โดย ตูแวดานียา มือรีงิง รายงาน..
องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยทั่ว จากปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี มีผู้หญิงจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากความรุนแรงจากปัญหาความไม่สงบแล้วยังมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามรณรงค์ และร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ร่วมทั้งอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองสิทธิสตรี ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(CEDOW) โดยวิธีภาคยานุวัติหรือการลงนามให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งมีผลผูกพันที่รัฐภาคีจะต้องนำบทบัญญัติในอนุสัญญา CEDAW มาใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องส่งเสริมความเสมอภาคของสตรีในทุกๆด้านของชีวิต ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสถานที่ทำงานและในปี 2558-2573 องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายโลกแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals–SDGs) ด้วยเป้าหมาย 17 เป้าหมาย เป็นทิศทางการพัฒนา ซึ่งตรงกับข้อ 5 คือ ความเท่าเทียมกันทางเพศ … บรรลุถึงความเท่าเทียมกันทางเพศและส่งเสริมพลังของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายผู้นำสตรีในชุมชน (15-17 พ.ย.61) เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวและสร้างสันติสุขจังหวัดปัตตานี เป็นอีกโครงการหนึ่งทีจัดขึ้น โดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จชต. สนับสนุนโดย ศอ.บต.และองค์กรอ็อกแฟม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันและให้ความช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภัยคุกคามทางเพศในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมบูรณาการทำงานกับทีมสหวิชาชีพในระดับจังหวัด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรี ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐในระดับตำบล ทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอันนำไปสู่การสร้างสภาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง
เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินโครงการ “โครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อร่วมกับคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดและภาครัฐในการลดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีให้กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส การจัดทำฐานฐานข้อมูลปัญหาสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การประชุมร่วมผู้นำศาสนาและทีมสหวิชาชีพ การอบรมทักษะการให้คำปรึกษาแก่แกนนำสตรีทั้ง 3 จังหวัดจำนวน 100 คน เพื่อให้กลุ่มสตรีได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานกับผู้นำศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายทั้งหมด และปรับปรุงระบบการบริการที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ให้ได้รับความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการศาสนาอิสลาม ว่าด้วยกฎหมายมรดกและครอบครัว
ผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้เกิดการยอมรับจากผู้นำศาสนา และมีการพัฒนาระบบการบริการดีขึ้นผู้หญิง(เคส)ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้เข้าถึงความยุติธรรมที่รวดเร็วมากขึ้น ในปี 2560 มีผู้หญิงที่ประสบปัญหามาร้องเรียนและโทรศัพท์ขอคำปรึกษากับอาสาสมัครประจำศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี จ.นราธิวาส จำนวน 126 ราย ,ปี 2561 จำนวน 301 ราย และที่ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรี ศูนย์ปัตตานี ณ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 แล้วจำนวน 7 ราย และจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเนื่องจากสามี ไม่ให้ค่าเลี้ยงดู ติดยาเสพติดและทำร้ายร่างกาย ส่วนข้อมูลการร้องเรียนที่ สน.คณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี ในปี 2560 มีผู้หญิงมาร้องเรียน 722 คน เจ้าหน้าที่สามารถไกล่เกลี่ยยุติปัญหาได้เพียง 270 กว่าเคส ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่แตกต่างมากเมื่อเทียบกับข้อมูลจากหน่วยงานราชการ(พมจ.)
อย่างไรก็ตามในทางปฎิบัติก็ยังพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลาบฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยมรดกและครอบครัวของศาสนาอิสลาม 2489(ใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกและครอบครัว) พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่หน่วยงานราชการ ผู้นำศาสนา และประชาชนทั่วไป ยังขาดความรู้ความไม่เข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฎิบัติ มีความล่าช้า ทำให้สตรีไม่กล้ามาร้องเรียน การให้ความช่วยเหลือไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
ดังนั้นเพื่อเป็นการต่อยอดขยายผลองค์ความรู้ ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองสิทธิ และการช่วยเหลือเยียวยา ให้กับแกนนำ สมาชิก ได้ขับเคลื่อนงานในชุมชน และพัฒนาบทบาทสตรีเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ จะต้องได้รับความรู้ใหม่ๆและ ฝึกทักษะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้หญิง เด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงความเป็นธรรมที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 โดยส่วนของสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่องที่ถูกนำเสนอ ในภาพรวมมีการนำเสนอว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี) โดยตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 รวมระยะเวลากว่า 14 ปี มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 16,770 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,100 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 12,921 ราย เหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ ส่งผลให้มีสตรีหม้าย 2,653 คน และเด็กกำพร้า 9,806 คน ส่วนสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบปี 2560 มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559 โดยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 588 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 250 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 374 ราย ในขณะที่ปี 2559 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 807 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 307 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 628 ราย จากสถิติย้อนหลัง 14 ปี นับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ปี 2560 เป็นปีที่มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยที่สุด
///////////////////////////////////////////
814 total views, 2 views today
More Stories
SEC ภาคใต้กับSEA สงขลา-ปัตตานี
สู่พรบ.สันติภาพ เพื่อประกันกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ฮัจญ์ไทยในภารกิจทูตสันติภาพใน 3 ภารกิจ จชต.