โดย..นญีบ อาห์มัด…
เป็นที่ถกเถียงพอสมควรในแวดวงผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์เมืองปตานีว่า มัสยิดกรือเซะซึ่งเป็นมัสยิดโบราณที่จังหวัดปัตตานีนั้น สร้างขึ้นเมื่อไร สร้างโดยใคร สร้างแล้วเสร็จหรือไม่ ทรุดโทรมและร้างเมื่อไร/โดยสาเหตุใด ซึ่งก็มีหลายสมมุติฐาน หลายความเชื่อที่ส่วนใหญ่แล้วอิงมาจากตำนานเมืองปตานี (Hikayat Patani) และตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเนี่ยวเป็นหลัก
.ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้เล่าว่ามัสยิดกรือเซะสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยมชาวจีนฮกเกี้ยนที่ลี้ภัยจากเมืองจีนมาอาศัยอยู่ที่เมืองปตานีและได้แต่งงานกับธิดาเจ้าเมืองปตานีจนได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายช่างในการสร้างมัสยิด ในระหว่างที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมกำลังสร้างมัสยิดจนเกือบจะเสร็จนั้น ลิ้มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้องสาวได้มาจากเมืองจีนเพื่อตามพี่ชายให้กลับไปดูแลมารดาและถูกลิ้มโต๊ะเคี่ยมปฎิเสธเพราะติดภาระกิจในการสร้างมัสยิด เป็นเหตุให้ลิ้มกอเหนี่ยวน้อยใจจนผูกคอเสียชีวิตพร้อมกับสาปไม่ให้พี่ชายสร้างมัสยิดได้สำเร็จ
….ส่วน Hikayat Patani บันทึกมุขปาถะที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองปตานี ได้เล่าเรื่องราวที่แตกต่างไป โดยกล่าวถึงมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองปตานีว่า สมัยสุลตานมุซอฟฟัรชาห์(ประมาณ คศ.1530 – 1564)มีชาวปาไซชื่อเชคซอฟียุดดีนซึ่งตั้งเรือนที่นอกกำแพงเมืองใกล้กับประตูเมือง แนะนำสุลตานฯให้สร้างมัสยิด สุลตานฯจึงบัญชาให้ดาโต๊ะบันดาฮารา(ตำแหน่งขุนนาง)จัดสร้างมัดยิดตามคำแนะนำของเชคซอฟียุดดีนชาวปาไซ
ถึงแม้จะมีต้นเค้าว่ามีมัสยิดหลังนี้อาจเป็นมัสยิดหลวงประจำเมืองปตานีหลังแรกและสร้างในสมัยสุลตานมุซอฟฟัรชาห์ แต่ฮิกายัตฉบับนี้ไม่ได้บอกให้เราทราบว่าสร้างเสร็จในสมัยของสุลตานท่านนี้หรือไม่ แต่มีเนื้อหาที่เขียนในช่วงหนึ่งของฮิกายัตฉบับบนี้ที่เล่าเรื่องราวการฆาตกรรมของขุนนางในท้องพระโรงราชสำนักรานีฮีเยาในวันศุกร์หนึ่ง และเมื่อนำศพเหยื่อฆาตกรรมออกจากท้องพระโรง เป็นช่วงเวลาเดียวกับมัสยิดกำลังอะซาน(เสียงเรียกละหมาด) ซึ่งพอที่จะมองเห็นเค้าลางได้ว่าในสมัยการปกครองของรานีฮิเยานั้น มัสยิดได้ถูกใช้งานในการประกอบศาสนกิจแล้ว
.
