พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ข้อสังเกตต่อขบวนรถไฟสันติภาพเที่ยวล่าสุด และ เสียงของประชาชนในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

แชร์เลย

โดย..รักชาติ สุวรรณ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้..

(เขียนผ่านเฟสบุ๊ค)

เมื่อ 20 มกราคม 2563  ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่เยือนอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ได้มีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับ “ผู้แทนบีอาร์เอ็น” ซึ่งนำโดย อุสตาซฮิฟนี หรือ อุสตาซหีพนี มะเร๊ะ ที่หลายฝ่ายออกมายืนยันว่าบรรดาตัวแทนบีอาร์เอ็นที่ขึ้นเวทีด้วยนั้นเป็นตัวจริงเสียงจริงกันเลยทีเดียว

เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ได้มีการรายงานเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 โดยสำนักข่าว Benar News ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นได้มีการนัดถกกับทีมพูดคุยของไทยที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผ่านองค์กรเอ็นจีโอในยุโรป โดยตอนนั้นรายงานได้บอกว่าประเทศมาเลเซียซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกตัวจริงไม่ได้รับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเบอร์ลิน

.

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นราวกับอยู่ในช่วงเริ่มต้นขบวนของรถไฟสันติภาพขบวนใหม่นับตั้งแต่มีการประกาศลาออกจากหัวหน้ากลุ่มมาราปาตานีของอุสตาสสุกรี ฮารี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 อันทำให้มาราปาตานีขาดหัวหน้ากลุ่มในการพูดคุย ในขณะเดียวกันพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และได้ลาออกอีกเช่นกันในเดือนสิงหาคม 2562 หลังจากเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

.เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาช่วงระยะเวลาที่ พล.อ.อุดมชัย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย หลายคนในพื้นที่ต่างรู้กันดีว่า มีความพยายามที่จะเปิด Track หรือวางรางของเส้นทางการพูดคุยแบบใหม่นั่นคือมันจะเป็นการพูดคุยกับทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งหมายรวมถึงบีอาร์เอ็นอันเป็นองค์กรที่เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในพื้นที่ การวางรากฐานของพล.อ.อุดมชัย มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บีอาร์เอ็นยอมเข้าสู่กระบวนการพูดคุย

.

อย่างไรก็ตามก็มีข้อสังเกตว่าหากกลุ่มบีอาร์เอ็นยอมเข้าสู่กระบวนการพูดคุยได้ ก็ต้องมีความพร้อมทั้งทางทักษะและความรู้ในกระบวนการพูดคุย และเชื่อว่าสิ่งที่บีอาร์เอ็นตระหนักเป็นอย่างยิ่งคือ ความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่าง มีศักดิ์ศรี ให้เกียรติ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าทั้งสองฝ่ายควรมีให้แก่กันเป็นพื้นฐาน

.

ผู้เขียนเห็นว่าในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้หรืออาจจะตั้งแต่มีกลุ่มมาราปาตานี บีอาร์เอ็นเองก็กำลังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมในการเรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประเด็นต่างๆ อยู่เช่นกัน เมื่อพบว่าตัวเองพร้อมแล้วจึงตัดสินใจเข้าร่วมการพูดคุย

…………………..//…………………………….//…………………….

ผู้เขียนขอย้อนกลับไปยังประเด็นข้างต้นของการพูดคุยสันติสุขที่เริ่มต้น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีการดำเนินการผ่านองค์กรกลาง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงไม่ใช่ประเทศมาเลเซียซึ่งมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่ตามมารยาทของการทำงานหรือตามข้อตกลงที่มีต่อกัน เป็นไปได้เช่นกันว่ามาเลเซียอาจรับรู้ในการพบกันดังกล่าวตั้งแต่ต้น แต่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ประเด็นหนึ่งคือ การพบกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศที่มีบทบาทเป็นคนกลางสร้างสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้อย่างมาเลเซียจะยอมรับหรือรับรองการพบกันในครั้งนี้หรือไม่

.ข้อสงสัยดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อมีการพูดคุยเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.63 ถือเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ครั้งแรกระหว่างตัวแทนของไทยและตัวแทนของบีอาร์เอ็น โดยมี ตันสรี อับดุลราฮิม โมฮัมหมัด นอร์ จากประเทศมาเลเซียทําหน้าที่เป็นผู้อํานวยความสะดวก ซึ่งในการพูดคุยครั้งนี้ มีข้อตกลงร่วมกัน 4 ข้อ แต่มีข้อน่าสังเกตมีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมด้วย 2 คน ทราบว่าเป็นคนไทย 1 คน เป็นชาวต่างชาติ 1 คน ทำให้ผู้เขียนมองว่ารัฐไทยเองมีความยืดหยุ่นพอสมควรที่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมได้ เพราะในอดีตไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลจะยอมให้มีผู้สังเกตการณ์การเข้าร่วม

.

วันที่ 31 ม.ค.63 ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าคณะพูดคุยของไทยบอกว่า การพูดคุยหรือการมี Peace Dialogue รอบใหม่นี้ได้ดำเนินการกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเท่านั้น แต่ย้ำว่าพร้อมจะคุยกับทุกกลุ่ม เห็นได้ชัดว่า พล.อ.วัลลภ ไม่ได้ตีกรอบการพูดคุยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เปิดกว้างสำหรับกลุ่มอื่นๆ และหมายรวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในมาราปาตานีด้วย

.

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนคิดว่าอาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ กลุ่มมาราปาตานีกับบีอาร์เอ็นคงมีการพูดคุยกัน เพราะอย่าลืมว่าในมาราปาตานีเองก็มีสมาชิกของบีอาร์เอ็นอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน หากยังจำกันได้ในช่วงที่มาราปาตานีเกิดขึ้น ยังคงมีคำพูดว่า “บีมา และบีไม่มา” ซึ่งพล.อ.วัลลภ ก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่าให้ขึ้นอยู่กับทางกลุ่มผู้เห็นต่างกลุ่มต่างๆจะไปติดต่อสื่อสารกันเองว่าจะดึงใครเข้ามาบ้าง ฝ่ายไทยเปิดกว้างพร้อมจะคุยกับทุกกลุ่ม แต่ในเวลานี้เน้นที่กลุ่มบีอาร์เอ็นก่อน

.

อย่างไรก็ตามสำหรับคนในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่หนุนเสริมการพูดคุย สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุย ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อเสนอในฐานะเป็นประชาชนในพื้นที่ การรวบรวมข้อเสนอที่เป็น “วาระประชาชน” ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ

.

ประเด็นสำคัญที่คณะพูดคุยหรือคณะรัฐบาลควรตระหนักถึงคือ ผลกระทบของความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียตลอดระยะเวลาของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ หลายกลุ่มและองค์กรได้มีการร่วมมือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในนามของ Peace Survey โดยครอบคลุมถึงเรื่องของรูปแบบการเมืองการปกครอง

.ผลของการสำรวจความคิดเห็นโดยเฉพาะจากกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมที่จะมีรูปแบบการปกครองแบบไหนก็ได้ เพียงให้เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงเสียที

.ผลการสำรวจดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนหรือ “วาระของประชาชน” ในพื้นที่ได้อีกรูปแบบหนึ่ง และผู้เขียนหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในหลายๆข้อเสนอที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนและได้รับการพิจารณาบนเวทีพูดคุยเพื่อให้ความขัดแย้งที่ดำเนินมามากกว่า 16 ปี ได้ยุติลงเสียที

.หมายเหตุเผยแผ่ครั้งแรกใน

#PataniNOTES

 846 total views,  2 views today

You may have missed