พฤศจิกายน 27, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“มุฟตี” นักเลงคีย์บอร์ดมหันตภัยร้ายในสังคมมุสลิม(แต่มิได้หมายความว่าตักเตือนกันไม่ได้)

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

Shukur2003@yahoo.co.uk
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

บทความนี้ผู้เขียนมีเป้าประสงค์ที่จะสะท้อนปัญหาสังคมมุสลิมในประเทศไทยในยุคดิจิตอลที่ผู้คนมักง่ายจะตัดสินผู้อื่นโดยอ้างหลักการศาสนาอิสลามแต่มิได้หมายความว่าตักเตือนกันไม่ได้หรือในวงการสือที่พูดกันในโลกโซเซียล คือมุฟตีคีย์บอร์ด ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์และอื่นๆเพียงแต่มีความสามารถด้านการสื่อสารในยุคดิจิตอล

 


บางครั้งนำคำตัดสินดังกล่าวไปใช้อารมณ์กล่าวโทษผู้อื่น (ด้วยประสงค์ดีแต่ไม่มีวิทยปัญญาในการเสนอแนะ) ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองขัดแย้งรุนแรง อารมณ์คนดุเดือดเลือดพล่าน ต่างฝ่ายต่างเสพข้อมูลข่าวสารตามที่ตัวเองเชื่อ ทั้งยังไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ถึงขั้นเหยียดหยาม ประณามฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำอันเต็มไปความเกลียดชังราวกับไม่ใช่เพื่อนร่วมศาสนนิก
ทั้งหมดกลายเป็นวาทกรรมที่เรียกว่า “Hate speech” อันโด่งดังสะท้านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ในขณะนี้
เช่นประเด็นดราม่าล่าสุด ประเด็นขับร้องบทเพลงประสานเสียง อันเป็นมหันตภัยร้ายในสังคมมุสลิมเราปัจจุบัน(ซึ่งมันก่อตัวมาก่อนหน้านี้นานแล้ว) กล่าวคือ นายอติรุต ดือเระ น้องนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปีที่3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ลูกศิษย์ผู้เขียน)ได้เล่าว่า “ต่อประเด็นการร่วมขับร้องบทเพลงประสานเสียงต่อหน้าพระสันตะปาปา ของน้อง ๆ โรงเรียนเเห่งหนึ่งที่เกิดเป็นกระแสในหมู่มวลมุสลิม นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์เเละเเสดงความคิดเห็นถึงความถูกผิดเเละเหมาะควรจากพี่น้องมุสลิมจำนวนมากเเล้วอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เราได้สัมผัสคือกระบวนการคิดเเละการโต้ตอบผ่านสื่อออนไลน์อันเป็นที่น่าฉงนปนความหดหู่อยู่ไม่น้อยซึ่ง