ชุลีพร วิรุณหะ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับฮิกายัตปตานีว่าเป็นงานเขียนพื้นเมืองของชาวมลายูที่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้เขียน คาดว่าถูกเรียบเรียงขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยถูกค้นพบแล้ว 6 สำนวน และสำนวนที่เป็นที่รู้จักคือฉบับคัดลอกของ อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลกอเดร์ ซึ่งถูกจัดเก็บรักษาที่ Library of Congress, Washington, D.C ต่อมาในปี 1967 A.Teeuw ร่วมมือกับ David K Wyatt แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ วัน มโรหบุตรแปลจากฉบับของ Teeuw – Wyatt เป็นภาษาไทยพิมพ์ลงใน “วารสารรูสะมีแล” ในปี พ.ศ.2528
เช่นเดียวกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่มีหลายสำนวน แต่คาดว่าน่าจะมาจากสำนวนของตระกูลคณานุรักษ์เป็นหลัก ใน “ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ฉบับตระกูลคณานุรักษ์” ให้ข้อมูลว่ามาจากการงานเขียนของมัลลิกา คณานุรักษ์ ที่ได้ฟังจาก สุวิทย์ คณานุรักษ์ ซึ่งได้รับการเล่าจากคุณปู่ คือ ขุนพจน์สารบาญผู้ซึ่งเป็นบุตรของคุณพระจีนคณานุรักษ์ว่า เป็นเรื่องราวที่ถูกเขียนบันทึกในภาษาจีนของคุณพระจีนคณานุรักษ์และได้สูญหายไปในชั้นลูก
ถึงแม้ทั้งฮิกายัตปตานีและประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะถูกบันทึกเป็นเอกสาร แต่ก็ไม่ได้เป็นเอกสารร่วมสมัยทั้งสิ้น และถึงแม้จะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัย ก็ต้องไม่ลืมที่จะตระหนักว่าประวัติศาสตร์มีหลายด้าน หลายมุมมอง และควรตระหนักว่าบางครั้งประวัติศาสตร์ก็เขียนเพื่อรองรับอำนาจและความชอบธรรมในบางเรื่องด้วยเช่นกัน
.
หากงานเอกสารที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับมัสยิดกรือเซะเท่าที่มีอยู่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นพอและยังมีข้อโต้แย้งคลุมเครือ เราอาจจะสามารถตั้งคำถามกับหลักฐานเชิงประจักษ์คือตัวงานสถาปัตยกรรมของมัสยิดมาประกอบกับข้อมูลบันทึกเอกสารอื่นที่มี เช่น ข้อมูลทางโบราณคดี ข้อมูลทางสัมคมและมานุษยวิทยามาผสมกับการสันนิษฐานจากจินตนาการมาใช้ในการวิเคราะห์ตีความได้บ้าง
.
โดยปกติแล้ว งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแถบนี้มักใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพราะเป็นวัสดุที่หาง่ายและช่างท้องถิ่นมีความชำนาญ นอกจากมัสยิดกรือเซะแล้วเราไม่เห็นหลักฐานงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในบริเวณนี้ที่ก่อสร้างโดยการก่ออิฐถือปูน ยกเว้นโบราณสถานที่ยะรังซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานพุทธศาสนาในยุคก่อนหน้านี้หลายศตวรรษ มีเรื่องเล่าผ่านบันทึกที่กล่าวถึงพระราชวัง Istana Kota Nilam และกำแพงเมืองปตานีก็ล้วนเป็นงานที่สร้างจากไม้ทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ออกแบบมัสยิดกรือเซะเลือกออกแบบอาคารมัสยิดโดยใช้การก่ออิฐถือปูนแทนที่จะเป็นอาคารไม้
.
