พฤษภาคม 3, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

“เงามืดปกคลุมองค์กรตำรวจไทย จากผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชนกลายเป็นผู้พิทักษ์รับใช้ คสช. และ รัฐบาล”

แชร์เลย

ข้อมูล พรรคประชาชาติ…

จากข่าวตำรวจยศตั้งแต่ ‘ด.ต.-พล.ต.ต.’ ลาออกจำนวนมาก เช่น เว็บไซต์ประชาไทย เสนอข่าว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ว่า “ตร.ลาออกเกือบพันนาย ขณะที่นิตยสาร COP’S เปิด จม. ตร.ตั้งคำถามผู้ใหญ่ ‘ทำไมต้องให้ลาออก’ 

อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะเทือนใจและเศร้ากับองค์กรตำรวจที่ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลพร้อมกันจำนวนมากก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะงานตำรวจเป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์ เนื่องจากความรู้ในวิชาชีพตำรวจต้องเกิดจากประสบการณ์เท่านั้น การศึกษาจากตำราหรือข้อมูลทางวิชาการอื่นความรู้ยังด้อยกว่าประสบการณ์

ตำรวจ มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม สืบสวนสอบสวน ตรวจค้น จับกุม ฯลฯ ดำเนินคดีกับผู้ที่กฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้เป็นความผิด และมีโทษทางอาญาไว้ รวมถึงการบริการสาธารณะด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอื่นๆ “การปฏิรูปงานตำรวจ” ทุกฝ่ายมีเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นและประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นด้วย แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด คือ อัยการ ศาล องค์กรอิสระ ก็ต้องปฏิรูปด้วยเช่นกัน

ภายหลังการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ของพล.อ.ประยุทธ์ ฯ และ คสช ได้ประกาศนโยบายที่ปฏิรูปตำรวจแต่ตลอดเวลา 5 ปี รัฐบาล คสช ต้องประสบกับความล้มเหลวแทนที่จะเป็นการปฏิรูปให้ดีขึ้น กลับเป็นการทำลายวิชาชีพตำรวจ จากตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นผู้พิทักษ์ คสช และรัฐบาล

ความจริงนั้น การปฏิรูปตำรวจ จะต้องเริ่มที่เอาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นในเขตชุมชนเมือง ท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ เป็นตัวตั้ง ว่าทำอย่างไรให้ตำรวจจึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในการการแก้ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด และบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนได้ตามเป้าประสงค์ อุดมการณ์ และคำปฏิญาณตามอุดคติของตำรวจได้

งานตำรวจจะต่างกับงานทหารเพราะงานทหารจะสั่งการ “จากบนลงล่าง” แต่งานตำรวจต้องเริ่มจาก“ล่างขึ้นบน” จากที่เกิดเหตุที่สายตรวจ สายสืบไปถึงต้องใช้วิจารณญาณตัดสินใจ และต้องรายงานให้พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ได้ทราบเพื่อสนับสนุนและตัดสินใจ งานตำรวจจะจบที่สถานีตำรวจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้บังคับบัญชาสูงกว่านั้นช่วยสนับสนุนด้านการวางนโยบายแก้ไข เป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุเกิดเหตุวิกฤตไปแล้ว หรือในช่วงเวลาที่เหตุการณ์ปกติแล้ว

ตำรวจมีความจำเป็นต้องได้รับ การฝึกฝนอบรม และการให้ความพร้อมและให้อุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ แก่ผู้ปฏิบัติ สรุปคือ “การช่วยให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่แบบมืออาชีพ”

ทุกวันนี้ ประชาชนยังขาดความไว้วางใจในการปฏิบัติของ จนท.ตำรวจ ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายหลักในการปฏิรูปตำรวจคือ “ต้องเรียกความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในตำรวจกลับมาให้ได้”

ประสบการณ์ในงานตำรวจและการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม เห็นว่า การปฏิรูปตำรวจ ต้องให้สำคัญกับ 5 ส และ 2 ต คือ

