พฤศจิกายน 26, 2024

สื่อเพื่อสันติspmc

spmc สื่อเพื่อสันติ สรรค์สร้างสังคม

ชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์: ปราชญ์ปาตานี/ชายแดนใต้ผู้สร้าง คุณูปการโลกมุสลิมมลายูแห่งอาเซียน

แชร์เลย

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)  Shukur2003@yahoo.co.uk

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
ในสังคมมุสลิม ผู้นำศาสนา หรือตามภาษาพื้นบ้าน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โต๊ะครู ซึ่งมาจากภาษามลายูกลางว่า ตวนฆูรู หรืออาจมาจากคำว่า ‘คุรุ’ หรือ’ครู’ นั้นเอง

แต่ในภาษาอาหรับ หรือในภาษาที่ชาวมุสลิมทั่วไปอาจเรียกอย่างยกย่องว่า อาลิม (ผู้รู้ 1 คน เป็นเอกพจน์)หรือ อุละมาอฺ (ผู้รู้หลายคน เป็นพหูพจน์) โดยมีรากศัพท์ผันมาจาก อิลมฺ คือความรู้

โต๊ะครู หรือ อาลิม และ อุลามาอฺ จึงให้ความหมายถึง ผู้รู้และบรรดาผู้รู้ ในที่นี้คือ รู้ในศาสตร์ของอิสลาม หรืออิสลามศึกษานั่นเอง ในขณะผู้รู้หลายคนมีความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรู้ในเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึงรู้เรื่องอิสลามที่เกี่ยวข้องศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย การแพทย์ ดาราศาสตร์ การเมือง และสังคม

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาอุลามะอฺ ว่าเปรียบเสมือนผู้รับมรดกของบรรดานบี (ศาสดาทั้งหลาย)

บุคลิกภาพของผู้รู้จะต้องมีภาพสะท้อนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ จะต้องไม่เป็นตัวบั่นทอนการนำเสนอสัจธรรมสู่มวลชน หรือสู่สังคม การสงบเสงี่ยม เจียมตัว และอยู่อย่างพอเพียง พึงใจต่อความเมตตาปรานีของอัลลอฮฺ และที่สำคัญที่สุดของภาระหน้าที่ของอุลามาอฺ หรือโต๊ะครู นั่นคือ การรับใช้มนุษย์และสังคม ตลอดจนรับผิดชอบสังคม ในความดี ความชั่วที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา อุละมาอฺในภาคใต้มีบทบาทในสังคมมากในการชี้นำความถูกต้องให้กับสังคม และในบรรดาอุลามาอฺภาคใต้ที่มีอิทธิพลต่อบรรดาอุลามาอฺด้วยกันและชุมชนมุสลิมภาคใต้และประเทศอาเซียนคือ ชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์ เพราะท่านเป็นทั้งครูผู้สอนและแต่งตำราอิสลามศึกษาเกือบ 100 เล่ม และหนังสือของท่านยังเป็นหนังสือเรียนในหลักสูตรอิสลามศึกษาในสถาบันปอเนาะและเป็นหนังสืออ้างอิงในสถาบันการศึกษาอิสลามในกลุ่มประเทศอาเซียน

ผศ.ดร.พีรยศ ราฮิมมูลา อดีตนักวิชาการมอ.ปัตตานีกล่าวว่าภาคใต้ตอนล่างเป็นดินแดนที่อยู่ติดทะเลและเคยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามากมาย มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนทางการค้า ศาสนา และวัฒนธรรม มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 18 ประมาณ 500 ปีเศษ มีวิวัฒนาการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเห็นได้จากโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ชาวมุสลิมในดินแดนแถบนี้ มีความภาคภูมิใจกับนครรัฐมุสลิมปัตตานี 3 ประการ[1] หนึ่งในสามคือ ความภูมิใจในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มี 2 สถาบันการศึกษาที่เรียกว่า “ปอเนาะ” และสถาบัน “อูลามาอฺ,” (ผู้รู้หรือนักปราชญ์) ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของโลกมลายูและโลกอาหรับจนถึงทุกวันนี้ มีอูลามะฮ, ปัตตานีที่มีคุณภาพมีความสามารถเชี่ยวชาญ เช่น เช็ค ดาวุด บิน อับดุลเลาะบินอิดริส อัล – ฟาฎอนี (Sheikh Davd bin Abdullah bin Idris al-Fatani) และเช็ค อะหมัด บิน มูฮำมัด เซน บินมุสตอฟา อัล – ฟาฎอนี (Sheikh Ahmad bin Muhammad Zain bin Musfafa al Fatani) ฯลฯ ซึ่งผลงานของท่านเหล่านี้เรียกว่า ” กีตับยาวี ” (Kitab Jawi) เป็นตำราที่ใช้กันแพร่หลายในสถาบันปอเนาะต่างๆ หรือมัสยิดและสุเหร่าในสังคมมุสลิมแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

ประะวัติโดยสังเขปของชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์
ชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์ มีชื่อเต็มว่า หะยีวันดาวุด บินวันอับดุลลอฮฺ บินวันอิดริส อัลยาวีย์ อัลฟะฏอนีย์อัลมลายูวีย์ เกิดวันที่ 1 มุฮัรรอม ปีฮ.ศ. 1184 ซึ่งตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม คศ.1769 หรือพ.ศ.2312 ณ บ้านปาเร็ต คลองกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

มีบิดาชื่อวันอับดุลลอฮฺ บินวันอิดริส มารดาชื่อวันฟาฏิมะฮฺ

ท่านสิ้นชีพวันที่ 22 เดือนรอญับ ปีฮ.ศฺ1263 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1847 หรือพ.ศ.2390 รวมอายุ 78 ปี

การศึกษา
แรกเริ่ม ท่านศึกษาหาความรู้ด้านอิสลามศึกษากับพ่อและลุงของท่าน คือ ชัยคฺศอฟียุดดีนเป็นเวลา 5 ปีที่ปัตตานี หลังจากนั้น เมื่อท่านอายุ 16 ปี ท่านเดินทางไปศึกษาต่อ ณ อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นเมื่อท่านอายุครบ 18 ปี ท่านเดินทางไปศึกษาต่อ ณ เมืองมักกะฮฺ เป็นเวลา 30 ปี และเดินทางไปศึกษาต่ออีก 5 ปี ณ เมืองมะดีนะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

บทบาทด้านวิชาการและสังคม
ในขณะที่ท่านอยู่มักกะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย 30 ปี ระหว่างเรียนหนังสือท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่าน สอนหนังสือในมัสยิดอัลหะรอม รวมทั้งแต่งและแปลตำราต่างๆ มากมายเกือบ 100 เล่ม มีทั้งภาษามลายู อักษรยาวี และอาหรับ ตำราที่ได้รับการยอมรับและยังเป็นตำราที่สอนอยู่ในสถาบันปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศอาเซี่ยนเช่น

1. หนังสือKifayatulmuhtaj
2. Idhahullubab
3. Ghayatultaghrib
4. Nahjulraghib
5. Bulughulmuram
6. Ghayatulmuram
7. Addaruthamin
8. Khasfulghimmah
9. Jamulfawaid
10. Kanzulminan
11. Minhajabidin
12. Maniyatulmusoli
13. Hidayatulmutaallim
14. Agdatuljawahir
15. Wardulzawahir
16. Fathulminan
17. Muzakaratulikhwan
18. Jawahirussuniah
19. Sulamubtadi
20. Furuulmasail
21. Albahjatulussuniah
22. Albahjatulwardiah
23. Albahjatulmardhiah
24. Bughyatuttullab
25. Dhiyatulmurid
26. Asoid wazabaih
27. Irshadulathfal
28. Ishrunnusifatillahiah
29. Siratunnabi Yusuf
30. Hikaturrijalassolihin min Baniisrail
31. Bashairrilikhwan
32. Bab Nikah
33. Risalatussail
34. Jihayatuttuktub
35. Alkurbat ilallah
36. Risalah tataalak Bikalimatuliman
37. Bidayatulhidayah
38. Tambihulghafilin
39. Bayanulahkam
40. Tuhfaturaghibin