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาหรับ-เปอร์เซีย-ตุรกี ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้ออกแบบมัสยิดหลังนี้ หรือนำ(จำ)รูปแบบสถาปัตยกรรมจากที่ใด ข้อสงสัยนี้ ฮิกายัตปตานีซึ่งอ้างถึงเชคซอฟียุดดีนผู้เสนอให้สุลตานฯสร้างมัสยิดว่าเป็นชาวปาไซ(อาเจ๊ะห์) สนับสนุนความเป็นไปได้มากกว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเป็นผู้ออกแบบหรือนำรูปแบบสถาปัตยกรรมมาจากเมืองจีน เมืองปาไซหรืออาเจ๊ะห์นั้นรับวัฒนธรรมอาหรับ-เปอร์เซีย-ตุรกีอย่างแนบแน่นและยาวนานตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 การที่ศิลปวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางส่งผ่านอินเดียสู่อาเจ๊ะห์และมายังปตานีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากกว่าการส่งผ่านจีน อีกทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมมัสยิดในยุคแรก ๆ ในจีนก็เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะจีนที่ใช้ไม้เป็นวัสดุในการสร้างอาคาร จึงไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนักที่จะเชื่อว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมจะเป็นผู้ออกแบบหรือนำรูปแบบมัสยิดนี้มาจากเมืองจีน อย่างไรก็ตาม ในตำนานประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวฉบับตระกูลคณานุรักษ์เล่าว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้อำนวยการสร้างมัสยิด ซึ่งอาจจะหมายความว่าไม่ได้เป็นผู้ออกแบบหรือนำรูปแบบมัสยิดมา และถ้าตำนานทั้งสองฉบับนี้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ในเรื่องการสร้างมัสยิด ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า เชคซอฟียุดดีนจากปาไซเป็นคนออกแบบหรือนำรูปแบบสถาปัตยกรรมของมัสยิดจากเมืองปาไซมาที่ปตานีและลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้ดำเนินการในการก่อสร้างอาคารในหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งตามที่ได้รับมอบจากสุลตานปตานี ซึ่งยังคงต้องตรวจสอบว่าทั้งเชคซอฟียุดดีนและลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาที่เมืองปตานีในสมัยเดียวกันหรือไม่
.
รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดกรือเซะเท่าที่พอจะใช้ในการวิเคราะห์นั้นพอที่จะดูได้จากซุ้มโค้งระหว่างเสาของมัสยิดกรือเซะเป็นเทคนิคการทำโค้งแบบที่เรียกว่า Equilatural arch หรือ Gothic arch ที่ต่างจากซุ้มโค้งมัสยิดโบราณบ้านดาโต๊ะ, มัสยิดรายอจะบังติกอและมัสยิดรายอสายบุรีที่ใช้เทคนิคการทำซุ้มโค้งแบบ Round Arch ซึ่งอาจบอกได้ว่ามัสยิดกรือเซะสร้างคนละยุคสมัยกับมัสยิดที่ดาโต๊ะและมัสยิดรายอทั้งสองแห่ง มีการใช้รูปแบบ Equilatural arch หรือ Gothic arch ที่พระราชวังพระนารายณ์ที่ลพบุรีและสะพานเทพหมีจังหวัดอยุธยาซึ่งนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าได้รับอิทธิจากเปอร์เซีย และอยู่ในช่วงสมัยอายุหลังจากมัสยิดกรือเซะไม่มากนัก
.
เมี๊ยะห์รอบ(Mirhab) หรือมุขตะวันตกสำหรับอีหม่ามนำละหมาดที่มัสยิดกรือเซะมีลักษณะการก่อเป็นซุ้มคูหาโค้งตามแบบเมี๊ยะห์รอบของมัสยิดในตะวันออกกลาง ซึ่งแตกต่างจากเมี๊ยะห์รอบที่นิยมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือโลกมลายู(Nusantara) หรือแม้กระทั่งจีนที่นิยมสร้างเมี๊ยะห์รอบเป็นคูหาสี่เหลี่ยม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พอจะนำมาสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมของมัสยิดกรือเซะได้รับอิทธิพลจากอาหรับ-เปอร์เซีย-ตุรกี
.
