พฤษภาคม 3, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

แนะนำคู่มือ “อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนหญิงรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

(28 พฤศจิกายน 2562) ผู้เขียนได้รับเชิญจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้เข้าร่วมเปิดตัว หนังสือ เล่มหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อคนทำงานสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากๆ แต่เสียดายผู้เขียนไม่ได้เข้าร่วมงานแต่ก็โชคดี ผู้เขียนยังได้รับหนังสือนี้ตั้ง 30 เล่มจากนางสาวนูรอัยนี อุมา มูลนิธิศูนย์ทนายความ จังหวัดยะลา อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนสตรีเพื่อแจกจ่ายภาคีประชาสังคมชายแดนใต้


หนังสือนี้คือ คู่มือ “อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนหญิงรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้”จากได้พูดคุยกับคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มาและความสำคัญของคู่มือนี้โดยท่านให้ทัศนะพอสรุปใจความว่า
“มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรภาคีทำงานในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี2550 พบว่านับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 เป็นต้นมา ประชาชนทั้งชาวพุทธและมุสลิมใน จชต. จำนวนมาก ได้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงตลอดมา ทั้งจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ


หลายปีที่ผ่านมามีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นมากมายเพื่อมาเติมเต็มการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในด้านต่าง ๆ เพราะรัฐยังไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐนำกฎหมายพิเศษมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา15 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การกระทำของเจ้าหน้าที่บางคนและหน่วยงานรัฐบางแห่ง ส่งผลกระทบ จำกัด ลิดรอน หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร หรือละเลยการปกป้องคุ้มครองและแก้ไขเยียวยาการละเมิดที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวองค์กรภาคประชาสังคมจึงมีส่วนสำคัญในช่วยเหลือ สนับสนุน ติดตาม หรือเรียกร้องให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐหลีกเลี่ยงการกระทำอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำหน้าที่แก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น โดยมูลนิธิและเครือข่ายได้จัดทำคู่มือฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนหญิงที่ทำงานด้วยจิตอาสาต่อประชาชน ภายใต้องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

บทบาทหน้าที่ของตนในการทำงานเพื่อทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เราเชื่อว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจและลดการต่อต้านขัดขืนรัฐ รวมทั้งช่วยลดความรู้สึกโกรธแค้นหรือการตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนโดยกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐซึ่งกลายเป็นวงจรความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น”
ท่านได้เพิ่มเติมอีกว่า “ขอขอบคุณนายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายอาวุโสและที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวนูรอัยนี อุมา มูลนิธิศูนย์ทนายความ จังหวัดยะลา อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนสตรีผู้มีประสบการณ์ทำงานช่วยกันเขียนคู่มือฉบับนี้ รวมทั้งขอขอบคุณองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี/ชายแดนภาคใต้ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ที่ร่วมกับทำงานส่งเสริมงานด้านการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแข็งขันตลอดมา เราเชื่อว่าสันติสุขและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกัน ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่นั้นย่อมปราศจากสันติภาพ ที่ใดต้องการสันติภาพ ที่นั้นต้องมีความเป็นธรรมและมีสิทธิมนุษยชน”


มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า สำหรับผู้สนใจในประเด็นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สามารถติดต่อรับ คู่มือเพื่อเป็นแนวทางการทำงานได้ดังนี้
• สำนักงานกลุ่มด้วยใจ จังหวัดปัตตานี
• สำนักงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) จังหวัดปัตตานี
• เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) จังหวัดยะลา
• ตัวแทนเครือข่าย CIVIC WOMEN
• สำนักงานมูลนิธินูซันตารา จังหวัดยะลา
• สำนักงานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา
• สำนักงานศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้
• สำนักงานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
• เครือข่ายปกป้องเด็กชายแดนใต้ (CPN)

หมายเหตุ สามารถลิ้งค์ได้ใน
https://voicefromthais.wordpress.com/…/download-%E0%B8%84%

 673 total views,  2 views today

You may have missed