พบว่าหลายคนพยายามสร้างคุณค่าเเละดึงภาพลักษณ์ศาสนาให้กลับอยู่ในร่องในรอยด้วยวิธีการพ่นคำด่าทอผ่านคีย์บอร์ดซึ่งเลยขอบเขตการเเสดงความคิดเห็นที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นคนเเละชนร่วมศาสนาไปไกลมาก เราไม่อาจทราบได้ว่าอักขระทั้งหมดที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เกิดขึ้นด้วยอคติ หรืออารมณ์ร้อนร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ เเต่ผลลัพธ์ที่เกิดไม่ได้ช่วยยกระดับศาสนาให้ดูดีขึ้นเลยเเม้เเต่น้อย ซ้ำร้ายยังฉุดดึงให้ย่ำเเย่ลงไปอีกหากทบทวนเเนวทางอันงดงามของท่านศาสนฑูต เราไม่เคยพบว่าการด่าทอ สาปส่ง หรือหยามเหยียดเป็นหนึ่งในวิธีการตักเตือนที่ถูกต้อง
เห็นจะมีเเต่การตอบโต้ความชั่วร้ายด้วยกับความดีเเละตอบกลับความหยาบกระด้างด้วยกับความอ่อนโยนเสียมากกว่าการเเสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิที่ทุกคนมีเเต่ถ้าใช้อารมณ์นำเหตุผล ความร้าวฉานก็จะยิ่งบานปลาย กลับกันใช้เหตุผลนำอารมณ์เเละสลัดอคติส่วนตัวทิ้ง การเเสดงความคิดเห็นก็จะช่วยสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย”
ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด คณบดีอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยฟาฏอนนีกล่าวต่อเรื่องนี้ ต่อผู้เขียนว่า “สังคมเราเป็นมุฟตีฟันธงผิดถูกได้กันทุกคน ทั้งๆที่การฟัตวาโดยเฉพาะในประเด็นที่กระทบกระเทือนถึงศาสนิกอื่น มันไม่ง่ายเลย…ต้องรู้ลึกทุกมิติ ต้องวิเคราะห์แนวโน้มมิติต่างๆ ตามหลักมัซละหะฮ์ได้”
ที่สำคัญสำหรับผู้รู้ต้องแยกให้ได้ระหว่างมุฟตีกับดาอีย์ (ผู้เผยแผ่ศาสนา)และเเยกเเยกให้ได้ว่าอันไหนเป็นทัศนะทางวิชาการที่มีความคิดเห็นเเย้งหรือสอดคล้อง
ดังนั้นสำหรับประเทศไทยเรามีจุฬาราชมนตรี ทำหน้าที่เป็นมุฟตี และในสำนักจุฬาราชมนตรีเองก็มีองค์คณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้ก่อนจะฟัตวาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมิใช่ใครก็ได้จะเป็นมุฟตี ซึ่งสำนักจุฬาราชมนตรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็พยายามทำบทบาทนี้เช่นคำตอบจุฬาราชมนตรี 25 ข้อ การปฏิบัติตนของมุสลิมไทยช่วงร.9 เสียชีวิต และอื่นๆซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับทัศนะทางวิชาการหลายคนแต่นั้นคือฟัตวาทางวิชาการ(อันนี้ต้องถกเถียงทางวิชาการอีกยาว)

