เมษายน 26, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

คุตบะห์ที่ดีควรเตรียมตัวอย่างไร บทเรียนจากเวที กทม.

แชร์เลย

บาบอมูฮำมัดรอซาลี มูโน๊ะ สุไหงโกลก ชายแดนใต้
السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

เมื่อวานนี้ผมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดแห่งหนึ่งใน กทม.และได้ฟังคุตบะห์ในภาษาไทยรู้สึกเสียดายกับโอกาศเหลือเกินเพราะมัสยิดสวยงามและใหญ่มากบวกกับผู้ร่วมละหมาดเต็มไปหมดมีทั้งชายและหญิง(ซึ่งภาคใต้บ้านเราผู้หญิงจะไม่ออกละหมาดวันศุกร์)แต่เนื้อหาคุตบะห์ยาวเกินไปและยากที่จะจับใจความได้. ผมจึงอยากจะเขียนให้กับตัวเองและหวังว่าจะมีประโยชน์แด่เพื่อนๆที่ร่วมทำหน้าที่อ่านคุตบะห์ที่เคารพทุกท่าน:

สำหรับมุมมองส่วนตัวของผม… คุตบะห์เป็นเวทีบรรยายที่เลิศที่สุดซึ่งผู้ชายที่เป็นมูกัลลัฟทุกคนทั่วโลกต้องมาฟังพร้อมกันและ(ห้าม)คุยหรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับอีบาดัตนี้เด็ดขาด. มันเป็นเวทีเดียวเท่านั้นที่ทุกคน(ต้อง)ฟังเราพูดถึงจะไม่ค่อยชอบก็ต้องฝึนใจมาฟัง. มันเป็นโอกาศทองสำหรับดาอีย์ที่ดีสามารถฉวยมันให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดให้กับอิสลามเท่าที่จะทำได้.

คอติบ(خطيب)ที่ดีต้องเตรียมตัวให้ดีและพร้อมที่สุดเพื่อไม่ให้โอกาศทองหลุดไปและการเตรียมตัวนั้น(มุมมองส่วนตัวครับ)ต้องเน้นในสามด้าน:

หนึ่ง : ด้านหัวข้อและเนื้อหาเพื่อเน้นประโยชน์วิชาการ.

สอง : ด้านการใช้เสียงและชั้งเชิงเพื่อดึงดูดความสนใจ.

สาม : ด้านหัวใจและนียัตเพื่อเป็นบารอกัตในการเผยแพร่.

สำหรับข้อหนึ่ง: หัวข้อและเนื้อหา

1-เตรียมหัวข้อให้เหมาะสมกับสถานการปัจจุบัน:
หัวข้อที่เหมาะสมนั้นต้องเป็นหัวข้อเดียวเท่านั้นซึ่งหลังจบคุตบะห์ผู้ฟังจะสามารถตอบได้ว่าวันนี้ฟังคุตบะห์จากเราในหัวข้อนั้นๆ.

2-พยายามอธิบายหัวข้อที่เลือกด้วย5หลักสำคัญ:
*อายัตอัลกุรอ่าน(القرآن)
*ฮาดีสท่านรอซูล(الحديث)
*คำคมจากผู้ใหญ่ในอิสลามจากยุคใหนก็ได้
*ยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเป็นหลักฐาน
*อ้างอิงด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ไกล้ที่สุดกับชีวิตผู้ฟัง.

3-หัวข้อและคำอธิบายทั้งหมดต้องยาวไม่เกิน 30นาที(เท่านั้น)เพราะผู้ฟังอาจจะมีกิจวัติด่วนหรือมีผู้เฒ่าและเด็กที่ไม่อาจจะทนกับการนั่งนานได้.แต่ก็อย่าสั้นเกินไปจนแทบจะจับเนื้อหาไม่ได้เลยมันจะเสียดายโอกาศครับท่าน.

4-ห้ามออกนอกประเด็นเด็ดขาดเพราะ:
*เรามีเวลาจำกัดมาก
*การออกนอกประเด็นจะทำให้ผู้ฟังเสียสมาธิและอาจจะลืมหัวข้อที่เรากำลังโฟกัสอยู่ได้อย่างน่าเสียดาย.