1) สายตรวจ – ตำรวจสายตรวจ ต้องตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันอาชญากรรม และบริการประชาชน โดยเฉพาะ คนอ่อนแอ และด้อยโอกาส

2) สายสืบ- ตำรวจสายสืบ เป็นงานแสวงหาข้อเท็จจริง หลักฐาน ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุการกระทำผิดทางอาญา เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด ต้องทำงานอย่างมืออาชีพ

3) สอบสวน – พนักงานสอบสวนคือนายตำรวจสัญญาบัตรยศ ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และต้องมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ไว้เฉพาะไม่ใช่นายตำรวจสัญญาบัตรทุกคนเป็นพนักงานสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง พิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ในความผิดที่กล่าวหา ตรวจค้น จับกุม เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กล่าวโดยสรุป พนักงานสอบสวนต้องยึดมั่นในข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งข้อข้อเท็จจริงถ้าไม่มีพยานหลักฐานจะไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริง

4) สิทธิมนุษยชน – ตำรวจต้องเคร่งครัดตามกระบวนการและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหลักการสิทธิมนุษยชน คุณสมบัติผู้เป็นตำรวจมีความสำคัญ โดย “กฎหมายที่ยุติธรรมต้องถูกบังคับใช้โดยตำรวจที่รักความสัตย์จริงเพื่อปกป้องความยุติธรรม”

5) สวัสดิการ- ต้องมีสวัสดิการในการทำงานที่เหมาะสม ทรัพยากรการบริหารต้องทุ่มเทไปพัฒนางาน สายตรวจ สายสืบ และสอบสวน ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังและเส้นเลือดของงานตำรวจเป็นหลักอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ให้มีสวัสดิการเงินเดือน ค่าตอบแทนที่เหมาะสมในการดำรงอยู่อย่างมีเกียรติไม่แสวงหาผลประโยชน์อื่นจากประชาชน จะต้องจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือในการปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้ตำรวจได้ทำหน้าที่ของตำรวจอย่างภาคภูมิใจ โดยเร่งด่วนต้องปรับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เท่าเทียมกับพนักงานอัยการด้วย

ส่วน 2 ต คือ
1) แต่งตั้ง- การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง ต้องยึดมั่นในระบบคุณธรรม ตำรวจเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ก็จะต้องให้ความยุติธรรมกับตำรวจด้วย การแต่งตั้งต้องปฏิเสธระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง หรือวิ่งเต้น ที่จะนำมาซึ่งการทุจริตในหน้าที่ ต้องยอมรับว่า ต้องยอมรับว่าในช่วง 5 ปี คสช ได้ทำลายระบบคุณธรรมของตำรวจ และนำระบบอุปถัมภ์ การวิ่งเต้น เส้นสาย ระบบพวกพ้องใช้ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยและยอมรับอย่างสิ้นเชิง

2) ตรวจสอบ- ต้องตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยกฎหมายและการมีส่วนรวมของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยตามอำเภอใจ ต้องมีการกระจายอำนาจ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบ ที่สำคัญอย่างยิ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนรวม ดังคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมทั่วหน้าให้ประชามีส่วนร่วม” ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังมิให้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม

ตำรวจคือประชาชนและประชาชนก็คือตำรวจ ตำรวจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนและจะต้องทำหน้าที่อย่างตั้งใจและเต็มที่ เพื่อความคงอยู่ของสังคมและความสงบสุขของประชาชน การปฏิรูปตำรวจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เสมือนเงามืดปกคลุมองค์ตำรวจไทย จากตำรวจผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชนกลายเป็นผู้พิทักษ์รับใช้รัฐบาล ทั้งที่ประชาชนไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้รัฐบาลแต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องรับใช้ประชาชน

ที่มา:
https://prachatai.com/journal/2019/10/84581

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

https://www.facebook.com/TaweeSodsongOfficial/posts/3063396240342664

 1,061 total views,  2 views today

You may have missed