เมษายน 19, 2024

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

แรงงานไทยในมาเลเซีย ปัญหาเร่งด่วน ! ที่รัฐบาลประยุทธ ต้องรีบแก้

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)  รายงาน..

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุก

….หลังจากผู้เขียนนำเสนอ  บทความและรายงานข่าวในหัวข้อ “ความท้าทายรัฐบาลใหม่ ในการแก้ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่มาเลเซีย” (โปรดดู http://spmcnews.com/?p=18732) เป็นที่น่ายินดีว่า 11 กันยายน 2562 ที่สภาผู้แทนราษฎร นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ได้หารือประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซีย โดยกล่าวว่า “ประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเดินทางไปทำงานใช้แรงงานในประเทศมาเลเซีย โดยข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานว่ามีผู้ใช้แรงงานราว 200,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ไม่ขออนุญาตทำงานกว่า 150,000 คน หรือร้อยละ 78 ที่เหลือเป็นแรงงานประมงจำนวน 22,348 คน หรือร้อยละ 12, แรงงานทั่วไป จำนวน 15,453 คน หรือร้อยละ 8 และแรงงานเชี่ยวชาญจำนวน 3,550 คน หรือร้อยละ 2 โดยแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตส่วนใหญ่มักจะทำงานที่ร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งร้านอาหารที่แรงงานไทยนิยมเข้าไปทำงาน มีทั้งร้านขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ร้านขนาดใหญ่และขนาดกลางทางผู้ประกอบการมีกำลังความสามารถในการดำเนินการขอเวิร์คเพอร์มิต หรือใบอนุญาตทำงานในต่างแดนได้ แต่ร้านขนาดเล็กมีปัญหา ไม่มีกำลังความสามารถในการดำเนินการดังกล่าว เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงราว 30,000 บาทต่อแรงงาน 1 คน และต้องต่ออายุเป็นประจำทุกปี ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ใช้พาสปอร์ตเดินทางท่องเที่ยวทั่วไปเข้าทำงานซึ่งทางการมาเลเซียประกาศจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับแรงงานชาวต่างชาติไม่มีใบอนุญาต หากถูกจับกุมจะมีโทษปรับไม่เกิน 15,000 ริงกิต หรือประมาณ 2,000 บาท และ/หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี (ซึ่งต้องยอมรับว่ารายได้แรงงานไทยปัจจุบันได้น้อยกว่าอดีตมากเพราะค่าเงินริงกิตตกเอามากๆเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท)


ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงานไทย ขอหารือว่าทางการไทยควรเจรจากับทางการมาเลเซียให้ลดค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกลง เนื่องจากการทำงานในต่างประเทศจะช่วยดึงเงินเข้ามาในประเทศได้จำนวนมหาศาล และยังเป็นการส่งเสริมอาหารไทยไปต่างแดนด้วย”
จากข้อเสนอแนะ ที่นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติต่อรัฐบาล เป็นสิ่งที่ดีและรัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานต้องทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศและมหาดไทย ให้รีบดำเนินการตามข้อเสนอแนะนั้นทันที แม้จะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรแก้ปัญหานี้ในแผนงานระยะยาวอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกันโดยกลับไปศึกษาข้อเสนอแนะในอดีตอันมากมายไม่ว่าจากการวิจัยทางวิชาการ และข้อสรุปจากทำงานชุดต่างๆทั้งจากภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งผลของการทำงานเชิงรุกสมัยท่านทวี สอดส่อง(อดีตเลขาธิการศอ.บต.) เพื่อง่ายในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาไฟใต้อีกกองหนึ่งที่จะเป็นลูกโซ่ ในปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในที่สุด
หรืออาจจะกล่าวได้ว่า” เป็นการสนับสนุนความพยายามแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหากแรงงานมีงานทำในมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเป็นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฟื้นตัวขึ้น และการถูกชักจูงให้กระทำสิ่งผิดกฎหมายก็จะลดลงด้วย”

เช่น หนึ่ง จากการศึกษาของ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้เสนอแนะว่า ในเงื่อนไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ซึ่ง ในกรณีที่ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ก็อาจจะตกลงกันเป็นพิเศษเพิ่มเติมได้ นั่นคือการเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวแรงงานได้มากขึ้น (โปรดดูhttps://prachatai.com/journal/2005/06/4271)
สอง ติดตามข้อตกลงในสมัยรัฐบาลอดีต  กล่าวคือ ขอความร่วมมือจากรัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย พิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานไทยในตำแหน่งพนักงานเสริฟ ให้สามารถทำงานในมาเลเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และลดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตทำงาน (Levy) ลงให้เท่ากับตำแหน่งแม่บ้าน (Domestic Worker) ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ
ซึ่งในอดีตสมัยท่านเฉลิม อยู่บำรุง ได้เยือนมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลมาเลเซีย เคยตอบรับข้อเสนอของไทย โดย ดาโต๊ะ ซรี มูฮำหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุลราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียขณะนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย โดย ดาโต๊ะ ซรี ฮิชามุดดีน บิน ตุน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย (สมัยนั้น)เป็นผู้พิจารณาและแจ้งว่า หลักคิดและข้อเสนอของไทย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านแรงงานไทยในมาเลเซียน่าสนใจยิ่ง และขอรับไว้พิจารณา
ในสมัยนั้น มาเลเซียได้ให้สิทธิพิเศษแก่แรงงานไทยที่ทำงานในมาเลเซีย โดยออกใบอนุญาตพิเศษ (Special Pass) แก่แรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานในร้านอาหารประเภทต้มยำ และในงานเกษตรตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม มาเลเซียพร้อมจะพิจารณาข้อเสนอของไทยที่ขอให้พิจารณาออกใบอนุญาตทำงานตำแหน่งพนักงานเสริฟในร้านอาหารประเภทต้มยำ ให้แก่แรงงานไทยที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าหากผลการหารือดังกล่าวบรรลุผลจะส่งผลดีต่อการจ้างแรงงานไทยในร้านอาหารประเภทต้มยำเป็นอย่างมาก รวมทั้งการปรับลดอัตราค่าใบอนุญาตทำงานให้มีอัตราเดียวกับตำแหน่งแม่บ้าน (Domestic Worker) จะเป็นการส่งเสริมให้นายจ้างสามารถดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้ ตลอดจนสามารถช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
(http://malaysia.mol.go.th/en/node/509)
หมายเหตุดูการตั้งกระทู้ของส.ส.สมมุติ
เบญจลักษณ์
https://www.facebook.com/1245604111/posts/10220388182755073?sfns=mo

 1,017 total views,  2 views today

You may have missed