พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

บทสรุป ( ” งูเห่า ” & “แจกกล้วย” )

แชร์เลย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 กระผมในฐานะเป็นหนึ่งในตัวแทนของพรรคผู้ยื่นญัตติ และอภิปราย เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเพื่อศึกษาผลกระทบการบังคับใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 นั้น

รู้สึกเสียดาย ผิดหวัง และเป็นห่วงกังวล โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ประธานสภาสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัย ให้มีการแสดงตนใหม่ และลงคะแนนใหม่ ไม่ใช่นำผลคะแนนเดิม มานับใหม่ โดยการขานชื่อ ซึ่งเดิมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
ผลคะแนนโหวต 234 เสียง “ เห็นด้วย ” ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบ ประกาศ คสช. มาตรา 44 ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีคะแนน 230 เสียง ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วย ชนะไป 4 เสียง
แต่ในที่สุด เมื่อมีการลงคะแนนใหม่ โดยการแสดงตนใหม่ ผลปรากฏว่า สภามีมติด้วยคะแนนเสียง 244 ต่อ 5 “ไม่เห็นชอบ” ให้ตั้ง กมธ. วิสามัญศึกษาผลกระทบตามมาตรา 44 และงดออกเสียง 6 ทำให้ญัตติตั้งกรรมาธิการ เรื่องดังกล่าวตกไป ตามที่เป็นข่าว


ดังนั้นประเด็นญัตติที่เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับ ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอ พร้อมมาตรา 44 ของ คสช. อาจต้องหาช่องทางอื่น เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว เสนอฝ่ายบริหารต่อไป แต่คำถามที่คาอยู่ในใจ ญัตตินี้ เป็นเพียงการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบฯ ซึ่งหากสภามีมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว เมื่อศึกษาผลกระทบ ก็จะได้มาซึ่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลฝ่ายบริหาร เพื่อแก้ไขต่อไป เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่เหตุไฉนจึงไม่ยอมกัน ถึงขนาดแพ้แล้วให้โหวตใหม่ จนกลายเป็นประเด็นคำว่า “ งูเห่า ” “ แจกกล้วย ” เกิดขึ้นในข่าวการเมือง ณ.วันนี้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นข้อห่วงกังวลของระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจเงินหว่านล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้น หรือเล่นแร่แปรธาตุ ทุกวิถีทางเพื่อหลุดพ้นจากกระบวนการตรวจสอบ ตามที่เป็นข่าว ถือเป็นการถอยหลังทางการเมืองในระบบรัฐสภา ในขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้ดำเนินการในระบบรัฐสภาตามมติของพรรค ถือเป็นกระจกส่องอย่างดี ที่แต่ละพรรคจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคในอนาคตอย่างไร หากจะกล่าวโทษกัน คงต้องว่ากล่าวโทษคนแจกกล้วยและคนรับแจกกล้วย ที่กำลังทำลายกลไกทางการเมือง ในระบบรัฐสภา ไม่อาจกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“ สุดท้ายผมขอยืนยันว่า การออกเสียงในระบบรัฐสภาถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญก็จริง แต่การรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์และนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน ถือเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ”

/////////////////////////
#ทนายแวยูแฮ (กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต4นราธิวาส
พรรคประชาชาติ

 1,044 total views,  4 views today

You may have missed