สิ่งที่เป็นความเหมือนอย่างหนึ่งของมัสยิดยุคแรก ๆ ในโลกมลายูที่แตกต่างจากมัสยิดในอินเดีย – เปอร์เซีย – อาหรับและตุรกี คือ มัสยิดแถบนี้ไม่นิยมสร้างหออะซาน (Minaret) กรณีศึกษาในเรื่องนี้สามารถดูได้จากมัสยิดรุ่นแรกแห่งอื่น เช่น สุเหร่าอาโหที่ปัตตานี มัสยิดกำปงลาวต์ที่กลันตันและมัสยิดอากุงเมืองเดมักบนเกาะชวา มัสยิดกรือเซะไม่ปรากฏหออะซานเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้พอที่กำหนดกรอบอายุและยุคสมัยของสถาปัตยกรรมอย่างกว้าง ๆ ได้บ้าง มัสยิดที่ไม่มีหออะซานเหล่านี้จะใช้การตีกลองเป็นสัญญานในการบอกเวลาละหมาด จนเมื่อได้รับอิทธิพลจากโลกอาหรับขนานใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงมีการเพิ่มหออะซานขึ้นในภายหลัง เช่น มัสยิดกำปงลาวต์, มัสยิดอากุง, มัสยิดรายาจะบังติกอ และมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ เป็นต้น
.
ประเด็นปัญหาเรื่องมัสยิดกรือเซะสร้างโดมหลังคาจนแล้วเสร็จหรือไม่และ/หรือพังลงมาเมื่อไร/อย่างไรนั้น มีการสันนิษฐานไปหลายทิศทาง เช่น สร้างไม่เสร็จตามคำสาป สร้างเสร็จแล้วแต่พังเพราะถูกเผาในคราวเกิดสงครามระหว่างสยามกับปัตตานีในปี คศ. 1785 (พ.ศ. 2328) บางทรรศนะก็เชื่อว่ามัสยิดสร้างเสร็จจนใช้งานได้ในระยะหนึ่งแล้วโดมหลังจึงได้พังลงมาเพราะโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ได้ ข้อสงสัยในประเด็นเหล่านี้ หากเชื่อเรื่องเล่าผ่าน Hikayat Patani ที่เล่าว่าในสมัยรานีฮิเยามีการใช้งานมัสยิดแล้ว ก็น่าจะอนุมานได้ว่ามัสยิดได้สร้างจนแล้วเสร็จและใช้งานมาระยะหนึ่งแล้ว Hikayat Patani และเอกสารอื่นไม่ได้บอกให้เรารู้ว่ามัสยิดกรือเซะพังลงมาเมื่อไร นอกจากในพงศาวดารเมืองปัตตานี(น่าจะเขียนขึ้นไม่เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 3)ที่กล่าวถึง “สับเฆ็ด(สะมือเญด Semejid, มัสยิด ?)”ว่า “ก่อด้วยอิฐเปนรูปโบถขึ้นหลังหนึ่งสามห้องเฉลียงรอบ แม่ปะธานกว้างประมาณหกศอก ยาวสิ้นตัวเฉลียงสี่วาเศษ เครื่องบนแลพื้นในเวลานี้ชำรุดหมด ยังเหลือแต่ฝาผนัง แลฝาผนังเฉลียงนั้นก่อเปนโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นแม่ปะธานสูงประมาณสองศอกเศษ พื้นเฉลียงสูงประมาณสองศอก ที่สุเหร่าก่อด้วยอิฐนี้ มลายูในแหลมปัตตานีเรียกชื่อว่าสับเฆ็ด”
ข้อความในพงศาวดารปัตตานีแสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่เขียนพงศาวดารนี้ มัสยิดกรือเซะได้ชำรุดและถูกทิ้งร้างไปแล้ว
.
