ชาวพุทธหรือไม่เคารพมุสลิม ?,”มิถุนายน 15 , 2561 , https://www.bbc.com/thai/thailand-44494889 , (มกราคม 25 , 2563).

[4] โพสต์ทูเดย์ ,  “ความหลากหลายคือความงาม พบกับนางงามมินนิโซตาคนแรกที่สวมฮิญาบ,” มีนาคม 5 , 2560, https://www.posttoday.com/world/483774 , (มกราคม 26 , 2563).

 1,675 total views,  2 views today

You may have missed