พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ โต๊ะครู รุ่นแรกที่วางระบบการเรียนโรงเรียนในปอเนาะ จะนะ…

แชร์เลย

รายงาน : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk,

ในขณะที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวม ประวัติ โต๊ะครู ต่างๆประมาณ 30 คนที่มีบทบาทการกำเนิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในอำเภอจะนะพบว่า บุคคลแรก ที่ปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ในปอเนาะคือ โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ เขาคือใคร มาจากไหน ผู้เขียนได้พูดคุยกับ นายอับดุลกอเดร์ หรีมโต๊ะสัน ผู้วิจัยเรื่องเกี่ยวกับตัวท่าน กรุณาถ่ายทอดแล้วหลัง จากนั้น ผู้เขียนได้ให้ท่านบาบอนัสรุดดีน กะจิ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ปัจจุบันตรวจทานและนายอับดุลรอมาน สอมันนักวิชาการชำนาญการจากสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นเพื่อนกับนายอับดุลกอเดร์ หรีมโต๊ะสัน และนำเขาตะลอนหาข้อมูล ช่วยยืนยันด้วย

สำหรับประวัติโดยสังเขปท่านมีดังนี้

1. ชีวิตและการศึกษา
โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ เป็นชาวกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1929/พ.ศ. 2472 ท่านเป็นผลผลิตของปอเนาะในรัฐตรังกานู และเป็นนักเรียนของ Pondok Ahmadiyah Bunut Payong และ Masjid Besar al-Muhammadi ในโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่ Masjid Besar al-Muhammadi โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ได้ศึกษากับ Datuk Haji Muhamad Noor bin Haji Ibrahim ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Shaykh Nor (อดีตมุฟตีรัฐกลันตัน) โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ มีความรู้ที่แตกฉานในศาสตร์อิสลามและมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับ

ท่านมีพี่น้อง 4 คน น้องชายทั้ง 3 คนของท่านเป็นที่รู้จักกันด้วยชื่อ เจ๊ะสาแม เจ๊ะอุมัร และ เจ๊ะ มัต อาลี แม่ของท่านเป็นผู้หญิงที่สมถะและเคร่งครัดในศาสนา ภรรยาของโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์เป็นชาวกลันตัน ลูกศิษย์ของท่านมักเรียกภรรยาของท่านว่า “เมาะจิ” (น้า/ป้า)

โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ทำการสอนอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี หลังจากนั้นท่านได้ตัดสินใจกลับไปยังประเทศมาเลเซีย ดร. หะสัน หมัดหมาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Pondok & Madrasah in Patani ว่า ได้พบกับโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ที่ Batu Caves รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ไม่นานก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ขณะนั้นโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งตัว และท่านได้กลับไปสู่ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์เมื่อวันที่ 28 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1982/พ.ศ. 2525 (ขณะอายุได้ 53 ปี)

2. การก่อตั้งปอเนาะปาดังลางา
ในช่วงที่อยู่ในวัยหนุ่มนั้นอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ เป็นนักปาฐกถาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในรัฐกลันตัน ท่านได้รับเชิญให้ไปบรรยายและปาฐกถาตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย ในปี ค.ศ. 1952/พ.ศ. 2495 อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ได้รับเชิญให้มาบรรยายที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในงานปาฐกถาครั้งนั้นมีโต๊ะครูมีอับดุลศอมัดซึ่งเป็นโต๊ะครูปอเนาะแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะร่วมฟังอยู่ด้วย หลังจากที่ได้ฟังการปาฐกถาของอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์แล้ว โต๊ะครูอับดุลศอมัดมีความประทับใจในวาทศิลป์และความรู้ทางศาสนาของอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ เป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่อับดุลฆอนีย์จะเดินทางกลับกลันตัน โต๊ะครูอับดุลศอมัดก็ได้เชิญชวนให้อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ให้เดินทางไปที่อำเภอจะนะหากว่ามีโอกาส

หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับเดือนรอบีอุลเอาวัล อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ก็ได้เดินทางมายังจะนะเพื่อเยี่ยมเยียนโต๊ะครูอับดุลศอมัดตามคำเชื้อเชิญ โต๊ะครูอับดุลศอมัดพาอับดุลฆอนีย์ไปบรรยายที่มัสยิดบ้านสุเหร่า อำเภอจะนะ เพื่อทำความรู้จักกับชาวบ้าน อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ พักอยู่ที่บ้านของโต๊ะครูอับดุลศอมัดประมาณสองสามวันก็เดินทางกลับกลันตัน แต่ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับนั้น โต๊ะครูอับดุลศอมัดก็ได้ชักชวนให้อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ มาเปิดปอเนาะที่อำเภอจะนะ อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ รับข้อเสนอดังกล่าวหากว่ามีที่ดินให้ท่านได้ก่อตั้งปอเนาะและใช้เป็นที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางกลับกลันตัน

หลังจากอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์กลับกลันตันแล้ว โต๊ะครูอับดุลศอมัดก็ได้เล่าให้ชาวบ้านฟังเกี่ยวกับความรู้และความแตกฉานของอับดุลฆอนีย์ในศาสตร์อิสลาม และโครงการก่อตั้งปอเนาะของท่าน เมื่อได้ยินถึงกิตติศัพท์ของอับดุลฆอนีย์จากปากของโต๊ะครูอับดุลศอมัด ชาวบ้านก็พร้อมใจที่จะสนับสนุนท่านในการก่อตั้งปอเนาะ เมื่ออับดุลฆอนีย์ได้รับแจ้งว่ามีสถานที่สำหรับก่อตั้งปอเนาะแล้ว ท่านและครอบครัวก็ได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่อำเภอจะนะ อับดุลฆอนีย์ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่หมู่บ้านปาดังลางา อำเภอจะนะ เพื่อสร้างบ้านและเปิดปอเนาะ ปอเนาะนี้ต่อมารู้จักกันในนาม “ปอเนาะปาดังลางา”

โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ได้รับการต้อนรับและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในอำเภอจะนะ จากบ้านโคกเค็ด บ้านปาดังลางา บ้านปาดัง และบ้านน้ำเค็ม แรก ๆ ปอเนาะปาดังลางา มีนักเรียนเพียงไม่กี่คน ชาวบ้านยังไม่ค่อยกล้าส่งบุตรหลานไปเรียนกับโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ทั้งนี้เพราะท่านถูกพาดพิงจากโต๊ะครูอาวุโสบางท่านในอำเภอจะนะว่าเป็น kaum muda (คณะใหม่) แต่ต่อมาจำนวนนักเรียนก็มีเพิ่มมากขึ้น จากการสังเกตของ ดร. หะสัน หมัดหมาน ระบุว่า ในปี ค.ศ. 1955/พ.ศ. 2498 มีนักเรียนใหม่เข้ามาเรียนที่ปอเนาะแห่งนี้เป็นจำนวนหลายร้อยคน เด็กนักเรียนดังกล่าวอยู่ในช่วงอายุประมาณ 15-25 ปี

3. บทบาทด้านการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนแบบมัดรอซะฮ์
ปอเนาะปาดังลางา หรือ Madrasah al-Falah Balagh al-Mubin/มัดรอซะตุลฟาละห์ บะลาฆุลมุบีน (ปัจจุบันเปิดสอนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในชื่อ โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา) เป็นปอเนาะแห่งหนึ่งในอำเภอจะนะที่ได้รับความนิยมจากมุสลิมในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ดร.หะสัน หมัดหมาน กล่าวไว้ในหนังสือว่า ในปี ค.ศ. 1955/พ.ศ. 2498 นั้น ปอเนาะในอำเภอจะนะที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักเรียนเป็นอย่างสูงมีอยู่ 4 ปอเนาะด้วยกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ ปอเนาะปาดังลางา

เนื่องจากโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์เป็นคนที่มีความรู้เป็นเลิศ มีวาทศิลป์ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ท่านเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นอย่างยิ่ง สิ่งดังกล่าวส่งผลให้ท่านมีชื่อเสียงและเป็นที่โจทย์ขานในหมู่ชาวบ้านโดยทั่วไป และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดนักเรียนให้มาเรียนที่ปอเนาะของท่าน อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ ปอเนาะปาดังลางา มีชื่อเสียงคือการจัดการเรียนการสอนแบบมัดรอซะฮ์(โรงเรียน)เหมือนในประเทศแถบอาหรับ ระบบการเรียนการสอนแบบนี้แทบหาไม่ได้เลยในระบบปอเนาะในสมัยนั้น