ส่วนเรื่องมุฟตีคีย์บอร์ด ก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่
ครับลำดับต่อไปเรามาดูว่ามุฟตีตามหลักการอิสลามมีทัศนะอย่างไร
ความเป็นจริงบทความนี้ผู้เขียนเขียนตอนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับ สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชิญ ชัยค์ ศ. ดร.อาลีญุมอะฮ์ มูฮัมหมัด อับดุล วาฮับ ( Shaikh Profressor Dr. Ali Gomaa Mohamed Abdel Wahab ) ผู้ชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม (Mufti) จากประเทศอียิปต์ เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวทางการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในการพัฒนาประเทศ” เพื่อนำเสนอถึงรูปแบบการใช้กฎหมายอิสลามในประเทศอียิปต์ และ ประเทศมุสลิมอื่นๆ ซึ่งจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการใช้กฎหมายอิสลาม ในประเทศไทย รวมทั้ง จะเป็นการทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และแสดงถึงการสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลามของรัฐบาลไทยต่อโลกมุสลิม ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น.(โปรดดูhttps://prachatai.com/journal/2009/03/20422)

ชัยค์ ศ. ดร.อาลีญุมอะฮ์ มูฮัมหมัด อับดุล วาฮับ ( Shaikh Profressor Dr. Ali Gomaa Mohamed Abdel Wahab ) ถือเป็นผู้นำทางศาสนาที่สำคัญเป็นอันดับสอง รองจากผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam) มีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรี เป็นปราชญ์คนสำคัญของโลกมุสลิม เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม เป็นผู้ชี้ขาด ออกคำวินิจฉัยในประเด็นด้านศาสนา (Fatwa) เป็นที่ยอมรับทั้งในอียิปต์ และประเทศมุสลิมอื่นๆ
คำว่าฟัตวาเป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง การให้ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ ผู้ให้การฟัตวา คือ ผู้ที่ชี้แจงการทำหน้าที่ชี้แจงบทบัญญัติและข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับปรนตามยุคและสมัยต่างๆภายใต้กรอบหลักนิติศาสตร์อิสลามจนสามารถนำมาเป็นกฎหมายอิสลาม
ศาสนบัญญัตอันเป็นกฎหมายอิสลามนั้นจะ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการคือ
1. อีบาดะห์ คือ การกราบไหว้ต่อพระเจ้าที่อาศัยจิตใจหรือหลักศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบริจาค (ซากาต) เป็นต้น
2. มูอามาลาด คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย จำนอง จำนำ การกักตุลสินค้า เทียบได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของกฎหมายไทย
3. มูนากาฮาด คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว มรดก การแต่งงาน เช่นในกรณีของการแต่งงานนั้นตามหลักอิสลามต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 5 ประการคือ1.เจ้าบ่าว 2เจ้าสาว 3.ผู้ปกครองของเจ้าสาว 4.ผู้นำ 5.พยาน ซึ่งหากไม่ครบองค์ประกอบนั้นจะทำการแต่งงานไม่ได้ หากทำไปโดยขาดอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าการแต่งงานนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์ จึงเทียบได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัวนั่นเอง
4. ยินายาส คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฆ่าคนตาย การขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นนั้นต้องได้รับโทษอย่างไร เทียบได้กับกฎหมายอาญาของไทยนั่นเอง ตัวอย่างโทษในการฆ่าผู้อื่นจนทำให้ผู้อื่นจนทำให้เสียชีวิตนั้นคือผู้นั้นต้องตายตามกันไปแต่หากมีการยอมความกันได้ก็อาจต้องชดใช้ด้วยอูฐ 100 ตัว การขโมยก็เช่นเดียวกัน หากจับได้ต้องตัดมือนั้นทิ้งไปเลยแม้ผู้ที่ขโมยอาจต้องเป็นลูกสาวของตนเองก็ตาม
ดังนั้นจากองค์ประกอบทั้งหมด จะทำให้ทราบทันทีว่า ศาสนาอิสลามเป็นเสมือนวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านของมุสลิม อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติในประเด็นต่างๆ ที่เป็นความต้องการของมนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติในฐานะบ่าวผู้น้อมภักดีของอัลลอฮฺ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องได้รับความกระจ่างในข้อปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ พร้อมประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลามที่แท้จริงและเหมาะสมกับศักยภาพและกำลังความสามารถของมนุษย์ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือสังคมโดยรวม
อัลลอฮฺทรงสร้างสรรพสิ่งตามกฎสภาวะดั้งเดิมบนพื้นฐานของเหตุผลและกฎกติกาที่แน่นอน พระองค์ทรงเรียกร้องและเชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักใช้สติปัญญาในการทำความเข้าใจกฎสภาวะดั้งเดิมและกฎกติกาดังกล่าว ด้วยการใช้วิจารณญาณ หลักการสังเคราะห์และวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย การใช้หลักฐานและเหตุผลบนหลักการของความรู้และวิทยาการ
ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยในประเด็นศาสนา (ฟัตวา)
จากความสำคัญของการฟัตวาดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมมุสลิมทุกสังคมต้องมีมุฟตีเพื่อการดังกล่าวและการจะเป็นมุฟตีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสามารถเป็นได้ทุกคน มุฟตีจะต้องมีองค์ความรู้ด้านอิสลามศึกษาชั้นสูง ที่ปฏิบัติหน้าที่เสมือนแทนศาสนทูต เพราะในสมัยศาสนทูตปัญหาต่างๆ ท่านจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดแต่ปัจจุบันไม่มีศาสนทูตที่คอยให้คำตัดสิน
การจะเข้าใจอิสลามศึกษาชั้นสูงได้ มุฟตีจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างแตกฉานเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานและวจนศาสดา มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับ มีความรอบรู้ศาสตร์ที่ว่าด้วยชีวิตและสังคมมนุษย์ มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมกอปรกับความรู้ความสามารถในการเข้าถึงแก่นแห่งศาสนบัญญัติได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
ท่านอิมามชาฟิอีย์ปราชญ์อิสลามผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ :
“ไม่อนุญาติสำหรับใครก็ตามที่จะทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยประเด็นศาสนา (มุฟตี) เว้นแต่ผู้ที่มีความรู้ในศาสนาของพระเจ้า มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และข้อปลีกย่อยแห่งคัมภีร์อัลกุรอาน มีความแตกฉานในวจนศาสดา และศาสตร์ว่าด้วยวจนศาสดา เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับ สำนวนโวหารและวาทกรรมอาหรับ ทั้งนี้มุฟตีจำต้องมีบุคลิกที่สุขุม รอบคอบ ไม่พูดเรื่องไร้สาระ เป็นคนที่รอบรู้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสำนักคิดต่าง ๆ เขาจะต้องเป็นผู้ที่เพียบพร้อมทั้งพรสวรรค์ และพรแสวงของคุณสมบัติของความเป็น มุฟตีที่ดี”
ท่านอิมามอาหมัดปราชญ์อิสลามผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งกล่าวไว้
“สมควรอย่างยิ่งสำหรับมุฟตีที่จะต้องศึกษาค้นคว้า และรอบรู้คำวินิจฉัยของนักวิชาการอิสลาม (ปราชญ์อิสลาม) ยุคก่อน หาไม่แล้ว เขาไม่สมควรให้การฟัตวา”
นอกจากนี้คุณสมบัติสำคัญในด้านอค์ความรู้ มุฟตีจะต้อง เข้าใจในศาสตร์แขนงต่างๆ เพิ่มเติมอีกดังนี้
1.ศาสตร์ที่ว่าด้วย การเผยแผ่ 2.ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นจริง 3.ศาสตร์ที่ว่าด้วยการบริหารการจัดการความขัดแย้ง4.ศาสตร์ที่ว่าด้วยชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ
5.ศาสตร์ที่ว่าด้วยกำลังความสามารถและศักยภาพ 6.ศาสตร์ที่ว่าด้วยฟิกฮฺการกำหนดยุทธศาสตร์และการลำดับความสำคัญ
การฟัตวายังมีเงื่อนไขสำคัญอีกกล่าวคือความรับผิดชอบตามหลักศาสนาเรียกว่า อะมานะฮฺ ซึ่งจะต้องถูกสอบสวนในโลกหน้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า
คำฟัตวาที่เป็นประเด็นปลีกย่อยในสมัยอดีตอาจสวนทางกับฟัตวาสมัยใหม่อันเนื่องมาจาก ความเปลี่ยนแปลง และข้อเท็จจริงร่วมสมัยหรือข้อมูลใหม่ที่ได้รับแต่จะต้องอยู่ภายใต้ หลักนิติศาสตร์อิสลาม
เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะที่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับมุฟตีที่จะต้องตีความหลักศาสนบัญญัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปัจจุบันที่กระแสความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัดหรือเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งแต่ละฝ่ายพยามยามอ้างหลักศาสนามาสนับสนุนแนวคิดของตน ดังนั้นการสร้างปราชญ์ด้านอิสลามศึกษารุ่นใหม่จึงมีความสำคัญมากเช่นกันในสังคมและองค์กรมุสลิมเพื่อสามารถให้ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับปรนตามยุคและสมัยต่างๆภายใต้กรอบหลักนิติศาสตร์อิสลามจนสามารถนำมาเป็นกฎหมายอิสลามทำให้มุสลิมรู้จักประยุกต์ใช้คำสอนของศาสนาอย่างรู้เท่าทัน

///////////////////////////////

 1,125 total views,  2 views today

You may have missed