พฤษภาคม 7, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

# 1กุมภาพันธ์วันฮิญาบโลก บันทึกและภาพการต่อสู้”กว่าจะได้ ฮิญาบวันนี้”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูร บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

รำลึกปี30 ที่ร่วมกันขับเคลื่อน “ฮิญาบ “ หน้ามัสยิดกลางยะลา ตอนที่เรียนมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ศาสนาชั้น8หรือ 1 ซานาวีโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัด ยะลา (ถ้าจำไม่ผิด) “โนรี หมีนหวังหรือ
Noree Meanwang “ได้เขียน/เล่าเหตุการณ์รวมทั้งรวบรวมรูปกว่าจะได้ฮิญาบวันนี้ผ่านFacebook ดังนี้ (หวังว่าบันทึกของโนรีจะเป็นบทเรียนการต่อสู้ของทุกคน ทุกสาขาอาชีพ และทุกเรื่องไม่เฉพาะเรื่องฮิญาบรวมทั้งการเตือนสติทุกคนให้รักษาเรื่องฮิญาบทั้งกายและเเละใจในยุคดิจิตอล)
บันทึกไว้ให้ลูกหลานฟัง
เป็นเรื่องเล่าที่ไม่เคยเล่าจบ
เพราะจะมีน้ำตารื้อที่หางตาก่อนเสมอ

การเริ่มต้นคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมในประเทศไทย

เนื่องในวาระ “World Hijab Day”
๑ กุมภาพันธ์

หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๓
ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นการตื่นตัวการคลุมศีรษะ
(มีความหมายรวม
คือ การแต่งกายถูกต้องตามบทบัญญัติอิสลาม) ของสตรีมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การรณรงค์ไปสู่เสรีภาพในการแต่งกายตามบทบัญญัติอิสลามนี้ ต้องรณรงค์ต่อสู้ทั้งทางสังคมและกฎหมายระเบียบกฎเกณฑ์ของทางราชการ และเป็นการรณรงค์ต่อสู้ เป็นแต่ละกรณีและแต่ละสถานที่ที่ต่างกัน ปัญหาหลักก็คือทางราชการอ้างระเบียบกฎเกณฑ์ (แบบเคร่งครัดตามตัวอักษร) ว่าไม่สามารถกระทำได้ ทั้งกรณีนักศึกษาในมหาวิทยาลัย การถ่ายรูปติดบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง รวมทั้งข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลด้วย ยกเว้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมีนักศึกษาสตรีมุสลิมคลุมศีรษะกันมากขึ้นเพราะเป็นมหาวิทยาลัยเปิด

กระนั้นนี่ก็เป็นแรงกดดันต่อนักศึกษาสตรีมุสลิมที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยปิด วิทยาลัยครูและวิทยาลัยอาชีวะศึกษา (ในขณะนั้น) ที่ต้องการแต่งกายตามบทบัญญัติอิสลาม

จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐
กลุ่มนักศึกษาสตรีมุสลิมวิทยาลัยครูยะลา
(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดยะลา)
ยื่นหนังสือต่อประธานชมรมส่งเสริมจริยธรรมอิสลามวิทยาลัยครูยะลาให้เป็นตัวกลางในการยื่นหนังสือขออนุญาตให้นักศึกษาสตรีมุสลิมแต่งกายตามหลักการอิสลามได้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในอัลกุรอาน

ซึ่งขณะนั้นมีนายอิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต ประธานชมรม และนายสุกรี หลังปูเต๊ะ
(ปัจจุบันทั้งสองท่านจบการศึกษาระดับปริญญาเอกและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) เป็นผู้รับเรื่อง

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ นางสาวยะวาเหตุ โต๊ะแอ นางสาวพนิดา ดือเระและนางสาวอาลีญา อาลีดีมัน นักศึกษาของวิทยาลัยครูยะลา แต่งกายตามหลักการอิสลามเข้าเรียนในชั้นเรียน ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิเสธที่จะอนุญาตให้แต่งกายเช่นนี้ได้จากผู้บริหารวิทยาลัยครูยะลา
ซึ่งในจำนวนนั้นมีอาจารย์ที่เป็นมุสลิมด้วย

วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ จำนวนนักศึกษาที่คลุมศีรษะมาเรียนเพิ่มเป็น ๑๒ คน
มี นางสาวฟาตีม๊ะ แก้วดำรงชัย
นางสาวนารีมาลย์ ดือเร๊ะ
นางสาวสมีห๊ะ เบ็ญสะอีด
นางสาวสุดใจ สราง
นางสาวสายหม๊ะ วอสมัน
นางสาวสอฟีหย๊ะ ลิบัง
นางสาวโนรี หมีนหวัง

และทุกคนถูกเรียกตัวเข้าพบที่ห้องผู้บริหาร พร้อมกับการขอร้องแกมขู่ให้ยุติการกระทำดังกล่าว
ทางชมรมจริยธรรมอิสลามฯ จึงทำหนังสือแจ้งถึง ศอบต. ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้และสำนักจุฬาราชมนตรี

ตลอดเวลาตั้งแต่นักศึกษาเริ่มแต่งกายตามหลักการอิสลาม มีความพยายามกลั่นแกล้งจากผู้บริหารโดยตลอด ทั้งการห้ามเข้าเรียนบางวิชา การนำชุดละหมาดของสตรีมุสลิมจากห้องชมรมจริยธรรมอิสลามไปทิ้ง การห้ามใช้เครื่องเสียงเวลามีการประชุม อนุญาตให้นำเครื่องดนตรีของวิทยาลัยครูออกมาเล่น เพื่อก่อกวนการประชุมของกลุ่มนักศึกษามุสลิม รวมทั้งให้นักศึกษาอีกฝ่ายหนึ่งจัดการประท้วงต่อต้านกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการคลุมศีรษะ เป็นต้น

ทางด้านจิตวิทยา ทางวิทยาลัยครูได้เชิญตัวนักศึกษาที่คลุมศีรษะทั้งหมดเข้าพบตัวต่อตัวหลายครั้ง และเจรจาเกลี้ยกล่อมให้นักศึกษาเหล่านี้ยุติและเลิกล้มความตั้งใจในการแต่งกายตามหลักการอิสลาม แต่นักศึกษายืนยันที่จะปฏิบัติต่อไป ถึงแม้ทางวิทยาลัยจะให้ออกจากการเป็นนักศึกษาก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่งมีการให้ข่าวว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาสตรีมุสลิมดังกล่าว มีประเทศมุสลิมในตะวันอกกลางอยู่เบื้องหลังและประเทศนี้เพิ่งจะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งประเทศดังกล่าวนับถือศาสนาอิสลามต่างจากมุสลิมทั่วไป กล่าวคืออยู่ในนิกายชีอะฮ์
(โดนตั้งแต่ไก่โห่เลย)

ทางรัฐบาลโดยนายมารุต บุนนาค (ส.ส. กรุงเทพมหานคร) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพยายามหาทางแก้ปัญหา โดยออกเป็นคำสั่งผ่อนปรนต่อนักศึกษาที่แต่งกายตามหลักการอิสลาม ให้เข้าเรียนและสอบปลายภาคให้ปิดภาคเรียนไปก่อน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป

แต่นายไสว พัฒโน (ส.ส. จังหวัดสงขลา) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคัดค้านแนวทางของนายมารุต บุนนาค

วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
กลุ่มมุสลิมเจ็ดองค์กรในส่วนกลางประกอบด้วย
สมาคมไทยมุสลิมทักษิณ
ชมรมนักกฎหมายมุสลิม
สมาคมนิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย
ชมรมนักศึกษามุสลิมมหาวิทยาลัยรามคำแหง
กลุ่มนักศึกษามุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PNYS) สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
และชมรมมุสลิมสยาม
แถลงข่าวหลังจากยื่นหนังสือสนับสนุนนายมารุต บุนนาค (ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม) ว่า องค์มุสลิมให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามุสลิมวิทยาลัยครูยะลา พร้อมกับปฏิเสธข่าวที่ว่า มีการสนับสนุนการเคลื่อนไหวจากต่างชาติ