5-ไม่ควรพูดเนื้อหาที่อาจจะสร้างความแตกแยกได้ในหมู่ผู้ฟังซึ่งต้องสำนึกและจำเสมอว่าเรากำลังพูดต่อหน้าหมู่คนหลากหลายความคิดและมีจุดยืนที่แตกต่างกันพวกเขาอาจจะทะเลาะเบาะแว้งและจบด้วยการแตกแยกหลังจากวิเคราะห์คำพูดของเราคนเดียว.

6-ก่อนจบคุตบะห์ที่สองต้องพยายามสรุปให้ชัดเจนและสั้นๆว่าเราต้องการอะไรจากหัวข้อและเนื้อหาทั้งหมดที่พูดในคุตบะห์แรก.

สำหรับข้อสอง: การใช้เสียงและชั้งเชิง

1-เสียงต้องดังฟังชัดเจนที่สุดและบางขั้นตอนก็ลดเสียงลงเมื่อความหมายที่เราต้องการจะสื่อเหมาะกับเสียงเบาแล้วค่อยขึ้นเสียงมาใหม่.เราอาจจะใช้เสียงตะโกนในบางคำก็ได้เพื่อเสียงนั้นช่วยอธิบายความหมายของความดุดันและอาจจะใช้เสียงเหมือนกระซิบเบาๆในบางขั้นตอนเพื่อเสียงนั้นช่วยอธิบายถึงความโศกเสร้า.จุดนี้จะทำให้ผู้ฟังมีความสุขกับการฟังและเพิ่มพลังให้แก่ผู้พูดอย่างเห็นได้ชัดครับ.

2-คุตบะห์จะมี3ประเภทหรือสามวิธีด้วยกัน:

วิธีแรก: พูดโดยไม่ต้องพึ่งหนังสือใดๆหรือบทบันทึกใดๆเลยเรียกว่า(إرتجالي).

ถ้าท่านมีพรสวรรค์ในการพูดโดยไม่ต้องพึ่งบทบันทึกใดๆช่วยท่านมันเป็นสิ่งที่ดีงามมากเพราะท่านจะสามารถใช้ลีลาชั้งเชิงในการพูดเต็ม100%. แต่พรสวรรค์ในการพูดอัลลอฮ์ไม่ได้ประทานมาให้กับเราทุกคนฉะนั้นคนมีพรสวรรค์กับคน(พยายาม)พูดโดยไม่ใช้บทบันทึกใดๆมันแตกต่างกันมาก.ทั้งสองคนจะพูดจบโดยไม่ต้องพึ่งบทบันทึกใดๆแต่ความหน้าฟังสำหรับผู้ฟังมันคนละเรื่องกันครับฉะนั้นท่านต้องประเมินให้ได้ว่าท่านเป็นนักพูดประเภทใหน? ถ้าตกลงคำตอบคือไม่ใช่พรสวรรค์ท่านควรใช้วิธีที่สองครับ.

วิธีที่สอง: พูดโดยไม่ต้องพึ่งหนังสือคุตบะห์แต่จะพึ่งข้อความที่จดบันทึกเล็กน้อยเป็นข้อๆเพื่อกันลืม.วิธีนี้เรียกว่า (نصف الإرتجال).

วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดและอาจจะดีกว่าวิธีแรกซึ่งบรรดาอุลามาอ์อาหรับและอุลามาอ์ระดับโลกเขาจะใช้วิธีนี้กันเยอะมากเพราะเหตุผลดังนี้:

*กันลืมและช่วยในการอ่านอายัตและฮาดีสทีแม่นยำกว่าและจะสามารถบอกที่มาของหลักฐานที่อ้างอิงได้อย่างแม่นยำ.

*ช่วยป้องกันการออกนอกประเด็นในการพูดซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในหมู่บรรดาคอติบเราที่ใช้วิธีแรก.

*จะเป็นตัวชี้วัดว่าผู้พูดได้เตรียมตัวมาอย่างดีแน่นอนซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือในหมู่บรรดาผู้ฟังได้มากทีเดียว. ต่างกับวิธีแรกซึ่งผู้พูดอาจจะไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อนแต่อาศัยความชำนานและความเป็นนักพูดจึงพูดได้เลยแต่ถ้าไม่ใช่พรสวรรค์ที่แท้จริงท่านอาจจะพูดและพลาดโอกาศไปเลยนะครับเพราะ(อย่าลืม)ผู้ตัดสินว่าคุตบะห์เราดีหรือไม่นั้นไม่ใช่ตัวเราแต่จะเป็นผู้ฟังต่างหากนะครับ.