ในกระแสความเชื่อที่ว่าโดมมัสยิดกรือเซะพังลงมาเพราะถูกเผาจากสงครามระหว่างสยามกับปตานีเมื่อ คศ.1786 (พศ.2329)นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกใดที่กล่าวถึงการเผามัสยิด หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดสำรวจชั้นดินของกรมศิลปากรก็ไม่ปรากฏร่องรอยเถ้าถ่านที่แสดงว่ามีการเกิดเพลิงไหม้ในบริเวณนั้น
มีความเป็นไปได้ที่สภาวะสงครามครั้งนั้นที่เมืองปตานีแพ้สงครามเสียเมืองให้กับสยามอาจมีผลต่อการทรุดโทรมและพังทลายของมัสยิดกรือเซะคือ การเทครัวจากกรือเซะซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองปตานีในขณะนั้นไปยังบางกอก
ธรรมเนียมปกติของการเทครัวคือการเอาชนชั้นปกครอง ช่างฝีมือ ชนชั้นสูงหรือคนที่มีคุณภาพไปยังเมืองของผู้ชนะสงคราม ซึ่งคงทำให้เมืองปตานีหลังแพ้สงครามโดยเฉพาะที่กรือเซะนั้นน่าจะล่มสลายจนร้างผู้คนไม่สามารถดำรงอาศัยได้ในที่สุด คนที่เหลือที่ไม่ได้ถูกเทครัวอาจต้องอพยพย้ายไปยังที่แห่งอื่น การที่เมืองกรือเซะร้างผู้คนนี่เองที่อาจเกิดการทรุดโทรมของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งมัสยิดด้วย
ส่วนประเด็นที่มัสยิดกรือเซะสร้างเสร็จแล้วระยะหนึ่งจึงได้พังลงมาเพราะโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ได้นั้น ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่า ไม่มีการซ่อมแซมหรือ ? และหากไม่สามารถซ่อมได้เหตุใดจึงไม่สร้างมัสยิดหลังใหม่ ทั้งนี้มุสลิมมีความจำเป็นที่จะต้องประกอบศาสนกิจ จำเป็นต้องมีมัสยิดโดยเฉพาะศูนย์กลางของเมือง ไม่มีบันทึกหรือเรื่องเล่าใด ๆ ที่บอกเล่าว่ามีการสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่ในบริเวณเมืองกรือเซะอีกหลังในช่วงก่อนแพ้สงคราม คศ.1786 และไม่มีร่องรอยทางโบราณคดีที่ปรากฏว่ามีมัสยิดแห่งอื่นนอกจากมัสยิดกรือเซะหลังนี้เท่านั้น
.
ประเด็นข้อสงสัยหนึ่งที่ไม่เห็นร่องรอยคำตอบที่น่าพอใจคือ หากโดมหรือหลังคาของมัสยิดถล่มลงมา เศษซากกระเบื้องหรือวัสดุมุงหลังคาที่น่าจะเป็นวัสดุจำพวกดินเผาหายไปไหน ? วัสดุประเภทนี้เสื่อมสลายได้ยากมาก มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการเอาวัสดุเหล่านั้นไปใช้งานในอาคารหลังอื่นหรือนำไปเป็นวัสดุในการสร้างเรือน เรื่องนี้ไม่สามารถวิเคราะห์หรือคาดเดาได้เลย คงต้องบอกว่า พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ … วัลลอฮ์ฮูอะลัม
ท้ายบทความ : บทความนี้พยายามที่จะเสนอมุมมองและความเป็นไปได้จากคำถามที่ยังไม่มีคำตอบหรือข้อสรุปที่มีน้ำหนัก โดยการวิเคราะห์ผ่านเอกสารและข้อมูลที่มี
ผนวกกับพื้นฐานความรู้ที่ผู้เขียนเคยศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม เนื้อหาในบทความจึงไม่อาจเป็นข้อสรุปหรือข้อชี้ชัดได้ เป็นเพียงการเสนอมุมมองและการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อการถกและต่อยอดการศึกษาต่อไป
หมายเหตุ
เนื้อหาคัดลอกจาก Patani Notes
.
/////////////////////////////////////////
4,087 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.