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๑
นักศึกษาที่แต่งกายคลุมศีรษะถูกไล่ออกจากห้องเรียน เหตุการณ์เริ่มบานปลายและส่อเค้านำไปสู่ความรุนแรง แนวร่วมในกรุงเทพมหานครจึงยื่นหนังสือถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีให้ลงมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และให้ทบทวนคำสั่งของวิทยาลัยครูที่จะพักการเรียนของนักศึกษาในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์

วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ๒๕๓๑
อาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีทำหนังสือชี้แจงกรณีการคลุมศีรษะของนักศึกษาถึงกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ คัดค้านการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของผู้บริหารวิทยาลัยครูและ ศอ.บต. พร้อมทั้งระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะ ศอ.บต. ไม่ยอมมาปรึกษากับตน

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑
นักศึกษาจัดการชุมนุมขึ้นที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลา มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมนับหมื่นคน และเริ่มมีการทยอยมาจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งปัตตานี นราธิวาส สตูลและสงขลา

วันที่ ๑๖ มีนาคม หนังสือพิมพ์ดาวสยาม (ปิดกิจการไปแล้ว) พาดหัวข่าวว่า “ประท้วงแต่งฮิญาบ เพราะการเมืองจากภายนอก ลัทธิชีอะฮ์หนุนก่อเหตุข่มพุทธ” (โดนอีกแล้ว)

วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ๒๕๓๑
นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ฉบับวันที่ ๒๐-๒๖มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๑
ลงบทความเรื่อง “แฉเบื้องหลังศึก วค. ยะลา” ระบุว่า “การประท้วงกรณีฮิญาบที่ วค. ยะลา มี ส.ส. จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หนึ่งรับนโยบายมาจากประเทศตะวันออกกลางประเทศหนึ่งโดยประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมต่างชาติแห่งหนึ่ง เพื่อเคลื่อนไหวในลักษณะรุนแรง” (นี่ก็โดนอีก)

ระหว่างมีการประท้วงที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลา ที่กรุงเทพมหานครตัวแทนองค์กรมุสลิมในส่วนกลางได้เดินทางเข้าพบนายไสว พัฒโน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่คัดค้านการอนุญาตให้นักศึกษาสตรีมุสลิมคลุมศีรษะได้ เพื่อยื่นหนังสือและเจรจา

ตัวแทนที่เข้าพบประกอบด้วยคุณอนัส (จำนามสกุลไม่ได้) นายกสมาคมนิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น
ทนายสมชาย นีละไพจิตร
(ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาแก่ดวงวิญญาณของท่าน)
ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม คุณสุนทร (อับดุลกอเดร) มูซอ และคุณอรุณ (ฟารีด) เด่นยิ่งโยชน์ หลังจากยื่นหนังสือแล้วมีการเจรจากับตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยอยู่นานพอสมควร จึงลากลับ จากนั้นคณะทั้งหมดจากกรุงเทพมหานครจึงเดินทางลงจังหวัดยะลา เพื่อสมทบกับนักศึกษาที่ประท้วงและหาทางแก้ไขปัญหากับกลุ่ม ส.ส. มุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่าที่จำได้ขณะนั้นประกอบด้วย คุณเด่น โต๊ะมีนา อ. วันมูหะมัด นอร์ มะทา คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธ์ คุณมุข สุไลมานและคุณจิรายุส เนาวเกตุ เป็นต้น รวมทั้งองค์กรเยาวชนยะลาด้วย

จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
ทางรัฐบาลจึงยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและสัญญาว่าจะแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เสียใหม่ ซึ่งยังกินความกว้างรวมไปถึงสิทธิเสรีภาพของสตรีมุสลิมทุกตนในทุกองคพยพของสังคมไทย ที่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อสำคัญข้อนี้ของอิสลามได้