วิธีที่สาม: การอ่านจากหนังสือคุตบะห์

ถ้าท่านไม่สามารถที่จะพูดโดยไม่พึ่งหนังสือได้ก็ไม่ใช่หมายความว่าท่านไม่สามารถเป็นคอติบที่ดีได้เพราะบรรดาคอติบในประเทศเราส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้กันแต่ท่านต้องพยายามเป็นคอติบที่อ่านคุตบะห์ที่ดีให้ได้นะครับ. และการอ่านคุตบะห์ที่ดีนั้นต้องมีดังนี้:

*พยายามอ่านคุตบะห์ที่ได้เขียนและเรียบเรียงมาด้วยตัวเอง.

*ถ้าเขียนไม่ได้ก็พยายามหาหนังสือคุตบะห์ที่เขาได้เรียบเรียงมาเรียบร้อยแล้ว(และนี่เป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด)แต่ท่านต้องหาหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและ(จงอย่าลืม)อ่านทบทวนให้ดีก่อนขึ้นมิมบัรนะครับ.

*ถึงแม้ท่านจะอ่านจากหนังสือก็ตามแต่ท่านต้องเป็นผู้อ่านคุตบะห์ที่ดีให้ได้นะครับ.โดยท่านต้องคำนึงและปฏิบัติตามทุกข้อที่ได้เขียนมาด้านบนนะครับ.

3-การแต่งกายที่ดีและสุภาพ:

คอติบที่แต่งกายอย่างสง่างามเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง. ใช่ครับ…ท่านไม่จำเป็นต้องสวมชุดเหมือนคอติบอาหรับเป๊ะๆแต่ท่านไม่ควรจะใส่ธรรมดาเกินคำบรรยายนะครับเพราะมิมบัรคือเวทีของท่านศาสดาเราและเราคือผู้แทนของท่านเมื่อยืนอยู่บนเวทีแห่งนี้.

สำหรับข้อที่สามและสุดท้าย: นียัตที่ดีงาม

แน่นอนข้อนี้คือเครื่องยนต์และเป็นหัวใจของคุตบะห์เลยทีเดียว.จากสามข้อหลักๆนี้. นียัตจะสำคัญที่สุดฉะนั้นคอติบบางท่านจะอ่านแบบธรรมดามากแต่สามารถเรียกน้ำตาจากผู้ฟังได้เพราะมันเป็นพลังจากหัวใจและมันเป็นความลับที่สวยงามที่ยากจะอธิบายได้ของการนียัตที่ดีงาม. แต่กลับกันในบางครั้งคอติบจะมีองค์ประกอบที่พูดถึงครบทุกประการ. ฟังแล้วรู้สึกดีแต่ยากที่จะเข้าและครองหัวใจผู้ฟังได้เพราะอาจจะขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ(นียัตที่อิคลัสและสูงส่ง).

สุดท้ายผมอยากสรุปสั้นๆว่าถ้าเราสามารถพัฒนาตัวเองทีละนิดทีละหน่อย. เพิ่มเติมองค์ประกอบทั้งสามที่พูดถึงทีละขั้นจนครบเราจะสามารถใช้เวทีมิมบัรที่ท่านศาสดาฝากไว้ให้เรานี้ในการเชิดชูอิสลามให้สูงส่งได้อย่างแน่นอนและปัญหาหลายอย่างที่อุมมัตนี้กำลังเผชิญอยู่ต้องพบทางออกอย่างแน่นอนครับ.

และก่อนจบผมต้องขอมาอัฟอย่างสูงด้วยครับหากข้อความนี้ดูแล้วเหมือนว่าจะสอนผู้รู้ทั้งหลายแต่ผมขอยืนยันว่าผมอิคลัสที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสิ่งที่ยังขาดให้ครบและสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นครับ.

ด้วยความเคารพยิ่ง

มูฮำมัดรอซาลี มูโนะ (Ghazali Al-Fathoni)

 7,207 total views,  16 views today

You may have missed