กล่าวได้ว่าโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์เป็นผู้ที่นำระบบการศึกษาแบบมัดรอซะฮ์เข้ามาสู่สังคมจะนะและจังหวัดสงขลา ปอเนาะปาดังลางาเป็นปอเนาะแห่งแรก ๆ ในจังหวัดสงขลาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบชั้นเรียน มีการแบ่งนักเรียนออกเป็นชั้น ๆ ตามระดับความรู้ของพวกเขา มีการทดสอบเพื่อวัดความรู้ของนักเรียน มีการใช้ชอล์คและกระดานดำในการเรียนการสอน วิชาซึ่งสอนในปอเนาะแห่งนี้คือ วิชาอัลกุรอาน, หะดีษ, ตัฟซีร, ฟิกฮ์, นะฮู, ศ็อรฟ์ และบะลาเฆาะฮ์ วิชาเหล่านี้ถูกสอนด้วยตำราภาษาอาหรับทั้งสิ้น

นอกจากการสอนตำรับตำราด้านศาสนาแล้ว โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ยังได้ฝึกฝนให้นักเรียนของท่านมีความชำนาญในด้านการพูดปาฐกถา และการโต้วาที การกระทำดังกล่าวนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งใหม่และไม่เป็นที่ปฏิบัติของปอเนาะอื่น ๆ ในละแวกนั้น อย่างไรก็ตาม ผลงานของท่านก็เป็นที่ประจักษ์เมื่อลูกศิษย์ลูกหาของท่านกลายเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมในจังหวัดสงขลาและบริเวณใกล้เคียง บ้างได้เป็นโต๊ะครู บ้างก็ได้เป็นอิหม่าม และบ้างก็ได้เป็นนักพูดที่มีชื่อเสียง และทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม

เมื่อมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ได้เชิญอุสตาซชาวมาเลเซียมาอีกสี่คนเพื่อเป็นผู้ช่วยของท่าน บุคคลเหล่านี้คือ อุสตาซอับดุลรอชีด อุสตาซมันศูร อุสตาซคอลิด และอุสตาซหะยี
อิบรอฮีม อุสตาซแต่ละคนมีบทบาทแตกต่างกันไป เมื่อมีครูมาช่วยสอนแล้ว โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ก็ตระเวนปาฐกถาไปตามที่ต่าง ๆ ในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ความรู้กับประชาชน จนกระทั่งท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ในช่วงนั้น

4. บทบาทด้านสังคม
หลังจากสอนอยู่ที่ ปอเนาะปาดังลางา ได้ประมาณ 2-3 ปี โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ก็ได้รับการเชิญชวนจากครูอิสมาอีล อะหมัด (ครูแอ ปากพะยูน) ให้ถกปัญหาศาสนาในประเด็นที่ทั้ง 2 คนเห็นไม่ตรงกัน เมื่อทนต่อการร้องขอจากผู้ปกครองของนักเรียนไม่ไหว โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ จึงตอบตกลงที่จะถกปัญหาศาสนากับครูอิสมาอีล การถกปัญหาศาสนาระหว่างโต๊ะครูทั้งสองจึงถูกจัดขึ้นที่สมาคมมุสลิมหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

หลังกลับมาจากการถกปัญหา โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ก็ ได้แต่งกีตาบญาวีเล่มเล็ก ๆ ชื่อว่า “ฮุดัน ลิล มุตตะกีน” เพื่อเผยแผ่แนวคิดและจุดยืนของท่านให้สังคมได้รับทราบต่อประเด็นปัญหาที่ได้ถกกับครูอิสมาอีล เช่น ในเรื่องการกล่าวอุศ็อลลีย์ก่อนการละหมาด และการอ่านตัลกีน เป็นต้น หลังจากการถกปัญหาศาสนาในครั้งนี้ โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ เป็นผู้ที่คัดค้านการกระทำที่ท่านถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการของอิสลามโดยเฉพาะการทำ ‘จีนอ บูตอ’ อย่างที่สุด ท่านพร้อมที่จะถกปัญหานี้ทุกเมื่อกับใครที่เห็นว่าการทำ จีนอ บูตอ เป็นที่อนุมัติ ท่านได้เขียนกีตาบเล่มหนึ่งชื่อว่า “อัล-ตัยส์ อัล-มุสตะอาร์” (al-Tays al-Musta’aar) เพื่อคัดค้านการทำ จีนอ บูตอ ความตอนหนึ่งระบุว่า