การประท้วงกรณีฮิญาบของนักศึกษาวิทยาลัยครูยะลาครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับกระแสวัฒนธรรมอิสลามในเวลาต่อมา เป็นผลพวงการต่อสู้อย่างยาวนานตั้งแต่นักศึกษาสตรีมุสลิมคนแรกตัดสินใจคลุมศีรษะไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาสตรีมุสลิมจำนวนมากที่เป็นตัวละครร่วม ทั้งที่เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม

มีสตรีมุสลิมในหน่วยงานของรัฐและเอกชนจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการคลุมศีรษะในหน่วยงานของตนเองทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ได้หวังที่จะมีชื่อเสียงเรียงนามในสังคมว่าเป็นนักต่อสู้ พวกเธอหวังเพียงความพึงพอพระทัยของพระผู้เป้นเจ้าและปฏิบัติตนอยู่ในครรลองของอิสลามเท่านั้น

กว่า ๓๐ปีผ่านไป
บรรดาสตรีมุสลิมเหล่านั้น ในปัจจุบันก็คงจะมีอายุ ๕๐ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย พวกเธอเป็นแม่ของลูกสาวซึ่งคงเข้าเรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำงานในกระทรวงทบวงกรม บริษัทห้างร้านต่างๆ โดยสามารถคลุมศีรษะและแต่งกายมิดชิดตามบทบัญญัติอิสลามได้อย่างเต็มภาคภูมิ

สตรีเหล่านั้นก็คงจะมีลูกชาย ซึ่งได้แต่งงานกับผู้หญิงที่คลุมศีรษะแต่งกายเรียบร้อย และจะส่งต่อวัฒนธรรมการแต่งกายแบบอิสลามนี้ไปยังลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไป ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังแข่งขันต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง

หนุ่มสาวมุสลิมยุคนี้ลองแหงนมองหน้าแม่ของตนเองดูสักครั้งหนึ่ง แล้วอาจจะพบว่า “มุญาฮิดะฮ์” นักต่อสู้เพื่อ “ฮิญาบ” ในยุค๓๐ปีที่แล้ว อาจเป็นแม่ๆ ของพวกเขานั่นเอง

หมายเหตุ : โพสต์นี้มิได้เจตนาที่จะกล่าวถึงหรือละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการบรรยายภาพที่ผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสและมีส่วนร่วม เพื่อสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวและสัมฤทธิผลของการเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่านั้น ยังมีข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกอีกมากมายเกี่ยวกับตัวบุคคลและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ซึ่งสามารถศึกษาได้ในแหล่งข้อมูลอื่นๆ

* ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กของท่านฟารีด เด่นยิ่งโยชน์ มากๆนะคะ

# ❤️ Alhamdulillah
World Hijab Day
1 February

ขอบคุณบังฟารีด
ที่บันทึกเรื่องราวดีๆของพวกเรา
ฮิญาบ ๓๐ ว.ค.ยะลา เอาไว้ให้
ทำให้วันฮิญาบโลก วันนี้
มีความหมายกับพวกเรา
และมุสลิมะฮฺทุกคน มากขึ้นค่ะ..

#ญัซซากัลลอฮูค็อยร็อน นะคะ
หมายเหตุ
1.
ประมวลภาพดูได้ใน
https://www.facebook.com/1245604111/posts/10221755116207555/?d=n
2.บทความ การต่อสู้เรื่องฮิญาบ โดยรอมฎอน ปัญจอร์
http://wb.yru.ac.th/bitstream/yru/822/1/6.%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B2%20%20%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf

ฮิญาบ ในมุมมองมุสลิม การต่อสู้ด้านสิทธิ จาก วิทยาลัยครูยะลาเมื่อปี30 ถึง อนุบาล ปัตตานี ปี 61
หมายเหตุดู
1.ที่วิทยาลัยครูยะลา ปี 30

https://www.facebook.com/1245604111/posts/10221755116207555/?d=n

2.อนุบาลปัตตานีhttps://prachatai.com/journal/2018/05/77144

 2,306 total views,  6 views today

You may have missed