การสอนหนังสือของท่านก็จะมีนักเรียนนักศึกษาจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา นักศึกษาเหล่านั้นส่วนหนึ่งกลับประเทศของตนได้มาเปิดสถาบันการศึกษา เป็นผู้นำชุมชน และใช้ความรู้ความสามารถอบรม สั่งสอนชุมชนของตนต่อๆกันมาจวบจนปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่ท่านมีผลงานทางวิชาการเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นคนที่มีภาวะผู้นำสูง ในช่วงทำพิธีฮัจญ์ท่านยังอุทิศเวลาของท่าน บริการ ดูแลผู้ที่ไปทำฮัจญ์จากประเทศไทยและอาเซียน
นี่คือประวัติและบทบาทของท่านโดยสังเขป ซึ่งสอดคล้องกับวจนะของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ที่ได้กล่าวถึงความประเสริฐของบรรดาอุลามะอฺ ว่าเปรียบเสมือนผู้รับมรดกของบรรดานบี (ศาสดาทั้งหลาย) หรือได้กล่าวเปรียบเทียบฐานะภาพของอุลามะอฺที่สูงส่งกว่า นักพรต นักบำเพ็ญตน ปลีกวิเวก อุปมาดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญที่ทอแสงเจิดจ้าโดดเด่นกว่าดวงดาวทั้งหลาย
และสอดคล้องกับคำกล่าวของ คอลีฟะห์ (คาหลิบ) ท่านที่ ๔ แห่งอิสลามคือ ท่านอาลี บินอบีฎอลิบ (รอฏิยัลลอฮุอันฮฺ) ได้ถูกตั้งคำถามจากสหายคนหนึ่งว่า”ใครคือผู้ที่ดีที่สุดในงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าภายหลังท่านศาสดา” ท่านอาลีได้ตอบว่า “นักปราชญ์ หรือผู้รู้ทางศาสนาเมื่อเขาเที่ยงธรรม”

วันนี้สังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้หรือที่รู้จักในโลกมลายูอาเซี่ยนว่าปตานีเป็นหนี้บุญคุณท่าน
ดังนั้นมุสลิมรุ่นหลังควรศึกษาชีวประวัติของชัยคฺดาวุด (ถึงแม้หลายคนอาจจะไม่รู้)น่าจะทำให้มุสลิมใต้รู้สึกปลาบปลื้มปิติยินดีและภูมิใจในตัวท่านที่เป็นคนชายแดนใต้ การรำลึกถึงการมาของปราชญ์ของอาเซียนที่มาพร้อมกับรูปแบบการนำเสนอหลักธรรม คำสอน และแบบฉบับอันดีงามในการดำเนินชีวิตตามพระบัญชาของอัลลอฮเจ้า มาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตของมุสลิมใต้และอาเซียนเป็นสิ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง

ที่สำคัญ สำหรับนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ควรนำชีวประวัติและผลงานของท่านโดยเฉพาะตำราเก่าๆของท่านซึ่งจะเกิดคุณูประการต่อชนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต
หนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้บ้านเราเช่นอาจารย์อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์ ประธานศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PUSTA) หรือนักวิจัยรุ่นใหม่อย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น่าจะเป็นแบบอย่างนักวิจัยที่สะท้อนเรื่องนี้และบรรดาปราชญ์อิสลามศึกษาบ้านเราในอดีต(เช่นชัยคฺวันอะหมัด อัล-ฟะฎอนีย์ )ได้เป็นอย่างดี

��.

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก

1. อูลามาอ์เบอร์ซาร์ปัตตานี เขียนโดย อะห์หมัด ฟัตฮี
2. เอกสารการสัมมนาเรื่องแนวคิดและอิทธิพลของชัยคฺดาวุด อัลฟะฏอนีย์ ในอาเซียน จัดโดยมหาวิทยาลัย มอ. ปัตตานี 2/06/2541
3. ผู้นำศาสนาหรือโต๊ะครูชายแดนใต้ เขียนโดย จอกอ. เนชั่นสุดสัปดาห์
4. พีรยศ ราฮิมมูลา. 2545. “บทบาทสถาบันอุลามาอฺและการศึกษาอิสลามปัตตานีในอดีตตั้งแต่ ค.ศ. 1785-1945 “. ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (สำเนา)

5. ชีวประวัติท่านดูใน
http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/7270/6/Chapter2.pdf
6.โชคชัย วงษ์ตานี .ปาตานีศึกษา : ศึกษาผ่านแนวคิดและงานเขียน กีตาบ/ตำราของ เชค วัน อะฮะหมัด อัล ฟาตอนี (พ.ศ. 2399-2451)

7. อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์.บทบาทด้านการศึกษาและการเมืองของชัยคฺวันอะหมัด อัล-ฟะฎอนีย์ (พ.ศ. 2399-2451) .http://kb.psu.ac.th/psukb/browse?type=author&value=%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A5%2C+%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%8D%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C
8.ลิ้งกีตาบยาวี(หนังสือศาสนาภาษามลายูอักษรยาวี)ที่ใช้ศึกษาในสถาบันปอเนาะ
https://www.facebook.com/140079249511511/posts/846020395584056?sfns=mo

 4,507 total views,  4 views today

You may have missed