“สาเหตุที่อัลลอฮ์และรอสูล (ศ็อลฯ) ทรงสาปแช่งมุหัลลิล [จีนอ บูตอ] นั้นเนื่องจากว่า พวกเขาได้แต่งงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหย่าร้าง ไม่ใช่แต่งงานตามความต้องการของหลักการ ซึ่งก็คือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย ดังนั้นการแต่งงานของมุหัลลิล [จีนอ บูตอ] ซึ่งเปรียบเสมือนกับพ่อแพะเช่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้…….”

เมื่อชัยค์อัลดุลกอเดร์ อัลมันดิลีย์ โต๊ะครูชาวอินโดนีเซียซึ่งสอนอยู่ที่มักกะฮ์เดินทางมาเยือนปัตตานีในปี ค.ศ. 1956/พ.ศ. 2499 ท่านได้รับการขอร้องจากลูกศิษย์ลูกหาของท่านในปัตตานี ให้ตอบโต้ทัศนะของโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ในเรื่องการทำ จีนอ บูตอ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดให้โต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ และ ชัยค์อับดุลกอเดร์ได้ถกปัญหาศาสนากันที่มัจญลิสอาฆามา (สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม)จังหวัดยะลา ในวันที่ 7 เดือนเชาวาล ฮ.ศ. 1377/ พ.ศ. 2499

เมื่อชัยค์อับดุลกอเดร์ อัลมันดิลีย์ เดินทางกลับไปยังมักกะฮ์ท่านก็ได้เขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อว่า “อัล-อะสัด อัล-มะอาร์ ลิ กอตลิ อัล-ตัยส์ อัลมุสตะอาร์”(al-Asad al-Mu’aar li Qatl al-Tays al-Musta’aar ) เพื่อโต้แย้งทัศนะของโต๊ะครูอับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ในเรื่อง จีนอ บูตอ ในหนังสือ “อัล-ตัยส์ อัลมุสตะอาร์” (al-Tays al-Musta’aar) อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องราวการตอบโต้กันทางวิชาการผ่านกีตาบญาวีของโต๊ะครูทั้งสองนี้ได้ถูกกล่าวถึงในวิทยานิพนธ์ของ Mumamad Bazri Che Harun (ดูอ้างอิง) ในบทที่พูดถึงชีวประวัติและผลงานของชัยค์อับดุลกอเดร์ อัลมันดิลีย์

หมายเหตุ นายอับดุลกอเดร์ หรีมโต๊ะ กล่าวว่าข้อมูลส่วนใหญ่นั้นอ้างอิงจาก
1. หนังสือ
Al-Mandili, Abdul Qadir (n.d.) al-Asad al-Ma’ar li Qatli al-Tays al-Musta’aar.
Pinang: Dhi United Press (in Jawi)

Che Harun, Muhammed Bazri (2012). Hadith-Hadith Dalam Karya Sheikh ‘Abd. Al-Qadir Al-Mandili:
Takhrij dan Analisi (Dissertation). Kuala Lumpur: Universiti Malaya.

Fikri , Abdul Ghani (n.d.). al-Tays al-Musta’aar. Pinang: Dipersama Press (in Jawi).

Madmarn, Hasan (1999). Pondok and Madrasah in Patani. Bangi: Penerbit University Kebansaan Malaysia.

2. สัมภาษณ์
บุคคลต่อไปนี้เป็นลูกศิษย์และอดีตคนใกล้ชิดของโต๊ะครู อับดุลฆอนีย์ ฟิกรีย์ ในช่วงที่ท่านสอนอยู่ที่ปอเนาะ ปาดังลางา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
เจ๊ะมะ กาเจ (18 พฤศจิกายน, 2542). อำเภอจะนะ, จังหวัดสงขลา.
เปาะจิ (18 พฤศจิกายน, 2542). อำเภอจะนะ, จังหวัดสงข

 2,968 total views,  6 views today

You may have missed